“สมคิด” ยกจีนแกนนำฝ่าสงครามการค้าเสรี โชว์นักธุรกิจทั่วโลก เศรษฐกิจไทยแข็ง 3 เด้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงาน Hongqiao International Economic and Trade Forum: Session on Trade and Investment ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน China International Import Expo (CIIE)2018 ที่ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5 พย. 61 ว่าการจัดงานของจีนในครั้งนี้มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสที่ผู้แทนภาคเอกชนรายใหญ่ นักลงทุนระหว่างประเทศและผู้กําหนดนโยบายทั้งของจีนและต่างประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางการค้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้วยังมีความสําคัญในอีก 2 นัย คือ ความสําคัญเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Importance) และความสําคัญทางยุทธศาสตร์(StrategicImportance)

นายสมคิด เชื่อว่า ภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลกทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ทําให้เราต้องเผชิญกับสภาวะแห่งความไม่แน่นอน (uncertainties) อาจนําไปสู่วิกฤตศรัทธา (faith crisis) ซึ่งอาจกระทบการลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม จีนมีบทบาทและมีความพยายามที่จะสร้างความสมดุลในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกกําลังเผชิญความท้าทาย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีหลังนับตั้งแต่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประกาศยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (one belt one road) ซึ่งปัจจุบันก้าวไปอย่างมากและน่าชื่นชม

“ขณะที่โลกกําลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จีนเข้ามามีบทบาทในเชิงประจักษ์ในการส่งเสริมระบบการค้าที่เสรี (Free) และเสมอภาค (Fair) ภายใต้ระบบทุนนิยมและการเจรจาการค้าพหุภาคีที่ครอบคลุม(Inclusive) และเท่าเทียม (Equitable) เพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศเกิดความมั่นใจและฟื้นฟูศรัทธาของระบบการค้า จนสามารถกก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจ และเป็นหัวจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในหลายด้าน ประเทศไทยขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนบทบาทของจีน ในฐานะมิตรแท้และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในทุกมิติ” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวต่อว่าในภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ตนเสนอให้จีนใช้การพัฒนาความเชื่อมโยง (Connectivity) ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการดําเนินนโยบายต่างประเทศเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภูมิภาค ไทยเองได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาค และภูมิภาคมาโดยตลอด โดยไทยจะอาศัยจุดแข็ง ในด้านทําเลที่ ตั้งที่ อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สําคัญ อยู่ใจกลางของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวเชื่อม(Connector) ระหว่างระเบียงเศรษฐกิจเหนือ – ใต้ และตะวันออก – ตะวันตก และเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งเป็นสามภูมิภาคที่สร้างพลวัตให้กับเศรษฐกิจโลก

ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ไทยจะรับตําแหน่งประธานอาเซียนซึ่งแน่นอนว่าไทยจะผลักดันการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป ทั้งภายใต้อาเซียน และผ่านกรอบความร่วมมือที่ไทยมีบทบาทร่วมนอกจากนี้ตนเชื่อว่า หากเราสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี ต่อไปยังเขตสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (PPRD) ที่เปรียบเสมือนท้องมังกร และเขตอ่าวกวางตุ้ง -ฮ่องกง – มาเก๊ า (GBA) ที่เป็นดังหัวมังกร เชื่อมเข้ากับไทย โดยเฉพาะ EEC ต่อไปยัง ACMECS ได้ ก็จะทําให้จีนและอาเซียนสามารถประสานพลังกันได้ และจะก่อเกิดศูนย์กลางที่ผลักดันความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไปได้อย่างแน่นอน

“ไทยพร้อมจะสนับสนุนบทบาทของจีน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาคมเศรษฐกิจโลก ขณะนี้ไทยเองก็อยู่ระหว่างการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเรา ด้วยการดําเนินนโยบายภายใต้ Thailand 4.0 และการเดินหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจรูปแบบใหม่หรือยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี “

นายสมคิดระบุว่า เวลานี้สภาวะเศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาไปในทิศทางบวก และมีแนวโน้มดีขึ้นตามลําดับ สะท้อนได้จากพัฒนาการ 3 ด้านได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยได้ก้าวข้ามจากสภาพถดถอยเข้าสู่สภาพที่ฟื้นตัวได้ เป็นอย่างดี การเติบโตทางเศรษฐกิจไต่ระดับตั้งแต่ 0.9% เมื่อปี 2014 ขึ้นสู่ 4.8 % ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้และคาดว่า การเติบโตของทั้งปี 2018 น่าจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในขณะที่ดัชนีทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น”

ประเด็นที่ 2.รัฐบาลไทยกําลังดําเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างดําเนินการจํานวนมาก นอกจากนี้ ไทยยังเร่งขับเคลื่อนการลงทุนด้านดิจิทัลและสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ มาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้ง Internet Broadband เคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมกับฮ่องกงและจีนBig Data AI และ e-Commerce ไปจนถึงการพัฒนา e-Government เหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับกระแสโลกในเวลานี้ ซึ่งไทยตระหนักดีและไม่เพียงแต่ต้องการจะพัฒนาตัวเองเท่านั้น ยังต้องการร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย ที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติรายใหญ่หลายราย รวมถึงของจีน ต่างตัดสินใจเลือกไปลงทุนในกิจการสมัยใหม่เหล่านี้ที่ไทย เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเดินหน้าร่วมไปกับไทย และใช้ความเข้มแข็งของฐานธุรกิจในไทยขยายขอบเขตไปถึงระดับภูมิภาค

ประการที่ 3. การลงทุนและการส่งออก ต้องกล่าวเลยว่า ประเทศไทยได้รับความสนใจจากเอกชนทั่วโลกอย่างกว้างขวาง คําขอรับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในช่วง 2 ปีมานี้ และคาดว่าปีนี้ จะมีมูลค่าสูงถึง 21,000 ล้านดอลาร์ ด้านการส่งออก ก็เติบโตกว่าร้อยละ 9 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป้นผลมาจากนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการสําคัญที่กําลังนําพาประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 คือ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งเป็นโครงการสําคัญที่กําลังรุดหน้าไปอย่างน่าพอใจ

สำหรับใน EEC จะมี การลงทุนสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เดินหน้าส่งเสริมการลงทุนใน EEC อย่างเต็มที่ทั้งในด้านกฎหมายรองรับและการอํานวยความสะดวกด้านการลงทุนอย่างครบวงจร รวมถึงมอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทําให้การลงทุนจากต่างประเทศใน EEC เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้มีนักลงทุนต่างชาติยื่นคําขอรับสิทธิประโยชน์การลงทุนแล้ว 822 โครงการ มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านดอลลาร์และไทยยินดีตอนรับนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันสร้างโอกาสและประโยชน์จากเขต EEC ต่อไป