จ่ายค่าไฟแพงเกินจริง 8 ปี แฉต้นทุนแฝงสำรองล้นหมื่นเมกะวัตต์

ตะลึงสำรองไฟฟ้าพุ่ง 10,000 เมกะวัตต์ ชำแหละแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP ผิดพลาด โหมสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เกินจำเป็น กกพ.สั่งโรงไฟฟ้า “กฟผ.- กัลฟ์-ไตรเอนเนอร์ยี่-บ่อวิน” หยุดเดินเครื่องแล้ว 10% นักวิชาการจี้รัฐเร่งเคลียร์ต้นทุนแฝง “ค่าไฟฟ้าพร้อมจ่าย” แนะปรับฐานค่าไฟลดลง อย่าให้ชาวบ้าน-ภาคธุรกิจแบกภาระค่าไฟเกินจริง

 

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ารายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ (Reserve Margin) อยู่ในระดับสูงมากกว่าร้อยละ 30 ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องบริหารจัดการให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสอดคล้องกับปริมาณการผลิตไฟฟ้า ด้วยการสั่ง “หยุดเดินเครื่อง” โรงไฟฟ้าทั้งของรัฐ-เอกชนบางส่วน รวมถึงโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP)

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีโรงไฟฟ้า IPP ที่ถูกสั่งหยุดเดินเครื่องบางส่วนไปแล้ว ได้แก่ โรงไฟฟ้าหนองแซง จังหวัดสระบุรี กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ (MW), โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ บริษัทโกรว์ กรุ๊ป จำกัด กำลังผลิต 700 MW จังหวัดระยอง, โรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี่ กำลังผลิต 700 MW และโรงไฟฟ้าบ่อวิน คลีน เอนเนอจี คิดเป็นร้อยละ 10 ของกำลังผลิตติดตั้งรวม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการสั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อลดกำลังผลิตลงแล้วก็ตาม แต่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพยากรณ์กำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศ “ผิดพลาด” เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ขยายตัวตามที่คาดการณ์เอาไว้ ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากระบบลดลงอย่างมาก ประกอบกับการขยายตัวของพลังงานทดแทนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเป็นไปอย่าง “สับสน” จนทำให้มีการใช้ไฟฟ้าจากระบบลดลง รวมไปจนถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านสปป.ลาว มีการรับซื้อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าหงสา กำลังผลิตถึง 1,878 MW

ผงะไฟล้น 10,000 MW

นายศุภกิจ นันทวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ได้สะท้อนภาพการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP (Power Development Plan) ที่ “ผิดพลาด” ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องกลับไม่มีการแก้ปัญหาและปล่อยให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จากตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ร้อยละ 30 คิดเป็นกำลังผลิตที่สูงถึง 10,000 MW ในขณะที่ค่ามาตรฐานกำหนดปริมาณสำรองไว้ที่ร้อยละ 15 หรือประมาณ 3,500 MW เท่านั้น และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคแล้วพบว่าภาคตะวันออกมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ “มากกว่า” ความต้องการใช้ถึงร้อยละ 400 หรือประมาณ 12,000-13,000 MW ขณะที่มีความต้องการใช้เพียง 3,000-4,000 MW เท่านั้น ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือก่อนหน้านี้มีกำลังผลิตมากกว่าความต้องการใช้มาอย่างต่อเนื่อง เพิ่งมีความต้องการใช้และกำลังผลิตในพื้นที่เริ่มเข้าสู่จุดสมดุลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ส่วนการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้น้อยกว่าความต้องการใช้จริง)

ดังนั้นกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “จำเป็น” ต้องชี้แจงให้ชัดเจนและนำไปปรับแก้ไขด้วยการ

1) การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งส่วนของ กฟผ.และโรงไฟฟ้า IPP เป็นอย่างไร เพราะเมื่อพิจารณาจากวิธีการบริหารจัดการโดยใช้วิธีสั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแล้ว ในทางปฏิบัติ กฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าจะต้องจ่ายส่วนที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” หรือค่า AP (Availability Payment) ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP “อธิบายง่าย ๆว่า สั่งหรือไม่สั่งเดินเครื่อง กฟผ.ก็ต้องจ่าย” จึงควรมีการเปิดเผยข้อมูลว่า อัตราจ่ายค่า AP ที่แท้จริงเป็นอย่างไรด้วยเพราะถือเป็นต้นทุนแฝงอย่างหนึ่งในค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟ

2) ในเมื่อการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งได้ถูกคำนวณรวมไว้ใน “ค่าไฟฟ้าฐาน” ทั้งหมดแล้ว ในเมื่อไม่ได้มีการใช้กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าเต็มศักยภาพที่มีอยู่จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาครัฐจะ “ปรับลด” ค่าไฟฟ้าฐานลดลงจากปัจจุบันที่เก็บจากผู้ใช้อยู่ที่ 3.75 บาท/หน่วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ค่าไฟฟ้าฐานเรียกเก็บ 3.75 บาท กับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) ที่คำนวณตามความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง รวมปัจจุบันค่าไฟฟ้าเก็บอยู่ประมาณ 4 บาทกว่า หากตัดลดต้นทุนจากโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้สั่งให้เดินเครื่องลงไปได้บ้าง น่าจะทำให้ค่าไฟฐานลดลงจากที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน

3) ควรปรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ควรเพิ่มรายละเอียดในกรณีที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามคาดและความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ให้รัฐสามารถ “ขยับเลื่อน” ระยะเวลาการผลิตเข้าระบบได้หรือไม่

และ 4) ขอให้ภาครัฐหยุดแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และให้ใช้วิธีพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมในพื้นที่มีปัญหาไฟฟ้าขาด เช่น ภาคใต้

“ต้องยอมรับว่า ตามแผน PDP ฉบับนี้ ทำให้ภาพรวมไฟฟ้าของประเทศไทยมัน Over Investment มาก ๆ แล้วประชาชนทั้งประเทศก็ร่วมกันแบกค่าไฟฟ้าที่มันสูงเกินจริง ฉะนั้นตอนนี้ภาพของปัญหามันชัดแล้ว ภาครัฐก็ต้องแก้ไขสักที พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาและหวังว่า แผน PDP ฉบับใหม่ที่อยู่ในระหว่างแก้ไขจะสามารถแก้ปัญหาภาพรวมไฟฟ้าของประเทศได้”นายศุภกิจกล่าว

กพพ.รับไฟฟ้าล้นอีก 8 ปี

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 38-39 เนื่องจาก 1) ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้นตามที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในส่วนที่เรียกว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) นั้น “ไม่ได้เกิดขึ้นมา 2 ปีแล้ว” และยังทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลงถึง 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

2) การขยายตัวของพลังงานทดแทนเช่น โซลาร์รูฟท็อป และ 3) การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีโครงการใหม่เริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าในระบบของประเทศมี “มากกว่าความต้องการใช้” ส่วนวิธีการบริหารจัดการในขณะนี้ก็คือ การสั่งหยุดเดินเครื่องหรือเดินครื่องผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 50 ของกำลังผลิตติดตั้งรวมในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) อย่างเช่น โรงไฟฟ้าอุทัยของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ซึ่งรวมกำลังผลิตที่ถูกสั่งหยุดเดินเครื่องไม่ถึงร้อยละ 10 ของกำลังผลิตรวม

นอกเหนือจากการสั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้า IPP แล้วนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปก็คือ ต้องปรับลดกำลังผลิตไฟฟ้าในส่วนของ กฟผ.ลงด้วย จากปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตคิดเป็นร้อยละ 40 ของกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด แต่มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจริงอยู่ที่ร้อยละ 27 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้า IPP ที่ต้องหยุดเดินเครื่องนั้น ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระบุไว้ชัดเจนว่า คู่สัญญา (กฟผ.) จะต้องจ่ายในส่วนที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่ายอยู่ที่ราว 1 บาทกว่า/หน่วย ซึ่งในแต่ละปีมีการจ่ายในส่วนนี้ไม่มากนัก

“ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงมากกว่า 30% จะถูกลากยาวไปจนถึงปี 2569 จากนั้นจะเริ่มทยอยลดระดับเหลือที่ค่าสำรองไฟฟ้ามาตรฐาน 15% ในช่วงท้ายแผน PDP โดยเฉพาะในปี 2566 เป็นต้นไป จะมีกำลังผลิตใหม่ของโรงไฟฟ้า IPP เข้าระบบอีก 5,000 MW ซึ่งหากมีการขยายตัวของพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นมาอีกก็จะส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าในประเทศเหลือในระบบมากขึ้นอีก” นายวีระพลกล่าว

สร้างสมดุลผู้ผลิต-ผู้ใช้ไฟฟ้า

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า รัฐบาลควรวางนโยบายบริหารจัดการด้านพลังงานโดยให้เกิดความสมดุลกับทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะต้องพิจารณาจากปัจจัยทุกด้าน ไม่ใช่เพียงเฉพาะต้นทุนทางตรงคือ ค่าไฟ ไม่ใช่จะต้องถูกที่สุด แต่ต้องอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย และต้นทุนทางอ้อม ทั้งต้นทุนทางสังคม ต้นทุนสิ่งแวดล้อม การลดภาวะก๊าซเรือนกระจก และความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อกำหนดแนวทางในการวางแผนด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


“รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักและให้ความสมดุลกับสองฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่หมายถึง ราคาถูกสุด แต่ทุกฝ่ายต้องอยู่ได้เพราะหากไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน ไทยต้องนำเข้าไฟจากต่างประเทศ หากเกิดปัญหาไฟฟ้าตกดับอย่างกรณีโรงไฟฟ้าหงสาที่เพิ่งดับไป 40-45 นาที ก็อาจเกิดความโกลาหลในภาคส่วนต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งการปรับนโยบายเรื่องพลังงานทดแทนที่รัฐบาลมีแนวคิดจะลดปริมาณการผลิตไฟในส่วนนี้เพราะมีต้นทุนสูง ก็ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลังงานทดแทนหลายร้อยโรงงานได้รับผลกระทบและไทยก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีปารีสคอนเวนชั่นในการลดปัญหาโลกร้อนและเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้ได้ตามเป้าหมาย 20-25% ของปริมาณความต้องการใช้ไฟในประเทศ” นายเกรียงไกรกล่าว