ลุ้น “สุริยะ” ปิดจ็อบเหมืองอัครา ล่อคิงส์เกตให้สัมปทานภายใต้กม.แร่ใหม่

เปิดเงื่อนไข “สุริยะ” เจรจาอัคราฯ ต้องผ่าน “พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่” สุดหิน แถมไม่คุ้มค่ากับการทำธุรกิจเหมืองทุกประเภท บล็อกธุรกิจทางอ้อม ก่อนที่จะมีการไต่สวนตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการนัดแรกในวันที่ 18 พ.ย.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางการเจรจาข้อยุติกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ยื่นร้องรัฐบาลไทย

ละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ด้วยการออกคำสั่งปิดเหมืองทองคำชาตรีที่ดำเนินกิจการโดยบริษัทลูก หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยยื่นข้อเสนอให้ดำเนินการต่อได้แต่ต้องปฏิบัติตาม “พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560” ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้ 29 ส.ค. 2560 เท่านั้น

แหล่งข่าวจากวงการเหมืองแร่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะเปิดทางเจรจา แต่จนถึงขณะนี้บริษัท อัคราฯยังไม่ได้รับการตอบรับให้เข้าพบรัฐบาลไทย ส่วนทางออกที่ยื่นข้อเสนอให้อัคราฯสามารถกลับมาสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้อีกครั้ง ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่นั้น ถือว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากแต่ละมาตรามีรายละเอียดค่อนข้างยากมากในทางปฏิบัติ และไม่คุ้มค่ากับการประกอบธุรกิจทำเหมืองต่อเกือบทุกประเภท

“การรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ซึ่งจะแยกกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่และกลุ่มนอกพื้นที่ออกได้อย่างไร รวมถึงอัตราค่าภาคหลวงใหม่ที่เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว ไทยถือว่าให้อัตราสูงที่สุด แต่แม้จะขึ้นศาลวันที่ 18 พ.ย. นี้ การเจรจาก็ยังทำได้จนกว่าจะตัดสิน”

รายงานข่าวระบุว่า พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มี 16 หมวด 189 มาตรา ซึ่งมีความแตกต่างจากฉบับเก่าในด้านหลัก ๆ อาทิ 1.กำหนดให้ตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากเดิมที่ไม่เคยมี เพื่อจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ทุก 5 ปี โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อม

Advertisment

2.ให้ประชาชนในพื้นที่ทำเหมืองมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็น ต้องปิดประกาศอย่างเปิดเผย ไม่น้อยกว่า 30 วัน ต้องทำประชาพิจารณ์ หรือทำประชามติชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร รวมถึงเชิญผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมสังเกตการณ์ จากเดิมใช้ประชาคมหมู่บ้าน และผู้ขอประทานบัตรต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA)

3.กระจายอำนาจออกใบสำรวจแร่ โดยอาชญาบัตรสำรวจแร่ ให้อำนาจนายกเทศมนตรี หรือนายก อบต.อนุมัติ, อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), อาชญาบัตรพิเศษ ให้อธิบดี กพร. ตามมติคณะกรรมการแร่ ซึ่งปลัดกระทรวงเป็นประธานจากเดิมเป็นอำนาจ รมว.อุตสาหกรรม

Advertisment

4.อำนาจออกใบทำเหมืองแร่ประทานบัตร 3 ประเภท คือ เหมืองแร่ขนาดเล็กไม่เกิน 100 ไร่ เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องอนุมัติตามมติคณะกรรมการแร่จังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน, เหมืองแร่ขนาดกลางไม่เกิน 625 ไร่ และเหมืองแร่ขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อธิบดี กพร.อนุมัติตามมติคณะกรรมการแร่

5.กำหนดให้ผู้ขออาชญาบัตรพิเศษ และผู้ขอประทานบัตรต้องเสนอผลประโยชน์พิเศษให้รัฐ และจ่ายค่าภาคหลวงแร่ตามอัตราที่กำหนดอย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่วนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สูงกว่าเดิม 1,000 เท่า

ส่วนค่าบำรุงพิเศษจัดเก็บ 5% ของค่าภาคหลวง 6.การเยียวยาผลกระทบ ให้ผู้ถือประทานบัตรทำแผนฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์สิ่งแวดล้อมระหว่างทำหรือหลังปิดเหมือง และวางหลักประกัน ซึ่งเดิมไม่มี 7.ความรับผิดทางแพ่ง อาทิ กำหนดให้รัฐมีสิทธิเรียกค่าเสียหาย 2-3 เท่าของมูลค่าแร่ 9.การประกอบธุรกิจแร่ ชนิดที่ไม่ได้ประกาศให้เป็นแร่ควบคุม หากชำระค่าภาคหลวงเรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต 10.ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้อำนาจ รมว.อุตสาหกรรมออกกฎกระทรวง ตามคำแนะนำของคณะกรรมการแร่ และ 11.เพิ่มโทษทางอาญาและโทษปรับสูงถึง 30 เท่าจากเดิม และจ่ายค่าปรับรายวัน