โรงไฟฟ้าชุมชนเคว้ง ตั้ง 500 บริษัท ลุ้น รมว. พลังงานคนใหม่ หวั่นการเมืองล้างไพ่

โรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 500 แห่งทั่วประเทศเคว้ง หลัง “สนธิรัตน์” ลาออก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์โดนลอยแพ จับตารัฐมนตรีพลังงานคนใหม่จะไปต่อหรือล้มโปรเจ็กต์ผู้ประกอบการห่วงความไม่แน่นอน เผยแห่ลงทุนแตกบริษัทเครือข่ายนับไม่ถ้วน หวั่นเงื่อนไขเปลี่ยน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 10 จังหวัดออกโรงเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือถึง “รองนายกฯวิษณุ” กระทุ้งเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ อ้างช่วยชาวบ้านสร้างรายได้

การ “ลาออก” ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สร้างความกังวลให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีกำลังผลิตรวมกันถึง 1,933 เมกะวัตต์ (MW) โดยโครงการนี้จัดเป็นโครงการตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ที่พยายาม “ผลักดัน” ตลอดช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่า “ไม่สำเร็จ” ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ออกมารองรับการดำเนินการแล้ว

ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 500 รายตกอยู่ในสภาพการณ์ของความไม่แน่นอนที่ว่า สุดท้าย “โรงไฟฟ้าชุมชน” ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “คนใหม่” จะยังอยู่หรือจะไป และถ้ายังมีโครงการนี้อยู่ “เงื่อนไข” ของการตั้งโรงไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่

ขุมทรัพย์โรงไฟฟ้าชุมชน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาเป็นที่ทราบกันดีว่า ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับปัจจุบันในช่วง 10 ปีแรก (2561-2570) นั้น แทบจะไม่มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบจากเหตุผล 2 ประการคือ 1) ความผิดพลาดของแผน PDP ที่ปล่อยให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง “ล้นเกิน” จนไม่จำเป็นต้องมีกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ระบบ 2) โรงไฟฟ้าเก่าที่ทยอยถูกปลดออกจากระบบถูกแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ขนาดใหญ่เพียงไม่กี่โรง อาทิ โรงไฟฟ้าของกัลฟ์ 4 โรง มีกำลังผลิตรวมกันถึง 5,000 MW และ 3) การระบาดของไวรัสโควิด-19ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศลดลง

“10 ปีแรกของแผน PDP แทบจะไม่มีกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ระบบ ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก-รายใหญ่ต้องแสวงหากำลังผลิตใหม่ โดยกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ IPP ต่างมุ่งเป้าไปที่การสร้างโรงไฟฟ้าในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาวหรือเวียดนาม เพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าโดยรวมในกลุ่มของตนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางในกลุ่มพลังงานทดแทนไม่มีศักยภาพที่จะออกไปต่างประเทศ ดังนั้นการเติบโตของกลุ่มจึงขึ้นอยู่กับกำลังผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งมีโครงการเดียวที่เปิดช่องอยู่คือ โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก แต่ตัว รมต.เจ้าของโครงการก็ดันมาลาออกเสียก่อน”

ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนให้ความเห็นทั้งนี้ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP 2018 Rev.1 ซึ่งนายสนธิรัตน์พยายามจะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์สุดท้ายก่อนที่ตนเองจะพ้นจากตำแหน่ง “แต่ก็ไม่สำเร็จ”นั้น ได้บรรจุแนวทางการปรับแผนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนด้วยการเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากประเภทชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย)-ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)-solar hybrid เข้าระบบตั้งแต่ปี 2563-2567 กำลังผลิตรวมกันถึง 1,933 MW โดยโครงการนี้นายสนธิรัตน์ได้ประกาศ “นำร่อง” โรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win จำนวนรวม 100 MW ในปี 2563 เข้าร่วมโครงการ โดยเปิดโอกาสให้กับโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ กับโครงการทั่วไป ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายไม่เกิน 10 MW

รูปแบบการร่วมทุนประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วนประมาณร้อยละ 60-90 กับ 2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วนประมาณร้อยละ10-40 (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 40) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้นให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้น ๆ

จับตารัฐมนตรีพลังงานคนใหม่

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกล่าวว่า การลาออกของนายสนธิรัตน์ส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน “เกิดความไม่แน่นอน” ที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ “แห่” ตั้งบริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1/2563 น่าจะมีผู้ประกอบการใหม่ไม่ต่ำกว่า 500 ราย ที่จดทะเบียนขึ้นใหม่

“ส่วนใหญ่เป็นพวกโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเตรียมตั้งบริษัทขึ้นมารองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนโดยเฉพาะ มีทั้งผู้ประกอบการร่วมกับองค์กรของรัฐ หรือบางกลุ่มไปจับมือกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น เข้ามาทำโรงไฟฟ้าร่วมกัน ถ้าท้องถิ่นไหนยังไม่มี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการก็ลงไปจัดตั้งรวบรวมให้ได้ 200 ครัวเรือนเพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ พูดง่าย ๆ ว่า เมื่อไหร่กระทรวงพลังงานประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะนำโรงไฟฟ้าจัดตั้งของตัวเองเข้าเสียบ บางกลุ่มพร้อมที่จะทำโรงไฟฟ้าเอง บางกลุ่มก็จะขายใบอนุญาตต่อ เนื่องจากทุกคนทราบดีว่า ในอีก 10 ปีต่อจากนี้จะไม่มีโรงไฟฟ้าเกิดใหม่เข้าระบบได้ นอกจากโครงการนี้เท่านั้นที่มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเกือบ 2,000 MW แต่น่าเสียดายที่นายสนธิรัตน์ลาออกไปเสียก่อน ไม่สามารถผลักดันแผน PDP 2018 Rev.1 ซึ่งจะบรรจุโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าไว้ในแผนให้ผ่านการพิจารณาของ ครม.ได้” แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าที่จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่กำลัง จับตาว่าที่ รมว.พลังงานคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจาปรับแผนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป และโครงการอาจจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ แม้ว่ากำลังผลิตใหม่ 1,933 MW ได้ถูกระบุไว้ใน 5 ปีแรกของแผน PDP 2018 Rev.1 แล้ว แต่ถ้ารัฐมนตรีคนใหม่ไม่พิจารณาโครงการนี้อาจจะต้องรื้อแผน PDP ใหม่อีกครั้ง

เรียงจังหวัดแตกบริษัทย่อย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจบริษัทจดทะเบียนตั้งใหม่ในช่วงไตรมาส 1/2563 ถึงปัจจุบัน ปรากฏรายชื่อบริษัทประเภทธุรกิจประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซธรรมชาติ ขยะ พลังงานแสงอาทิตย์ (35101) ขึ้นเป็นจำนวนมาก คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500 บริษัท บางรายจดทะเบียนรายชื่อบริษัทเดียว บางรายจดทะเบียนในหลาย ๆ ชื่อคล้ายลักษณะเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ มีสถานที่ตั้งบริษัทอยู่ในอาคารเดียวกัน อาทิ

  • บริษัทพลังงานหมุนเวียน (กลาง)
  • บริษัทพลังงานหมุนเวียน(ตะวันออกเฉียงเหนือ)
  • บริษัทพลังงานหมุนเวียนภูมิภาค, บริษัทพลังงานหมุนเวียน (เหนือ)
  • บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนพัฒนา 1
  • บริษัทพลังงานหมุนเวียนก้าวหน้า 1 ถึง 10 รวม 10 บริษัท
  • บริษัทพลังงานหมุนเวียนสยาม
  • บริษัทอีทีอี เอนเนอร์จี 1-10
  • บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนเลย (โครงการ 1-2)
  • บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนชัยภูมิ โครงการ 1-2
  • บริษัทหนองหญ้าไซ ไบโอ พาวเวอร์ 1
  • บริษัทเอ็นพีเอส กรีน 1-10

บริษัทพลังงานชุมชน โพนทอง, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนบุรีรัมย์, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนอำนาจเจริญ, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนสุพรรณบุรี, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนอยุธยา, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนกาฬสินธุ์ โครงการ 1-2, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนยะลาโครงการ 1-2, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนสงขลา โครงการ 1-2, บริษัทแม็กเน็ตทิค คอร์ปอเรชั่น, บริษัทรักษ์ชุมชนไฟฟ้า, บริษัทไบโอไทรทันพาวเวอร์ไฟฟ้า, บริษัทรักษ์ไฟฟ้า, บริษัทอีอีไฟฟ้า, บริษัทโนเบิลไฟฟ้า บริษัทเอ็มเซค พาวเวอร์, บริษัทนครพนมเพื่อชุมชนยั่งยืน 1, บริษัทยโสธรเพื่อชุมชนยั่งยืน 1-3, บริษัทสุรินทร์เพื่อชุมชนยั่งยืน 1, บริษัทอำนาจเจริญเพื่อชุมชนยั่งยืน 1-2, บริษัทมุกดาหารเพื่อชุมชนยั่งยืน 1, บริษัทอุบลเพื่อชุมชนยั่งยืน 1-6, บริษัทกาญจนบุรีเพื่อชุมชนยั่งยืน 1, บริษัทศรีสะเกษเพื่อชุมชนยั่งยืน 1-4, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนหนองหงษ์, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนชุมพวง, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนนาบอน, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนหนองเรือ, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนนครหลวง, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนปราจีนบุรี, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนพนมสารคาม, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนสตึก, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนบางเลน, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนโคกสำโรง, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนน้ำพอง, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนค้อวัง, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนสุรินทร์, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนหล่มสัก, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนทุ่งฝน, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนดอยสะเก็ด, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนศรีสะเกษ, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนปะคา, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนโนนนารายณ์, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนนครราชสีมา, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนบ่อทอง, บริษัทชุมชนโรงไฟฟ้าโนนท่อน, บริษัทชุมชนโรงไฟฟ้าวังหิน, บริษัทชุมชนโรงไฟฟ้าพร้าว, บริษัทชุมชนโรงไฟฟ้าจอมบึง, บริษัทชุมชนโรงไฟฟ้าปักธงชัยพัฒนา, บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนฝาง และบริษัทโรงไฟฟ้าชุมชนเชียงใหม่

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า หลายบริษัทที่ตั้งชื่อซ้ำ ๆ กันหรือตั้งชื่อรายจังหวัดรายอำเภอนั้น อาจเป็นไปได้ว่า เพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขการขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 10 MW ต่อราย

ท้องถิ่นขอเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจำนวน 10 แห่ง จากจังหวัดอุดรธานี-นครราชสีมา-บุรีรัมย์-จันทบุรี ได้ยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้กระทรวงเร่งรัดการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากต่อไป โดยขอให้1) นำแผน PDP 2018 Rev.1 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้เร็วที่สุด

และ 2) สั่งการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศให้มีการยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชน โครงการ Quick Win 100 MW กับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไปที่เหลืออีก 600 MW ตามขั้นตอนต่อไปโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 10 แห่งอยากมีส่วนร่วมในโครงการและเป็นหุ้นส่วนโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการปลูกและจำหน่ายพืชเศรษฐกิจที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าในท้องถิ่น