โรงสีกระเป๋าแฟบ รัฐจ่ายอ่วมประกันราคาข้าว 3,000/ตัน

ข้าวเปลือก
ภาพโดย Kim Loan Nguyen thi จาก Pixabay

รัฐบาลออกสตาร์ต “โครงการประกันรายได้ชาวนา” 2 งวดแรก “ข้าวหอมมะลิ-หอมมะลินอกพื้นที่” ผลผลิตทะลัก โรงสีข้าวขาดสภาพคล่อง ทำราคาตลาดทรุดหนัก ส่งผลรัฐอ่วมจ่ายชดเชยเกษตรกรตันละ 3,000 บาท ด้านชาวนาหวั่นโรงสีไม่มีเงินซื้อข้าว สุดท้ายจำต้องขายข้าวเปลือกให้พ่อค้าคนกลางถูกกดราคาอีก แนะ ธ.ก.ส.เร่งดำเนินโครงการจำนำยุ้งฉางเข้าช่วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานหลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/2564 ในข้าว 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่, ข้าวเปลือกเจ้า,ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-พฤษภาคม 2564 โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 ตุลาคม (ยกเว้นภาคใต้16 มิถุนายน 2563-28 กุมภาพันธ์ 2564)

และจะได้รับ “เงินชดเชย” งวดแรกในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นับจากที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวออกประกาศ “ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง” เทียบกับราคาประกันในทุก ๆ 7 วัน

ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว2 งวด คือ วันที่ 1-8 พฤศจิกายน กับวันที่ 9-16 พฤศจิกายน 2563 ปรากฏว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ (ซึ่งเป็นชนิดข้าวหลัก) จะได้รับเงินชดเชยเฉลี่ยตันละ 3,000 บาท รายละไม่เกิน 14 ตัน

แนวโน้มรัฐจ่ายประกันข้าวอ่วม

จากการติดตามการจ่ายเงินชดเชยจาก “ราคาอ้างอิง” พบว่าคณะอนุกรรมการกำหนดราคาสำหรับเกษตรกรที่จะเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่วันที่ 9-15 พ.ย. 2563 ประกอบด้วย ราคาอ้างอิงข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,003.03 บาท หรือ”ต่ำกว่า” ราคาประกันตันละ 15,000 บาททำให้มีส่วนต่างที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรตันละ 2,996.97 บาท หรือจ่ายเพิ่มขึ้นจากงวดแรก (1-8 พ.ย. 2563) ที่มีส่วนต่างเพียงตันละ 2,911.17 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ราคาอ้างอิงตันละ 11,727.04 บาท หรือ “ต่ำกว่า” ราคาประกันที่กำหนดไว้ที่ตันละ 14,000 บาท ทำให้มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นตันละ 2,272.96 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากงวดแรกที่มีส่วนต่างเพียงตันละ 2,137.45 บาท

ส่วนข้าวเปลือกเจ้า มีราคาอ้างอิงตันละ 8,880.82 บาท หรือ “ต่ำกว่า” ราคาประกันที่กำหนดไว้ตันละ 10,000 บาททำให้มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตันละ 1,119.18 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชยที่ลดลงจากงวดแรกที่มีส่วนต่างตันละ 1,222.36 บาท,ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาอ้างอิงตันละ 9,939.84 บาท หรือ “ต่ำกว่า” ราคาประกันที่กำหนดไว้ตันละ 11,000 บาท

ทำให้มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตันละ 1,060.16 บาท ลดลงจากงวดแรกที่มีส่วนต่างตันละ 1,066.96 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคาอ้างอิงตันละ 10,688.99 บาท หรือ “ต่ำกว่า” ราคาประกัน 12,000 บาท ทำให้มีส่วนต่างตันละ 1,311.01 บาท ลดลงจากงวดแรกที่เคยมีส่วนต่างที่จะต้องจ่ายตันละ 2,084.34 บาท

การจ่ายเงินชดเชยราคาข้าวเปลือกข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ระดับราคาข้าวเปลือกในตลาดสำหรับข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมมะลิจังหวัดนอกพื้นที่ มีราคาอ้างอิง “ต่ำกว่า” ราคาประกันทั้ง 2 งวด ส่งผลให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยราคาข้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับราคาข้าวเปลือกเจ้า-ข้าวเปลือกปทุมธานี-ข้าวเปลือกเหนียว เริ่มมีแนวโน้มราคาในตลาดขยับขึ้น ส่งผลให้เกณฑ์ “ราคาอ้างอิง” ดีขึ้น ทำให้รัฐบาลจ่ายเงินประกันราคาข้าวลดลง

โรงสีขาดสภาพคล่องหนัก

ด้านนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวว่า ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ข้าวเปลือกกำลังอยู่ระหว่างรอรับเงิน “ชดเชยส่วนต่าง” ประกันรายได้งวดที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ โดยการจ่ายงวดนี้คงไม่มีปัญหาอย่างที่ผ่านมา หลังจากที่พบว่ามีการส่งรายชื่อชาวนาและชนิดข้าวที่เข้าร่วมโครงการผิดพลาด ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“เงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวที่ชาวนาจะได้รับงวดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากราคาประกัน เนื่องจากราคาข้าวในตลาดตอนนี้ผมยอมรับว่า ราคาตกลงมาก โดยเฉพาะข้าวเกี่ยวสด ราคาข้าวขาว 5% ราคาตลาดตันละ 7,000-8,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 9,000-10,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 7,000 บาท และข้าวหอมปทุมตันละ 8,000-9,000 บาทเท่านั้น”

ขณะเดียวกัน ชาวนาบางพื้นที่ยังมีปัญหา “ขายข้าวไม่ได้” เนื่องจากโรงสีโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางในจังหวัดปทุมธานี พิษณุโลก สุโขทัย ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง โรงสีในพื้นที่บางแห่งต้องปิดตัวลง ดังนั้น ชาวนาจึงจำเป็นต้องขายข้าวให้กับพ่อค้าคนกลางก็จะถูกกดราคาข้าวอีก

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมเพื่อชะลอผลผลิตข้าวเข้าสู่ตลาด โดยจะจูงใจให้เกษตรกร สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการค้าข้าวทั่วไป “เก็บสต๊อกข้าว” เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพราคาตลาดมีเป้าหมาย 7 ล้านตันข้าวเปลือกผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย1.5 ล้านตัน, โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร-สหกรณ์เสียดอกเบี้ย1% เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ 3% มีเป้าหมาย4 ล้านตัน

หารือแบงก์ช่วยสภาพคล่อง

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายใน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมค้าภายในจังหวัดติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้ฯอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตรวจสอบเรื่องของความชื้น ชั่งตวงวัดการรับซื้อข้าวเพื่อป้องกันปัญหาการถูกโกง รวมไปถึงให้เจ้าหน้าที่ติดตามราคาข้าวและผลผลิตข้าวนาปี 2563/64 ด้วย

พร้อมกันนี้กรมยังได้หารือกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หามาตรการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าวให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกร

โรงสีกัดฟันสู้

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยกล่าวว่า ตอนนี้แม้โรงสีจะประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง แต่เราก็มีการเข้าไปซื้อข้าวต่อเนื่องไม่ได้หยุด ทางกลุ่มโรงสีก็มีผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการคู่ขนานประกันรายได้ที่รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสี 3% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นสมัครเข้าโครงการ เบื้องต้นน่าจะมีจำนวนโรงสีเข้าร่วมโครงการนี้ใกล้เคียงกับปี 2562/63 ที่มีจำนวน 223 ราย

ทั้งปีส่งออกข้าวหลุดเป้า

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการส่งออกข้าวในช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นว่ามีการส่งออกข้าวหอมมะลิเฉลี่ยเดือนละ 150,000 ตัน แต่จากปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้ของเรือขนส่งสินค้าที่เกิดขึ้น ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวลดลง 30% ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จากที่เคยคาดว่าจะส่งออกข้าวได้เฉลี่ยเดือนละ 600,000 ตัน ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิของไทยตอนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 850 เหรียญ/ตัน จากก่อนหน้านี้ที่ขึ้นไปถึงตันละ 1,000 เหรียญ

“แต่มาเจอปัญหาแบบนี้เราก็แข่งขันลำบาก ผมคาดว่าทั้งปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 6 ล้านตัน จากช่วง 9 เดือนแรกที่ส่งออกไปแล้ว 4.04ล้านตัน หรือลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองจากอินเดียที่ส่งออกข้าวได้ประมาณ 9.86 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกได้ 4.99 ล้านตัน” นายชูเกียรติกล่าว