“ซีพี” ทุ่ม 5,600 ล้าน ผุดนิคมฯจีน “CPGC” 3,068 ไร่ ระยอง รองรับอุตสาหกรรม S-curve

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น บริษัทลูกซีพี จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ระยอง บนพื้นที่ประมาณ 3,068 ไร่ ด้วยเม็ดเงินลงทุนประมาณ 5,600 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยานยนต์ ดิจิทัล แปรรูปเกษตร พลาสติกชีวภาพ การแพทย์ สาธารณูปโภค และกลุ่มนักลงทุนที่สื่อสารโดยใช้ภาษาจีนเป็นหลัก มั่นใจ 6 ปีขายหมด

นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สายงานยุทธศาสตร์และพัฒนา) เปิดเผยว่า เพื่อให้อุตสาหกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขยายตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ล่าสุด กนอ.จึงได้ร่วมกับบริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่นจำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซีใน จ.ระยอง เพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบาย EEC

โดยเลือกพื้นที่ในตำบลมาบข่า และตำบลมาบข่าพัฒนาในอำเภอนิคมพัฒนา และตำบลหนองระลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รวมเนื้อที่ประมาณ 3,068 ไร่ ใช้รูปแบบการร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 5,600 ล้านบาท
สำหรับทำเลที่ตั้งและลักษณะพื้นที่โครงการแบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมทั่วไป 2,205 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 112 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 443 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 307 ไร่ สามารถเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมต่อกับนิคมฯ ในกลุ่มพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ อาทิ นิคมฯ Smart Park นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นต้น

ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในพื้นที่เช่น ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน ฯลฯ ซึ่งจะเอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรมและการขนส่งสินค้าในระบบต่างๆได้เป็นอย่างดี

“โครงการน่าจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูงเนื่องจากอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ได้รับความสนใจ อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมของ EEC ประกอบกับบริษัทมีฐานลูกค้าผู้ประกอบการที่สื่อสารด้วยภาษาจีนในปริมาณสูง จึงคาดว่าโครงการดังกล่าวจะขาย /ให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบอุตสาหกรรมได้หมดภายในระยะเวลา 6 ปี พร้อมก่อให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท และการจ้างงานไม่น้อยกว่า 20,000 อัตรา”

โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี สามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก

ที่เน้นรองรับนักลงทุนที่สื่อสารด้วยภาษาจีน เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน โครงการนี้ยังใช้แนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ

นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซี จี คอร์เปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ กับศักยภาพด้านการตลาดทำเลที่ตั้ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญเอื้อต่อการลงทุนพร้อมรองรับนักลงทุนทั้งไทยและชาวต่างชาติ เราจึงมุ่งมั่นตั้งใจในการก้าวไปสู่การเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี ยังมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่สื่อสารโดยใช้ภาษาจีน