นิคมปิ่นทอง ชงไทยให้ “กรีนการ์ด”

แฟ้มภาพ

นายสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัทปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2563 นิคมอุตสาหกรรมของไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการลงทุนจากจีนอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป ทุกนิคมน่าจะมียอดขายพื้นที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ลูกค้าชะลอการเดินทางเข้ามาดูพื้นที่จากปัญหาการระบาดของโควิด-19

“นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมออกจากจีนมาลงทุนในอาเซียน แน่นอนว่าเป้าหมายคือไทยและเวียดนาม และจากการสอบถามนักลงทุนยังคงยืนยันว่า โครงการลงทุนที่ไทยจะยังมีเหมือนเดิมมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มอีก เพียงแต่รอการคลี่คลายของโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งคาดจะเห็นญี่ปุ่นลงทุนในปี 2564 เพราะญี่ปุ่นจะต้องทำการศึกษาพื้นที่การลงทุนก่อน ทำให้ใช้เวลาในการตัดสินใจนานพอสมควร”

ทั้งนี้ สำหรับสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) นับว่าครบถ้วน และยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้โลกเห็นว่าไทยเก่งด้านการแพทย์ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะได้อุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องมือแพทย์เข้ามาอีกมาก รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีครบทุกอย่าง ดังนั้นหากจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงการลงทุนระยะยาว รัฐไม่ควรจบที่การให้แค่การยกเว้นภาษี แต่ควรครอบคลุมไปถึงการให้สิทธิที่อยู่อาศัยของผู้เชี่ยวชาญ หรือกรีนการ์ด เป็นจุดขายที่จะผลักดันให้ศูนย์กลางการแพทย์และอาการของโลก มีบุคลากรเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมไหลเข้ามา ซึ่งนั่นจะนำเม็ดเงินเข้ามาด้วย

ส่วนประเด็นกังวลว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น มองว่า EEC จะยังเป็นไข่แดงจุดสำคัญด้านการลงทุน ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเอกชนต้องสำรองน้ำไว้ใช้ในนิคม เพื่อรับมือกับวิกฤตภัยแล้งทุกปี ในระหว่างนี้นิคมปิ่นทองยังคงโรดโชว์ดึงนักลงทุน ทำตลาดอยู่ตลอด รวมถึงพัฒนาพื้นที่รองรับนักลงทุนที่จะเข้ามา โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะมีที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 6 จ.ระยอง เปิดดำเนินงานขายพื้นที่/เช่า พื้นที่ขนาด1,500 ไร่ และยังมีนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 4, 5 เหลือพื้นที่อยู่ 300-400 ไร่ก่อนจะเริ่มพัฒนาโครงการใหม่ล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 7 ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

สำหรับสัดส่วนนักลงทุนปัจจุบันมีลูกค้าญี่ปุ่น 70% ปริมาณจำนวนบริษัทมากกว่าจีน ขณะเดียวกันถึงจีนจำนวนจะน้อยกว่าแต่ขนาดพื้นที่แต่ละโรงงานจะใหญ่กว่า เพราะจีนเน้นการผลิตครบทั้งซัพพลายเชน ใช้ไทยเป็นฐานส่งออกทั่วโลก ขนาดพื้นที่จึงใหญ่กว่าญี่ปุ่น

“ถ้าไม่เจอโควิด ญี่ปุ่นเขาลงทุนเร็วกว่านี้ เรามีญี่ปุ่นมากกว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเขาใช้เวลาตัดสินใจนาน เรายังคงมีคอนเน็กชั่นอยู่ ทำให้การทำตลาดต่อไม่ยาก ส่วนจากจีนเมื่อจะลงทุนก็คือทำเลย”