“บิ๊กตู่” กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 หมื่นล้าน “หนี้ครัวเรือน” พุ่งแซงจีดีพี

“บิ๊กตู่” อัดกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.3 หมื่นล้าน ปลุกกำลังซื้อคนระดับฐานราก เติมเงินบัตรคนจน เกษตรกร ลดหย่อนภาษี ท่องเที่ยว คนซื้อบ้านหลังแรก ด้านแบงก์ชาติเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกหืดจับ โตต่ำสุดในรอบปี หวั่น 4 ไตรมาสขยายตัวไม่ถึง 3.8% ชี้หนี้ครัวเรือนกู้ซื้อบ้าน-รถ-รูดปรื๊ดพุ่งเร็วเกินคาดแซงหน้าจีดีพี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 ด้วยสถานการณ์ไตรมาส 1 ปีนี้ พบสัญญาณเริ่มแผ่วตัวลง จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบภาคการส่งออกสินค้าและภาคบริการ การใช้จ่ายภายในประเทศอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบกับอยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ อาจกระทบความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและประชาชน นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ของผู้มีรายได้น้อย เสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจ 2562 แบ่ง 2 กลุ่ม

เท 1.3 หมื่น ล.อุ้มผู้มีรายได้น้อย

กลุ่มแรก เรื่องการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบ่งเป็น 4 มาตรการย่อย 1.เพิ่มเบี้ยคนพิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้พิการ 200 บาทต่อคนต่อเดือน 5 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ย. กลุ่มเป้าหมาย
มีคนพิการจำนวน 1,160,000 คน ใช้งบประมาณ 1,160 ล้านบาท

2.บรรเทาภาระค่าครองชีพให้เกษตรกร ใช้จ่ายซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ปัจจัยการผลิต 1,000 บาทต่อคน ใช้งบฯ 4,100 ล้านบาท มีเกษตรกร 4,100,000 คน 3.บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษา 500 บาทต่อบุตร 1 คน ให้สิทธิผ่านบิดาหรือมารดาที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีจำนวนบุตร 2,700,000 คน ใช้งบฯ 1,350 ล้านบาท 4.มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย เพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น 500 บาทต่อเดือนต่อคน 2 เดือน พ.ค.-มิ.ย. ใช้งบฯ 6,600 ล้านบาท 3 มาตรการแรก จ่ายเงินได้ภายใน 15 พ.ค. ส่วนมาตรการที่ 4 เบิกเงินตั้งแต่ 1 พ.ค. ใช้งบฯสำหรับมาตรการกลุ่มแรก 13,200 ล้านบาท

สูญภาษีพันล้านช่วยท่องเที่ยว

มาตรการกลุ่มที่ 2 คือ มาตรการทางภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจ 1.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทย ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าบริการที่จ่ายแก่ผู้ประกอบธุรกิจ
นำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลักตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท ในเมืองรองไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่ 30 เม.ย.-30 มิ.ย. 2562 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 1,000 ล้านบาท

2.มาตรการภาษีกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เริ่ม 1 พ.ค.-30 มิ.ย. 2562 โดยอุปกรณ์การศึกษา ไม่รวมคอมพิวเตอร์ แท็บเลต แต่รวมเครื่องแต่งกายการศึกษา เครื่องกีฬา และชุดกีฬา รัฐสูญเสียรายได้ 1,500 ล้านบาท

3.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย ลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อสินค้าโอท็อป ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน 15,000 บาท ตั้งแต่ 30 เม.ย.-30 มิ.ย. 2562 รัฐสูญเสียรายได้ 150 ล้านบาท

4.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน ลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อหนังสือ และค่าบริการหนังสือ e-Book ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. แต่เมื่อรวมกับมาตรการช็อปช่วยชาติ ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษี 2,550 ล้านบาท

บ้านหลังแรก ลดหย่อน 2 แสน

5.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้ออสังหาฯเป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดที่มูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่ 30 เม.ย.-31 ธ.ค. 2562 โดยต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี รัฐสูญเสียรายได้ภาษี 1,350 ล้านบาท

6.มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริงของรายจ่ายลงทุนเพื่อรองรับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ 30 เม.ย.-31 ธ.ค. 2562 สำหรับรายจ่ายลงทุนเครื่องบันทึกการเก็บเงิน point of sale, e-Tax
invoice & e-Receipt และ e-Withholding tax รัฐสูญเสียรายได้ 2,370 ล้านบาท แต่จะผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2562 ที่คลังประมาณการไว้ 3.9%

ศก.ไทยเหนื่อย Q1 โตต่ำสุด

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการหดตัวของการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มที่จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ เติบโตต่ำกว่า 3.4%ตามที่ ธปท.ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
และมีโอกาสที่จะโตต่ำกว่าไตรมาส 2 ปีนี้ด้วย ซึ่งปกติไตรมาสที่ 2 จะเป็นไตรมาสที่โตต่ำสุดของปี

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2 นี้ มีโอกาสที่จะขยายตัวไม่ได้ดีมาก คาดว่าภาคส่งออกยังคงติดลบ แต่จะลดลงกว่าไตรมาสแรก ภาคท่องเที่ยวจะเห็นเป็นบวกดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่น่าจะมีโมเมนตัมดี แต่ตัวการลงทุนยังคาดการณ์ได้ยาก

“ภาคส่งออกเติบโตในไตรมาสแรกออกมาผิดคาด ทำให้โอกาสที่ภาคส่งออกโต 3% ในปีนี้ยาก ต้องฝากไว้กับเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง การค้าระหว่างประเทศน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโตไม่ถึง 3.8% จะรอดูสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรก 21 พ.ค. 62”

ระวังหนี้ครัวเรือนเป็นระเบิดเวลา

ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า ระยะต่อไปหนี้ครัวเรือนอาจเติบโตเร็วกว่าจีดีพี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งหนี้รถยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อย่างไรก็ดี หนี้บ้านน่าจะมีแนวโน้มชะลอลงจากมาตรการของ ธปท.

“ตอนนี้เศรษฐกิจยังโตใกล้ ๆ 4% ทุกอย่างยังดูดี เราอาจชะล่าใจ แต่การชะล่าใจจะเป็นภัยเงียบ อาจเป็นระเบิดเวลาในอนาคต”

ชี้หนี้โตเร็วกว่า GDP

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องดูที่ไส้ใน จากงานวิจัย “พลวัตหนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big Data” ของเครดิตบูโร ช่วง 9 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 68.7 ล้านบัญชี ผู้กู้ 20.9 ล้านคน จาก 95 สถาบันการเงิน พบว่า ณ สิ้นปี 2561 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 78.6% ถือได้ว่าปริมาณหนี้ครัวเรือนไทยเริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้น คือ มีอัตราการขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนอีกครั้ง

โดยหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นในปี 2561 ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต และพีโลน และพบว่า หนี้เหล่านี้เป็นผู้กู้ใหม่ แค่ 1 ใน 5 ของทั้งหมด ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้กู้เดิม มีพฤติกรรมกู้หลายบัญช

คุมทั้งฝั่งซัพพลาย-ดีมานด์

ลักษณะผู้กู้ใหม่พบว่า ผู้กู้ที่เพิ่งเริ่มกู้พีโลน บ้าน และรถยนต์เป็นครั้งแรก มีอายุน้อยลง โดยสัดส่วนผู้กู้บ้านครั้งแรกที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี เพิ่มขึ้นจาก 40% เมื่อปี 2552 เป็นเกือบ 60% ในปี 2561 และสัดส่วนผู้กู้สินเชื่อรถยนต์ครั้งแรกที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีก็สูงขึ้น จาก 5% ในปี 2552 เป็นเกือบ 15% ในปี 2561 รวมถึงสัดส่วนผู้กู้สินเชื่อบ้านครั้งแรกที่มีหลายบัญชี ก็ขยายตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีมากกว่า 4 บัญชี ขยายตัวจาก 30% ในปี 2552 เป็นเกือบ 45% ในปี 2561 ขณะที่เมื่อดูคุณภาพของสินเชื่อใหม่พบว่า สินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้านมีแนวโน้มด้อยคุณภาพลงต่อเนื่อง

ดังนั้น การออกนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องมีทั้งนโยบายที่ควบคุมฝั่งผู้ให้กู้ (ซัพพลาย) หรือกำกับแบงก์ และมีนโยบายที่ดูแลฝั่งผู้กู้ หรือการส่งเสริมวินัยให้แก่ครัวเรือนด้วย

คลังหวังหนุนจีดีพีโตเพิ่ม 0.1%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.8% ต่อปี ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้ในเดือน ม.ค. ที่คาดว่าจะโตได้ 4% จากการส่งออกที่ชะลอตัวกว่าที่คาด ทำให้คาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวแค่ 3.4% จากเดิมคาดที่ 4.5%

“เราประเมินว่า ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ราว 3% ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ในช่วง 4.5-4.6% ซึ่งหลังจากตัวเลขไตรมาสแรกออกมา เราเห็นสัญญาณการชะลอตัว จึงได้เสนอมาตรการพยุงเศรษฐกิจออกมา โดยผลของมาตรการหากทำตามแพ็กเกจที่เสนอจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.1%”

จี้ดูแลภาคเกษตร-กระตุ้นลงทุน

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปีนี้ไว้ที่ 4% โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 3-4% ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ แต่เชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะไม่ว่าพรรคไหนเข้ามาก็จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

คลิกอ่าน >>> ไม่แจกพันห้า-จ่ายไม่อั้น 1.32 หมื่นล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ใส่บัตรคนจน 14.6 ล้านคน