กสร.รุดช่วยแรงงานเมียนมา จ.ตาก โดนโกงค่าแรง-ค่าล่วงเวลา นัดสอบเพิ่ม 25 ก.ย.นี้

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงกรณีแรงงานเมียนมาร้องนายจ้างโกงค่าแรง ค่าล่วงเวลา พร้อมนัดสอบเพิ่มเติม 25 ก.ย.60 พบไม่ถูกต้องเอาผิดทันที

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยกรณีที่สื่อเผยแพร่ข่าวแรงงานชาวเมียนมากว่า 150 คน เดินทางไปที่สำนักงานเคทีจี หรือโกตายี ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ตั้งอยู่ที่อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งในอ.แม่สอด จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่า

จากกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งพบว่าลูกจ้างทั้งหมดเป็นลูกจ้างของบริษัทแม่สอดชัยวัฒนา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบกิจการรับจ้างเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากการสอบถามข้อเท็จจริงตัวแทนนายจ้างชี้แจงว่าประมาณสองเดือนที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาไม่มีออเดอร์จึงหยุดการผลิตชั่วคราวแต่ยังคงให้ลูกจ้างพักอาศัยและจัดอาหารให้แก่ลูกจ้าง ส่วนเรื่องค่าจ้างที่ลูกจ้างอ้างว่านายจ้างจ่ายไม่ถูกต้องตามกฏหมาย พนักงานตรวจแรงงานได้ออกหนังสือให้นายจ้างมาพบ พร้อมนำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงในวันที่ 25 กันยายน 2560 หากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องจริง พนักงานตรวจแรงงานแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เรื่องของการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามที่กฎหมาย จะมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าทำใบอนุญาตทำงานที่ลูกจ้างอ้างว่าถูกเรียกเก็บไม่ถูกต้องนั้น ได้ประสานจัดหางานจังหวัดตาก ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยแล้ว ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ด้วยการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกันทั้งในเรื่องสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและสวัสดิการตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวได้ทราบสิทธิหน้าที่นายจ้าง ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และใช้สิทธิในการยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541