“กรังด์ปรีซ์ฯ” แตกไลน์โรงไฟฟ้าขยะ

“บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)” หรือ GPI ผู้จัดอีเวนต์รายใหญ่แห่งวงการยานยนต์ ตัดสินใจผันตัวร่วมทุนใน “บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด” แตกไลน์ธุรกิจครั้งใหญ่กระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพารายได้จากการจัดงานแสดงสินค้า เช่น งาน Bangkok International Motor Show ที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึง 80% สู่ธุรกิจพลังงาน รับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อนาคต 250 ล้าน ตั้งโรงไฟฟ้า RDF

นายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPI กล่าวว่า หลังจากการจัดกิจกรรมอีเวนต์งานต่าง ๆ เริ่มลดลง บริษัทต้องบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการกระจายการลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ จึงตัดสินใจลงทุน 250 ล้านบาทซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด 7 แสนหุ้น จะส่งผลให้บริษัทมีสัดส่วนการถือหุ้น 25.45% เพื่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยใช้เชื้อเพลิงขยะแปรรูป (RDF) กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ใน อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ โดยทำสัญญาขายไฟให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งขณะนี้ชำระค่าหุ้นไปแล้ว 70 ล้านบาทจากนั้นจะทยอยชำระจนครบ โดยคาดว่าโรงไฟฟ้า RDF แห่งนี้ จะมีรายได้ 450 ล้านบาท/ปี และจะใช้เวลาคืนทุน 5 ปี

การลงทุนครั้งนี้แม้จะมองว่าไม่ใช่การแข่งขันที่จะสามารถสู้กับรุ่นพี่รายอื่นในวงการได้ แต่เป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการทำธุรกิจ เนื่องจากกรังด์ปรีซ์ฯซึ่งแม้จะเชี่ยวชาญในธุรกิจการจัดกิจกรรมอีเวนต์ต่าง ๆ ด้านยานยนต์ แต่จำเป็นต้องลดการพึ่งพารายได้ในส่วนนี้ลง และเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่จะไม่หยุดเพียงโครงการนี้โครงการเดียว และหวังในอนาคตที่จะผลักดันทรูเอ็นเนอร์จีเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ไตรมาส 3 เริ่ม COD

นายจำรัส เตชะนิธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้า RDF ดำเนินการก่อสร้างกว่า 95% คาดว่าจะเริ่มจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 3/2563 ใช้ขยะแปรรูป 200 ตัน/วัน โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ กฟภ.ได้รับ adder หรือส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย (kWh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่เริ่มต้นจำหน่ายไฟฟ้า หลังจากนั้น ราคารับซื้อจะเป็นตามราคารับซื้อพื้นฐานและนโยบาย กฟภ.

นอกจากนี้ ทรูเอ็นเนอร์จียังทำสัญญารับกำจัดขยะโดยวิธีคัดแยกกับเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ อายุสัญญา 25 ปี (นับจาก 12 พ.ย. 2558) เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากการประเมินพบว่ามีปริมาณขยะจากบ่อฝังกลบ 3 แห่ง รวมประมาณ 500,000 ตัน นำมาแปรรูปเป็น RDF ได้ 70,000 ตัน หรือเป็นปริมาณที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้นาน 10 ปี ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 70% สามารถนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF และเมื่อรวมกับปริมาณขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต มั่นใจว่าจะมีปริมาณขยะเพียงพอตลอดอายุสัญญาจำหน่าย และยังมีแผนจัดหาแหล่งขยะอื่นเพิ่มเติม

เข้มปฏิบัติตามหลักสิ่งแวดล้อม

แต่ขึ้นชื่อว่า “ขยะ” แน่นอนว่าต้องเป็นที่กังวลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม “ทรูเอ็นเนอร์จี” เน้นย้ำว่า RDF ตามกฎหมายไม่ได้ถือว่าเป็นขยะสด เพราะผ่านการคัดแยกอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิงแข็งก่อนป้อนให้โรงไฟฟ้า ดังนั้น ระหว่างการขนส่งจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล และก่อนจะเปิดโรงไฟฟ้าได้ประชาพิจารณ์และผ่านการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้ว

การดำเนินตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประมวลหลักการปฏิบัติ code of practice (CoP) จะเป็นหลักประกันว่าผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงโครงการนี้จะปลอดภัยด้วยการออกแบบอาคารเป็นระบบปิด ติดตั้งตัววัดปล่องระบายมลพิษทางอากาศตามหลักเกณฑ์ good engineering practice ซึ่งมีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดูแล