พาณิชย์จ่อยกร่าง พ.ร.บ. กองทุน FTA

พาณิชย์จ่อยกร่าง พ.ร.บ.กองทุน FTA เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี ตามหลักกฎหมายการบริหารทุนหมุนเวียน เปิดช่องระดมทุนจากเอกชนแทนงบประมาณ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันไทยมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ช่วยให้การค้าและการลงทุนขยายตัว แต่ก็มีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ ซึ่งเดิมกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานต่าง ๆมีโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอยู่แล้วแต่ต้องขอรับเงินจัดสรรงบประมาณประจำปี จากการหารือเบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นด้วยให้จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนที่ไม่ต้องรอรับงบประมาณแต่ต้องยกร่างกฎหมายกองทุนเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุน

ปัจจุบันที่มีกว่า 100 กองทุน ทางกรมบัญชีกลางเสนอให้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกองทุนที่มีในปัจจุบัน สร้างความร่วมมือ กำหนดเงื่อนไขการใช้กองทุน และมีหลายฝ่ายเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์กองทุน เพื่อให้เข้าถึงง่ายและปรับลดระยะเวลาโครงการจาก3-5 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น หลังจากนี้ กรมจะสรุปเสนอกระทรวงพิจารณาภายในปีนี้

นางสาวสุธีรา กิจนาบูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศเงินนอกงบประมาณ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนตามกฎหมายเงินทุนหมุนเวียนนั้นต้องมีที่มาที่ไป และเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนปัจจุบัน และไม่ดำเนินการแข่งขันกับภาคเอกชน สำหรับแหล่งที่มาของเงินกองทุนนั้นจะได้รับจากการจัดสรรจากรัฐบาลหรือไม่ก็ได้ หรือจะระดมจากเอกชนก็สามารถทำได้เช่นกัน

นางชนินทร หริ่มเจริญ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ (กองทุน FTA) จนถึงปัจจุบันได้อนุมัติ 63 โครงการ งบประมาณ 427 ล้านบาท ในปี 2563 ได้รับงบฯ 20 ล้านบาท และปี 2564 ได้งบฯ 15 ล้านบาท

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch กล่าวว่า แนวทางการระดมเงินเข้ากองทุนควรระดมจากภาคเอกชนหรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า หลักเกณฑ์การใช้เงินไม่ใช่เพียงนำมาเยียวยา แต่ควรให้ช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน นอกจากนี้ ควรให้มีตัวแทนภาคเกษตรกร เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมในคณะกรรมการเงินกองทุนเอฟทีเอด้วย

นายวัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันแม่โขง กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนมีทั้งในสหรัฐ สหภาพยุโรป และเกาหลีใต้ โดยจะระดมเงินจากเอกชนเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งแนวทางการที่ใช้เงินกองทุนควรต้องเป็นระยะยาว 2-3 ปีขึ้นไป เพื่อให้เห็นผลประโยชน์ที่แท้จริง