ตั้งวอร์รูมกู้วิกฤตส่งออก เจาะ 5 ตลาดเป้าหมาย-เร่งค้าชายแดน

ภายหลังจากช่วงครึ่งปีแรกส่งออกไทยติดลบ 2.91% จากพิษสงครามการค้า และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าอย่างหนักในรอบ 6 ปี กลไกการทำงานรัฐ-เอกชน ที่เรียกว่า “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์” ตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้เริ่มประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยมีตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมติดตามประเมินสถานการณ์สงครามการค้าที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการส่งออกทั่วโลก รวมถึงการหาแนวทางแก้ไขผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายขยายตัว 3%

3 เดือนดัน 5 ตลาดเป้าหมาย

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมการวอร์รูม (War Room) โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เป็นฝ่ายเลขาฯ และตัวแทนภาคเอกชนจากรอ.พาณิชย์เข้าร่วม เพื่อทำหน้าที่ติดตามประเมินสถานการณ์และวางแนวทางเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงสินค้าเป้าหมายในแต่ละตลาดอย่างเร่งด่วนให้เห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมภายใน 3-6 เดือน

สำหรับตลาดมี 5 ตลาดหลัก คือ ตลาดกลุ่มอาเซียน และกลุ่ม CLMV จีน อินเดีย และตลาดตะวันออกกลาง เช่น ตลาดอิรัก ซึ่งที่เป็นตลาดสำคัญในการส่งออกข้าว รวมไปถึงกาตาร์ จอร์แดน คูเวต เป็นต้น

ปลดล็อกค้าชายแดน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเห็นชอบให้เร่งผลักดันการค้าชายแดน และได้ตั้งคณะทำงานซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน ผลักดันและเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ลดอุปสรรค เช่น ด่านสะพานแม่สอด 2 ที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วยังเปิดบริการไม่ได้ ต้องแก้ไขให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งยังได้เสนอให้เพิ่มการอำนวยความสะดวก โดยให้เปิดด่านถาวรเพิ่มขึ้น อาทิ ด่านสิงขร ช่องอานม้า เป็นต้น รวมถึงขยายเวลาเปิดบริการด่าน 24 ชม. จาก 05.00-22.00 น. เป็น 05.00-24.00 น. อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ยังต้องนำไปหารือกับคณะทำงานค้าชายแดนในแต่ละประเทศต่อไป

ห่วงความขัดแย้งหลายคู่

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สิ่งที่เอกชนเป็นห่วง คือ ความขัดแย้งทางด้านการค้าโลกที่มีหลายคู่ เช่น จีนกับสหรัฐ อินเดียกับปากีสถาน ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ในส่วน สรท.เสนอยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันการส่งออกควบคู่กับการตั้งวอร์รูม 2.ผลักดันการเปิดตลาดและเจรจาการค้า ให้เน้นเปิดตลาดใหม่ และฟื้นตลาดเดิมที่ซบเซา โดยการนำคณะนักธุรกิจเดินทางไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จัดกิจกรรม Trade Mission และการแสดงสินค้า Thailand Exhibition ในตลาดเป้าหมาย พร้อมกันนี้ต้องการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ คัดเลือกผู้นำเข้าเป้าหมาย เพื่อให้การเจรจาการค้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถทำให้เกิดการซื้อขายได้ทันที

สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักต้องเดินหน้าพัฒนาการค้าชายแดน ผ่านแนวทางของแผนพัฒนาการค้าชายแดน 5 ด้าน โดยสอดประสานตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 รวมทั้งแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ปี 2568 (MPAC) แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่น้ำโขง (ACMECS) ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงข่ายภายในประเทศและการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

6 ข้อเสนอสมุดปกขาว

ขณะที่ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ยื่นสมุดปกขาวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยสมุดปกข่าวนี้ทางหอการค้าได้ระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์

โดยมีเสนอ 6 ประเด็นที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เสนอให้มีการยกระดับการทำงานร่วมกันในระดับต่าง ๆ

2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชน ยกระดับเอสเอ็มอี สินค้า บริการ ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล

3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

4.สนับสนุนโครงการที่สำคัญของภาครัฐให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

5.เสริมสร้างธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม และ 6.ยกระดับทักษะความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์