ถุงพลาสติกพ่าย “รักษ์โลก” 400โรงงานดิ้นขอรัฐเยียวยา

ถุงพลาสติกออร์เดอร์หายวับ หลัง ครม.ร่นเวลาโรดแมปให้เร็วขึ้น 2 ปี จาก 1 มกราคม 2565 เป็น 1 มกราคม 2563 ค้าปลีกขานรับเลิกแจกทันที 400 โรงงานเคว้ง 4 หมื่นคนจ่อตกงาน คาดอุตสาหกรรมกระทบพันล้าน สมาคมดิ้นปรับตัว ยื่น 3 ข้อขอรัฐเยียวยา ดีเดย์ 1 มกราคม 2564 ถึงคิวตลาดสดเลิกใช้ โรงงานเอสเอ็มอีกุมขมับ เตรียมทยอยโบกมือลา

แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบกลไกการขับเคลื่อนการงดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และถัดมาช่วงต้นเดือนธันวาคม สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 75 ร้านค้า ซึ่งมีสาขารวมกว่า 24,500 แห่งทั่วประเทศ ประกาศงดแจกถุงพลาสติก จนถึงขณะนี้โรงงานผลิตถุงพลาสติกหลายรายไม่มีออร์เดอร์จากบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่แล้ว และมีโรงงานบางแห่งเตรียมจะปิดโรงงาน เนื่องจาก ครม.มีมติเรื่องนี้ออกมาอย่างรวดเร็ว และให้เวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือน ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน เบื้องต้นนอกจากจะส่งผลกระทบกับโรงงานผู้ผลิตถุงพลาสติกจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กแล้ว ยังกระทบกับแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แหล่งข่าวย้ำว่า จริง ๆ แล้วเดิมโรดแมปที่วางไว้ จะเริ่มยกเลิกการแจกถุงพลาสติกชนิดบาง (36 ไมครอน) ในปี 2565 แต่ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่นเวลาให้เร็วขึ้นอีก 2 ปี และให้รวมถุงพลาสติกขนาด 40 ไมครอน 45 ไมครอน และ 50 ไมครอน ซึ่งเป็นถุงที่มีความหนาและสามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้งเข้าไปด้วย จึงทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง

สมาคมร้องรัฐเยียวยา

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมได้ยื่นหนังสือถึง รมว.ทส. ขอให้เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว 3 เรื่อง หลัก ๆ คือ 1.ขอให้รัฐบาลเยียวยาจ่ายค่าชดเชยเครื่องเป่าถุงพลาสติกตามความเหมาะสม เพราะจะขายเครื่องจักรไปให้ใครเขาก็คงไม่มีใครซื้อ หรือจะเอาไปผลิตสินค้าอื่น ๆ ก็ไม่ได้ 2.ชดเชยวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น เม็ดพลาสติก-เม็ดสี-หมึกพิมพ์ และ 3.สำหรับกรณีการเลิกจ้าง ขอให้รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากการปิดโรงงานตามกฎหมายแรงงานเต็ม 100%

ที่ผ่านมาสมาคมทำงานและประชุมร่วมกับทางการมาเป็นระยะ ๆ และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกจะงดให้ถุงพลาสติกชนิดบาง หรือถุงที่มีความหนาต่ำกว่า 36 ไมครอนก่อน ส่วนถุงที่หนาตั้งแต่ 40 ไมครอน 45 ไมครอน และ 50 ไมครอน ค้าปลีกจะยังมีแจกให้ลูกค้าได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติให้งดแจกถุงพลาสติกทั้งหมด จึงเท่ากับเป็นการหักดิบที่ไม่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการได้หายใจ

“ตอนนี้โรงงานหลายแห่งแม้จะไม่มีออร์เดอร์จากค้าปลีกรายใหญ่ แต่บางรายก็ยังอยู่ได้ เพราะยังมีออร์เดอร์ถุงพลาสติกจากตลาดต่างประเทศ และมีโปรดักต์หลายประเภท อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โรงงานหลาย ๆ แห่งได้ปรับตัว ด้วยการกระโดดลงไปที่ตลาดสด ตลาดนัด ในต่างจังหวัด และเล่นเรื่องราคาเป็นหลัก เพื่อชดเชยกับตลาดค้าปลีกที่หายไป”

มกราฯ 64 ตลาดสดเลิกแจก

แหล่งข่าวจากสมาคมรายนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับสเต็ปถัดไป 1 มกราคม 2564 โรดแมปการลดถุงพลาสติกจะเริ่มบังคับใช้กับตลาดสดที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการ เช่น ตลาดสดในความดูแลของ กทม. ตลาดสดในความดูแลของเทศบาล เป็นต้น ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ของถุงพลาสติกเช่นกัน และเมื่อถึงวันนั้น คาดว่าจะมีโรงงานที่ทยอยปิดตัวอีกนับร้อยแห่ง และมีคนตกงานอีกจำนวนมาก

“ตอนนี้แม้ว่าถุงพลาสติกที่ผลิตจากพืช หรือไบโอพลาสติกอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และหลายโรงงานสามารถที่จะลงทุนเพื่อผลิตถุงไบโอพลาสติกได้ เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่เนื่องจากถุงไบโอพลาสติกมีราคาสูงกว่าถุงพลาสติกทั่ว ๆ ไป 4-5 เท่า จึงไม่ตอบโจทย์ในแง่ของต้นทุนของผู้ประกอบการค้าปลีกที่จะนำไปแจกให้ลูกค้า หรือผู้บริโภคซื้อใช้ โอกาสที่ถุงไบโอพลาสติกจะแจ้งเกิดจึงไม่ง่าย”

ขณะที่นายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เปิดเผยว่า การเร่งโรดแมปให้เร็วขึ้น 2 ปี กระทบกับผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ปรับตัวไม่ทัน เบื้องต้นคาดว่าส่งผลกระทบประมาณ 50 โรง จากที่มีโรงงานผลิตพลาสติกทั่วประเทศที่มีประมาณ 400-500 โรงงาน และอาจต้องทยอยปิดโรงงานและเลิกจ้างงาน 7,000-8,000 คน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

“สมาคมไม่ได้ต่อต้านกระแสการลดขยะพลาสติก และพร้อมจะสนับสนุนนโยบายเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ คือ รัฐบาลควรจะต้องมีการรณรงค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป การงดละเลิกทันทีทำให้มีปัญหา เพราะภาครัฐเองยังไม่มีมาตรการรองรับ” นายสมชัยย้ำ

ทส.รับทราบข้อร้องเรียน

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา นายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ ทส. (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ถึงผลกระทบจากมาตรการยกเลิกการแจกถุงพลาสติกขนาดต่ำกว่า 36 ไมครอน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งทางท่านปลัด ทส.รับทราบข้อมูลแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะมีการเชิญภาคเอกชนมาหารือร่วมกันต่อไป

ด้านนายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า มาตรการตามโรดแมปการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผู้ผลิตถุงพลาสติกจริง โดยกลุ่มที่ร้องเรียนระบุว่า จะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมหลักหลายพันล้านบาท และกระทบต่อการจ้างงานประมาณ 40,000 คน และเอกชนเสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้ทั้งผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอีจะต้องปรับตัว และให้ผู้บริโภค/ผู้ใช้ถุงต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น เคยซื้อถุง 30 สตางค์อาจจะมีต้นทุนเพิ่ม 2 บาท

“เบื้องต้นเสนอให้เอกชนสามารถใช้แม่พิมพ์ในการผลิตถุงแบบเดิมต่อไป แต่ให้ผลิตถุงที่มีคุณภาพสูงแบบ multiple use แทน single use ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเครื่องจักร ประเด็นนี้ทางภาครัฐยอมรับ อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.มองว่า การที่รัฐจะออกมาตรการต้องให้เวลาเอกชนในการปรับตัวด้วย รายใหญ่อาจจะปรับตัวไปแล้ว แต่เอสเอ็มอีอาจปรับตัวช้า ต้องให้เวลาปรับตัว” นายภราดรกล่าว