สรุปการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ​​มีผลบังคับใช้ 16 ก.ย.

สรุปการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีสรรพสามิต ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ​​

1. จัดเก็บภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันในอัตราตามปริมาณเพียงอย่างเดียว

1.1 กำหนดอัตราเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ น้ำมันเบนซินและดีเซล 1.2 กำหนดอัตราใหม่ ได้แก่สินค้าดังนี้ – น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น – น้ำมันเตา

2. มีการปรับลดอัตราภาษีให้สอดคล้องกับราคาขายปลีกแนะนำ ได้แก่สินค้าดังนี้

2.1 รถยนต์ 2.2 แบตเตอรี่ 2.3 จักรยานยนต์ 2.4 ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมและเครื่องสำอาง

3. จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน

3.1 จัดเก็บอัตราตามมูลค่าและตามปริมาณความหวานของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งจัดเก็บภาษี ตามปริมาณความหวานของเครื่องดื่มผงและเครื่องดื่มเข้มข้นเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพหากบริโภคเครื่องดื่มดังกล่าว โดยในระยะแรกจะไม่เพิ่มภาระภาษีมากนัก แต่หลังจาก 2 ปี ภาระภาษีจะเพิ่มขึ้น และปรับเพิ่มภาษีทุก 2 ปีจนถึงปี 2566

3.2 ดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่มีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวาน เช่น การจัดทำเครื่องหมายทางเลือกเพื่อสุขภาพ การผลิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาล การจำหน่ายสินค้าให้เข้าถึงง่าย การจัดทำฉลากโภชนาการแบบ GDA เป็นต้น

4. กำหนดอัตราศูนย์สำหรับสินค้าที่จัดเก็บรายได้น้อย เนื่องจากไม่มีความคุ้มค่าในการบริหารการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต ได้แก่สินค้าดังนี้

4.1 เครื่องไฟฟ้า (โคมระย้าคริสตัล) 4.2 แก้วและเครื่องแก้ว 4.3 พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่น ๆ

5. อัตราภาษีในหมวดบริการ

5.1 คงอัตราตามเดิม

– ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 นาฬิกา จัดเก็บจากรายรับ

– สถานอาบน้ำหรืออบตัว และนวด จัดเก็บตามรายรับ – สนามแข่งม้า จัดเก็บจากค่าผ่านประตู และรายรับ – สลากกินแบ่ง ไม่มีการจัดเก็บภาษี (จากเดิมได้รับการยกเว้นปรับใหม่เป็นเสียภาษีในอัตราศูนย์)

5.2 กำหนดอัตราศูนย์เช่นเดิม – กิจการโทรคมนาคม

6. การจัดเก็บภาษีสุรา

คงการจัดเก็บภาษีแบบระบบผสม ทั้งในอัตราตามมูลค่าเพื่อสะท้อนถึงความฟุ่มเฟือย และอัตราตามปริมาณเพื่อสะท้อนถึงหลักสุขภาพ ซึ่งสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมากยิ่งขึ้น

– ปรับลดภาษีตามมูลค่าและเพิ่มอัตราภาษีตามปริมาณ (แรงแอลกอฮอล์) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยคำนึงถึงสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยอัตราภาษีใหม่จะไม่ทำให้มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นมากนัก ตามหลักรายได้คงที่ (Revenue Neutrality) – ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสุราที่มีดีกรีต่ำ และลดปัญหาสุราเถื่อน

– ปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่า เนื่องจากฐานภาษีได้ปรับจากราคาขายส่งช่วงสุดท้ายเป็นราคาขายปลีกแนะนำ

7. การจัดเก็บภาษียาสูบ

– จัดเก็บภาษีแบบระบบผสม ทั้งในอัตราตามมูลค่าเพื่อสะท้อนถึงความฟุ่มเฟือย และอัตราตามปริมาณเพื่อสะท้อนถึงหลักคุณภาพ จากเดิมที่จัดเก็บภาษีตามมูลค่าหรือตามปริมาณที่ให้ภาระภาษีสูงกว่าส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

– จัดเก็บภาษีตามมูลค่าใน 2 อัตราที่แตกต่างกัน ระหว่างบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง และเกิน 60 บาทต่อซอง เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้เวลาในการปรับตัวของอุตสาหกรรมบุหรี่ หลังจากนั้นจะจัดเก็บภาษีตามมูลค่าในอัตราเท่ากัน

– จัดเก็บภาษีตามปริมาณในอัตราเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการบริโภคบุหรี่ราคาถูก

– ขยายฐานภาษียาสูบให้ครอบคลุมถึงยาเส้นพันธุ์พื้นเมือง

– ลดการเข้าถึงการบริโภคยาสูบ โดยยึดหลักสากลในการสร้างความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีของบุหรี่

คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง>> ชี้เเจง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่2560 มีผลบังคับใช้วันนี้ เข้มติดตามราคาสินค้า เตือนอย่ากักตุน!