กนอ.เซ็นสัญญาท่าเรือมาบตาพุด ประเดิมบิ๊กโปรเจ็กต์แรกอีอีซี4.7หมื่นล้าน

ประเดิมโครงการแรกใน EEC “กนอ.-กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ฯ-พีทีที แทงค์ฯ” ลงนามสัญญาร่วมลงทุน โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มูลค่า 47,900 ล้านบาท หลังขอขยายพื้นที่ 1,000 ไร่ในนิคมมาบตาพุดผ่าน ครม. เตรียมตั้งคณะทำงาน 5 องค์กรกำกับการดำเนินงานเอกชนเริ่มขอใบอนุญาตตามกระบวนการ พร้อมปรับแก้เงื่อนไขให้เอกชนนำเข้า LNG ไม่ถึง 5 ล้านตัน/ปีได้ แต่ปลายทางปีที่ 30 ต้องครบก่อนโดนปรับ

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบอนุมัติขยายเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 1,000 ไร่ เพื่อดำเนินการโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) มูลค่า 47,900 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 เวลา 12.40 น. ทาง กนอ.พร้อมด้วยกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ได้ลงนามในสัญญาการร่วมลงทุนโดยมีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน

“โครงการนี้นับเป็นโครงการแรกภายในโครงการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC Project List และเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนทั้งในและต่างชาติได้อย่างมาก โดยกระบวนการหลังจากนี้ กนอ.จะส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการ ออกแบบรายละเอียด และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยทันที ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะในการพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2568”

ขณะเดียวกัน กัลฟ์ฯและพีทีที แทงค์ฯ จะต้องทำการขอใบอนุญาต 3 ใบ ประกอบด้วย 1.ใบอนุญาตถมทะเล เพื่อดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จาก กนอ. 2.ใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เพื่อก่อสร้างทำท่าเรือก๊าซ จากกรมเจ้าท่า 3.ใบอนุญาตนำเข้ากักเก็บ และแปรสภาพก๊าซ จากกระทรวงพลังงาน

จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 โดยมีตัวแทนจาก 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กนอ., สกพอ., สำนักงานอัยการสูงสุด, กระทรวงอุตสาหกรรม และตัวแทนจากบริษัทเอกชนที่ร่วมลงทุน

สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่องที่ 1) มูลค่าการลงทุน 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุน 12,900 ล้านบาท และเอกชน 35,000 ล้านบาท ทั้งหมดใช้เวลา 5 ปี โดย 3 ปีแรก เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) และเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (superstructure) 200 ไร่

ทั้งนี้ งานก่อสร้างที่จะแล้วเสร็จในปี 2566 ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้าและแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ

จากนั้นจะใช้เวลาอีก 2 ปีหลัง (2567-2568) ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือก๊าซและบริการรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายกลุ่มสินค้าของเหลว และกลุ่มสินค้าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

ก่อนหน้านี้ เงื่อนไขในสัญญาได้กำหนดไว้ว่า นับตั้งแต่ปี 2568 ท่าเรือก๊าซ LNG จะต้องรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 5 ล้านตัน/ปี นับตั้งแต่ปี 2567 แต่ด้วยเอกชนกังวลถึงความต้องการปริมาณการใช้ การทำตลาด ต้นทุน ที่อาจทำให้ปริมาณที่กำหนดได้ไม่เป็นตามเงื่อนไข ดังนั้น กนอ.จึงยอมปรับแก้เงื่อนไขโดยยืดหยุ่นให้เอกชนสามารถนำเข้า LNG แต่ละปีได้ 4 ล้านตัน และให้มีเวลาในการทำตลาดสร้างดีมานด์ความต้องการระหว่างการก่อสร้าง แต่เมื่อถึงระยะเวลาของโครงการ 30 ปี ปริมาณ LNG จะต้องครบตามเงื่อนไขที่กำหนด มิฉะนั้นเอกชนจะต้องถูกปรับในอัตราที่กำหนดในสัญญา

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า หลังจากนี้ กนอ.จะจัดตั้งกองทุนตามมาตรการที่กำหนด อัตรา 1% ของมูลค่าลงทุน ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ไม่ว่าจะเป็นด้านผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนโดยรอบพื้นที่และใกล้เคียงอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน

รายงานข่าวระบุว่า การลงทุนโครงการนี้ กนอ.จะจ่ายเงินร่วมลงทุน 1,010 ล้านบาทต่อปี และจะได้รับค่าให้สิทธิในการร่วมลงทุนจากกลุ่มกิจการร่วมค้า และพีทีที แทงค์ฯ 300 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นค่าใช้จ่ายร่วมลงทุน 710 ล้านบาทต่อปี รวม30 ปี เท่ากับ 21,300 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ซื้อขายหุ้นของบริษัทคู่สัญญาโครงการดังกล่าวในวันที่ 1 ต.ค. 62 ราคาหุ้น “GULF” เท่ากับ 159.50 ลดลงจากวันก่อนหน้าที่ราคา 160 บาท ขณะที่หุ้น PTT บริษัทแม่ของพีทีที แทงค์ฯ อยู่ที่ 46.00 บาท ปรับลดลง จากวันก่อนหน้าที่ซื้อขายที่ 46.25 บาท