จีนจ่อตรวจเข้ม”ทุเรียนไทย” หวั่นกระทบส่งออก2หมื่นล้าน

แฟ้มภาพประกอบ (ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว)
หวั่นตลาดส่งออกทุเรียน 2 หมื่นล้านป่วน จีนตรวจเข้มดีเดย์ต้นฤดูผลิตเดือน มี.ค.นี้ หลังตรวจพบสารตกค้าง-แมลงปี”61 กว่า 1,700 ครั้ง อธิบดีกรมวิชาการเกษตรนั่งไม่ติดสั่งติวเข้มเกษตรกร-โรงคัดบรรจุ ต้องผ่านมาตรฐาน GAP และ GMP ชี้แหล่งผลิตใหญ่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก 2.8 แสนไร่ ผ่านเกณฑ์จิ๊บจ๊อย
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ประชุมติดตามมาตรการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ฤดูกาลผลิต 2562 และการออกใบรับรองมาตรฐาน GAP (good agricultural practice-GAP) และ GMP (good manufacturing practices-GMP) ณ ห้องประชุมสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) จ.จันทบุรี โดยมีผู้บริหารหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด และสมาคมส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม

จีนเตือนถี่ยิบ 1.7 พันครั้ง

ดร.เสริมสุขกล่าวในที่ประชุมว่า ทุเรียนไทยส่งออกสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นคู่ค้าหลัก 80-90% ที่ผ่านมามีการทำพิธีสารการส่งออกผลไม้สดไปยังจีนระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องของไทยและจีน โดยกำหนดมาตรฐานผลไม้สดไทย 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง และผลไม้สดของจีน 5 ชนิด คือ แอปเปิล สาลี่ ส้ม พุทรา องุ่น โดยสวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อส่งออกต้องขึ้นทะเบียนและได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และโรงคัดบรรจุต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) แต่ที่ผ่านมาทำกันไม่เข้มข้น ปี 2561 ทางการจีนตรวจพบแมลงศัตรูพืชในทุเรียน (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเมล็ด) และปริมาณยาต่าง ๆ เกินมาตรฐาน จึงมีคำเตือนมาเป็นระยะ ๆ 1,700 ครั้ง

สั่งคุมเข้มส่งออกทุเรียน

ปลายเดือนธันวาคม 2561 จีนระบุให้การส่งออกทุเรียนจากไทยต่อไปต้องระบุเลขที่ GMP ของโรงคัดบรรจุในใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) และต้องระบุว่ามาจากสวนไหน หากพบแมลงอีกจะระงับการสั่งซื้อ ซึ่งจะกระทบโรงแพ็กกิ้ง โรงคัดบรรจุรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นลูกโซ่ เพราะโรงคัดบรรจุจะต้องระบุสวนที่รับซื้อและต้องได้ใบรับรอง GAP เพื่อคัดคุณภาพ ซึ่งฝ่ายไทยได้เจรจากับจีน และยืนยันจะตรวจสอบคุณภาพทุเรียนอย่างเข้มข้น ไม่ให้มีปัญหาโรคและแมลงเกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงต้องเร่งให้เกษตรกรทำระบบการจัดการคุณภาพ GAP มาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุต้องได้มาตรฐาน GMP ตั้งแต่ฤดูกาลปี 2562 ก่อนผลผลิตจะออกเดือนมีนาคมนี้

ตั้งเป้าได้มาตรฐานGAP 100%

“ที่ผ่านมาเกษตรกร และโรงคัดบรรจุจำนวนมาก ไม่เห็นความสำคัญของมาตรฐาน GAP และ GMP ส่วนภาครัฐก็มีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ทันฤดูกาลผลผลิตทุเรียน ปี 2562 ต้องมีแผนเร่งด่วน ให้เกษตรกร 3 จังหวัด คือ ระยอง-จันทบุรี-ตราด จับมือกับกรมวิชาการเกษตร เป้าหมายแรกเกษตรแปลงใหญ่ 100% ต้องมี GAP จากนั้นจะขยายสู่เกษตรกรรายย่อย ส่วนโรงคัดบรรจุที่มีความพร้อมจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ QC (quality control) เพื่อควบคุมคุณภาพ และให้โรงคัดที่มีความพร้อมประเมินรับรองตัวเอง ส่วนมาตรฐานอื่น ๆ เช่น Thai GAP ให้ขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกันทั้ง 3 จังหวัดต้องมีข้อมูลเชิงลึกพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 240,000 ไร่ ที่ต้องขอใบรับรอง GAP จริง ๆ เป้าหมายเบื้องต้น 50-60% หรือ 96,000-115,200 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้ใบรับรอง GAP และเตรียมขอตรวจรับเพิ่ม 40,000 ไร่เท่านั้น” ดร.เสริมสุขกล่าว

หวั่นกระทบส่งออก 2 หมื่น ล.

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 จีนจะเข้มงวดในการส่งออกทุเรียนมากขึ้น โดยจีนได้แจ้งกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำมาตรการข้อบังคับของจีนที่เข้มงวดมาใช้ แทนข้อตกลงที่ไทยกับจีนเคยตกลงกันไว้ แต่ฝ่ายไทยเจรจาต่อรองขอให้จีนผ่อนผันการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ก่อน และให้ยึดตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ต่อไป ที่ผ่านมายอมรับว่าการกรอกใบรับรองสุขอนามัยพืช ผู้ส่งออกหลายรายใช้วิธี “สวมสิทธิ์” ของสวนที่ได้มาตรฐาน GAP และ “สวมสิทธิ์” โรงคัดแยกที่ได้รับมาตรฐาน GMP มีปัญหาตรวจพบสารตกค้าง และแมลง ฝ่ายไทยจึงไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ปีนี้หากมีปัญหาอีกอาจกระทบการส่งออกทุเรียนที่มีมูลค่าปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

เร่งขึ้นทะเบียนคุมมาตรฐาน

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร (สวพ.6) กล่าวว่า พื้นที่ระยอง จันทบุรี ตราด ในปี 2562 มีแปลงทุเรียนทั้งหมด 281,945 ไร่ จดทะเบียน 42,476 ไร่ ผ่านการรับรองและยังไม่หมดอายุ 30,180.15 ไร่ อยู่ระหว่างการตรวจ 12,296 ไร่ ประมาณ 15% ของทั้งหมดเท่านั้นถือว่าน้อยมาก ยังไม่มีใบรับรองมาตรฐาน GAP ประมาณ 240,000 ไร่ ส่วนล้งหรือโรงคัดบรรจุทุเรียนคาดว่าปี 2562 มี 400 แห่ง  ปี 2561 ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP จำนวน 147 แห่ง หรือ 30% แยกเป็นโรงคัดบรรจุทุเรียนเพียง 97 แห่ง ปี 2562 ขอใหม่ 42 ราย เป็นโรงคัดทุเรียน 30 ราย ซึ่ง สวพ.6 ได้เตรียมขึ้นทะเบียน จัดทำฐานข้อมูลให้ได้มาตรฐานให้ทันฤดูกาลนี้

ผลผลิต 3 จว. 4.8 แสนตัน

ด้านภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมมีสมาชิกโรงคัดบรรจุ 200 โรง จะเร่งให้ทำ GMP ทั้งหมด และโรงคัดบรรจุของสมาคมจะรับซื้อทุเรียนจากสวนที่มี GAP หรือ Thai GAP ที่ขึ้นทะเบียน และสวนเกษตรกรขึ้นทะเบียนและผ่านการอบรมเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP เพื่อยกระดับมาตรฐานทุเรียนไทย ทำให้ทุเรียนส่งออกมีมาตรฐาน ปลอดภัย และแก้ปัญหาทุเรียนอ่อน โดยปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน รวมมูลค่า 20,000 ล้านบาท

ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียน ปี 2562 ภาคตะวันออก 3 จังหวัดปริมาณจะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ 403,907 ตันเป็น 486,682 ตัน ในปี 2562 หรือ เพิ่มขึ้น 57% โดยผลผลิตจะออกมามากในเดือนเมษายน 37% เดือนพฤษภาคม 31%

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!