รัฐงบหมด หยุดซื้อหน้ากาก ล้นตลาด-โรงงานลุ้นเปิดขายเสรี

หน้ากากอนามัยล้นตลาด ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายเล็กแห่ลงทุนเพิ่ม 27 โรงงาน กำลังผลิตล้นทะลัก 4.7 ล้านชิ้น/วัน เจอทางตันกรมการค้าภายในแจ้งงบประมาณหมด ตัดยอดรับซื้อตั้งแต่ ก.ค. 63 จากประกาศเดิมบีบโรงงานขายให้รัฐครึ่งต่อครึ่ง ลุ้นคลายล็อกเปิดให้ค้าเสรี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ออกประกาศฉบับที่ 17 ขยายมาตรการควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย มีผลบังคับใช้มิถุนายน 2563-กุมภาพันธ์ 2564 ปรากฏว่าไทยยังมีการส่งออกและนำเข้าหน้ากากอนามัย

ล้นตลาด 4.7 ล้านชิ้น/วัน

โดยล่าสุดตัวเลขกรมศุลกากรระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2563) ไทยส่งออกหน้ากากอนามัย 153,838 กก. มูลค่า 67.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากส่งออก 1,820 กก. มูลค่า 514,794 บาท และส่งออกหน้ากากกรองฝุ่น รวม 6,233,057 กก. มูลค่า 2,335 ล้านบาท ขณะเดียวกันไทยนำเข้าหน้ากากอนามัย 167,101 กก. มูลค่า 335.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 110,074 กก. มูลค่า 12.1 ล้านบาท และหน้ากากกรองฝุ่น รวม 3,385,110 กก. มูลค่า 1,689 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นำเข้า 3,431,155 กก. มูลค่า 1,452.7 ล้านบาท

ทั้งนี้ เกิดปรากฏการณ์หน้ากากอนามัยล้นตลาดทั้งจากการนำเข้าและผู้ผลิตในประเทศ จากเดิมมีเพียง 9 โรงงาน เพิ่มเป็น 27 โรงงาน กำลังการผลิตจาก 1.2 ล้านชิ้น เพิ่มเป็น 4.7 ล้านชิ้น/วัน

นอกจากนี้ มีการผลิตหน้ากากผ้าอีกต่างหาก ส่งผลให้ราคาหน้ากากอนามัยสีเขียวบนออนไลน์ลดเหลือชิ้นละ 2.40 บาท ต่ำกว่าราคาควบคุมชิ้นละ 2.50 บาท หลายโรงงานจึงมีความพยายามเรียกร้องให้กรมการค้าภายในเสนอ กกร. “ยกเลิก” ประกาศควบคุมราคา และปลดล็อกการบังคับโรงงานส่งขายให้รัฐแลกกับการส่งออก เพื่อให้กลับสู่ระบบค้าเสรีต่อไป

จี้ปลดล็อก-เปิดเสรีหน้ากาก

แหล่งข่าวผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทุกโรงงานได้รับแจ้งจากกรมการค้าภายใน (คน.) ว่าไม่มีงบประมาณจัดซื้อหน้ากากในรอบเดือน ก.ค. 2563 ส่งผลกระทบมีผู้ประกอบการยื่นทีโออาร์ไว้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถส่งออกตามออร์เดอร์ได้ เพราะไม่มีผู้อนุมัติ

“อยู่ ๆ ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ให้ส่งของแล้วในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ยังส่งของไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ โดย คน.แจ้งว่าไม่มีงบฯ และก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ทำอย่างไรต่อ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้บังคับให้ผู้ส่งออกแบ่งขายในประเทศ 50%”

อย่างไรก็ดี หลังจากประกาศตัดยอดไปแล้ว กรมการค้าภายใน หรือ คน.ได้แจ้งผู้ประกอบการว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับสู่ภาวะปกติแล้วในประเทศไทย จึงให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เดิมเคยจัดซื้อแจกให้โรงพยาบาลและหน่วยราชการ สามารถจัดซื้อตามกระบวนการปกติ

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ทางกรมการค้าภายในจะมีการแก้ไขประกาศ กกร. เพื่อให้ส่วนต่างที่เกินความต้องการรับซื้อของรัฐสามารถขายให้เอกชนได้ ด้วยการกำหนดราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการ

ส่วนการอนุมัติส่งออก ทางกรมการค้าภายในจะยังคงดูแล แต่จะยุบคณะกรรมการที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อโอนอำนาจกลับไปที่ คน.เหมือนช่วงแรก ตามขั้นตอนจะต้องเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป

“ทาง คน.ยืนยันว่ายังมีความต้องการหน้ากากอยู่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน เพื่อให้กับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกระทรวงมหาดไทยอาจปรับลดเหลือ 1 ล้านชิ้น/วัน และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ อีก 5 แสนชิ้น/วัน ซึ่งกรมจะไปบริหารจัดการกับโรงงานเอง ส่วนที่เกินความต้องการของภาครัฐจะปลดล็อกให้ขายสู่ตลาดได้” แหล่งข่าวกล่าว

อธิบดี กรมการค้าภายในขานรับ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า การกระจายหน้ากากอนามัยปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการโดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเป็นการจัดซื้อโดยรัฐทั้งหมดจากโรงงานผลิต

“ปัจจุบัน คน.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชน หลังจากพบว่าหน้ากากสีเขียวเริ่มมีความเพียงพอและมีปริมาณส่วนเกินจำนวนหนึ่ง”

รพ.เอกชนคอนเฟิร์ม-มีพอใช้

แหล่งข่าวจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปัจจุบันปริมาณหน้ากากอนามัยที่โรงงานผลิตได้มีมากถึง 4.2 ล้านชิ้น จาก 21 โรงงาน เดิมผลิตได้เพียง 6-7 โรงงาน ในจำนวนนี้ถือว่ามีปริมาณมากพอเพราะที่ผ่านมาหน่วยงานหลัก อาทิ กระทรวงสาธารณสุขได้โควตา 1.74 ล้านชิ้น เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลในสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมมือดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และกระทรวงมหาดไทย 1.2 ล้านชิ้น ซึ่งมีการซื้อเพิ่ม 2 แสนชิ้น ในช่วงโรงเรียนเปิดเทอม


อย่างไรก็ตาม สำหรับเดือนสิงหาคม 2563 นี้ เท่าที่ทราบกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ส่งคำสั่งซื้อไปยังองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผู้รวบรวมออร์เดอร์ จึงไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันภาวะกำลังผลิตล้นตลาดทำให้ราคาปรับลงมาอยู่ที่ชิ้นละ 3 บาท จากเดิมโรงพยาบาลซื้อราคา 4.30 บาท แต่ราคาราชการอยู่ที่ 3.50 บาท สูงกว่าราคาควบคุมของคน.ชิ้นละ 2.50 บาท