ซื้อเวลาสั่งแบน”พาราควอต” ผู้ค้าเร่งระบายสต๊อก4พันล้าน

แฟ้มภาพ
แบน 3 สารกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ฝุ่นตลบ หวั่น กก.วัตถุอันตรายซื้อเวลา “จำกัด” การใช้ต่อไม่ยอมแบน เหตุประชุม 4 ฝ่ายชุด “มนัญญา” ไม่มีอำนาจสั่งห้ามใช้-ห้ามนำเข้า อีกทั้งคำสั่ง “บิ๊กตู่” ก็ไม่ได้บอกให้แบน ร้านขายยากำจัดศัตรูพืชเร่งระบายสต๊อกมูลค่า 4,000 ล้านบาท

การประชุมผู้แทน 4 ฝ่าย (รัฐ-ผู้นำเข้า-เกษตรกร-ผู้บริโภค) เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช (พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส) ตามบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติในที่ประชุมครั้งสำคัญให้ “แบน” การใช้สารเคมีทั้ง 3 ประเภทโดยมตินี้จะถูกส่งไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 27 ตุลาคม ท่ามกลางข้อสงสัยว่า ผลการประชุมดังกล่าวจะ “สั่ง” ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทำการเปลี่ยนแปลงมติจากการ “จำกัด” การใช้สารเคมีพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสมาเป็น “ยกเลิก” การใช้ได้หรือไม่

มติให้แบนกรมวิชาการมีแต่..

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานในที่ประชุม 4 ฝ่าย กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 (สมาคมอารักขาพืชไม่ได้เข้าร่วมการประชุม) ให้ยกระดับสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 มาเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

ขณะที่ น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ตามนโยบายของ น.ส.มนัญญา ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร “แต่การพิจารณายกเลิกการใช้ต้องมีข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์และมีความชัดเจน ครบถ้วน รอบด้าน ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเป็นอันตรายต่อมนุษย์จริง จึงจะมีมติตามที่ประชุม 4 ฝ่ายให้ยกระดับสารเคมีเป็นประเภทที่ 4 ได้” น.ส.เสริมสุขกล่าว

กก.วัตถุอันตรายซื้อเวลาต่อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะเข้าร่วมการประชุมในฐานะประธานในที่ประชุมด้วย โดยมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งสุดท้าย (18 ก.ย. 2562) มีเพียงรอฟังผลการประชุม 4 ฝ่ายตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีกับติดตามความคืบหน้านโยบายของกระทรวงเกษตรฯเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมีข้อสังเกตว่า “บัญชา” ของนายกรัฐมนตรีสั่งแค่ให้ทั้ง 4 ฝ่ายแสดงความเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม ไม่ได้สั่งให้พิจารณาว่า “จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก” แต่อย่างใด

ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังคงยืนยันมติเดิม (23 พฤษภาคม 2561) ที่ให้ “จำกัด” การใช้สารพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสต่อไป โดยจะติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดและให้มีการทบทวนมาตรการ “จำกัด” การใช้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 หรือภายในวันที่ 14 ก.พ. 2564 (มติวันที่ 27 พ.ค 2562) แต่หากมีสารเคมีทางการเกษตรใดทดแทนได้ก็สามารถออกมาตรการห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดโดยไม่ต้องรอให้ครบ 2 ปี

“การประชุมวันที่ 27 ตุลาคมจึงน่าจะออกมาในลักษณะของ “รับทราบ” มติของการประชุม 4 ฝ่ายชุดของ น.ส.มนัญญา กับ “รับทราบ” นโยบายของ รมว.กระทรวงเกษตรฯที่มีความเห็นสั่งให้แบน แต่การแบนหรือไม่แบนนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรียกกันว่า ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่าทั้ง 3 สารเคมีนั้นมีอันตรายต่อมนุษย์จริง แต่ถึงจะมีอันตรายก็ต้องมีสารเคมีที่จะทดแทนในแง่ของประสิทธิภาพและราคาที่เกษตรกรรับได้ด้วย” แหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯกล่าว

สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะ “พลิก” มติตัวเองหรือไม่ โดยแข็งขืนกับกระแสสังคมที่เรียกร้องให้ “แบน” สารเคมีการเกษตรทั้ง 3 ชนิด รวมไปถึงนโยบายของฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการอย่างไร

เผยสต๊อกลับ 34,688 ตัน

ล่าสุด กรมวิชาการเกษตรได้ยอมเปิดเผยปริมาณนำเข้าพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสระหว่างปี 2558-2562 และปริมาณคงเหลือ ปรากฏ 6 เดือนแรกของปี 2562 มีปริมาณนำเข้า 36,066 ตัน และปริมาณคงเหลือ 34,688 ตัน นอกจากนี้ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ยังได้ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับการนำเข้าสารเคมีทดแทนที่ชื่อ “กลูโฟซิเนต แอมโมเนีย” ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 2562 ) มีปริมาณ 1,308 ตัน โดยผู้นำเข้าหลักได้แก่ บจ.ไบเออร์ไทย, บจ.มิลเลนเนียม ฟาร์ม, บจ.เรนโบว์ อโกรไซเอนเซส, บจ.ไซโนเคม ฟาร์มแคร์ และ บจ.เดมาร์ เคมิคอล เวิร์ค ออกระเบียบจำกัดการใช้

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงเดินหน้าออกประกาศ “หลักเกณฑ์ในการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” รวม 5 ฉบับ ให้เกษตรกรต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนและใช้สารเคมี 3 ชนิดก่อนจึงจะมีสิทธิ์ซื้อพาราคอต-ไกลโฟเซต กลูโฟซิเนตได้

โปรโมชั่นโละพาราควอต

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในหลายจังหวัด พบว่าหลายร้านเริ่มจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเพื่อระบายสินค้าที่ค้างสต๊อกก่อนที่จะถึงเส้นตาย “จำกัด” การซื้อเฉพาะเกษตรกรที่ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนในวันที่ 20 ตุลาคม 2562 โดยเกษตรกรในหลายจังหวัด อาทิ นครสวรรค์, จันทบุรี, ตราด, เพชรบูรณ์ ต่างกล่าวตรงกันว่า รัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่า จะเลิกหรือไม่เลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ส่วนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใหม่อย่าง “กลูโฟซิเนต” ที่จะนำมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดยังมี “ราคาแพงมาก สูงกว่าตัวเดิม 2-3 เท่า” แต่ร้านจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืชได้นำเข้ามาจำหน่ายให้กับเกษตรกรแล้ว

“กลูโฟซิเนตขายในราคาลิตรละ 480-500 บาท ในขณะที่พาราควอต-ไกลโฟเซตลิตรละ 120-150 บาท โดยสารเคมีตัวใหม่ กลูโฟซิเนต มีอัตราสิ้นเปลืองการใช้เมื่อเทียบกับตัวเดิมถึง 1 เท่า ร้านค้าส่วนใหญ่ในต่างจังหวัดไม่มีการสั่งสต๊อกพาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอสมาตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว เพราะกลัวคำสั่งแบน ที่ยังมีขายอยู่ก็พยายามระบายสต๊อกให้หมดจากปัจจุบันที่มีเหลือตกค้างอยู่ในประเทศ 34,688 ตันหรือมีมูลค่าประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท” ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงาน