“พาณิชย์” ประสานกรมเจ้าท่าหาตู้เรือ 1,900 ตู้ แก้ขัด

“พาณิชย์” เร่งประสานกรมเจ้าท่า เร่งดึงตู้เรือตกค้างท่าเรือกรุงเทพ-แหลมฉบัง 1,900 ตู้ ช่วยผู้ส่งออก เร่งตรวจสอบสารตกค้างก่อนส่งไม้ต่อเอกชนขนส่งสินค้า คาดสถานการณ์คลี่คลายใน 2 เดือน ตู้ตกค้างที่สหรัฐ 70% ส่งกลับได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพร่วมหารือ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และปัญหาค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ส่งออกภายหลังจากที่ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาตู่คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุหลักเกิดจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออกสินค้ายังคงตกค้างที่ท่าเรือปลายทางสหรัฐ ประมาณ 70% ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 2 เดือน ในการเวียนกลับมายังประเทศที่ส่งออกสินค้า

“ต้องยอมรับว่าการเดินเรือขนส่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นเรือต่างชาติ ซึ่งเดินทางตั้งแต่ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศไทย แล้วออกทะเลแปซิฟิกเพื่อขนส่งสินค้าไปแต่ละประเทศ และด้วยจากปัญหาปัจจุบันและความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้แต่ละประเทศมีความต้องการตู้ที่จะส่งออกและพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่สูง”

ล่าสุดจากการประสานและหารือร่วมกับกรมเจ้าท่า กรมศุลกากร ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ทำให้ทราบว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ยังเหลือค้างที่ท่าเรือกรุงเทพ ประมาณ 1,000 ตู้ และท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 900 ตู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและประสานเจ้าของสินค้าและตรวจสอบตู้ว่ามีสารตกค้าง สารเคมี สินค้าตกค้างที่รอรับหรือรอส่งออกหรือไม่

“สำหรับแนวทางการกระจายตู้ 1,900 ตู้ ดังกล่าวออกไป อยู่ระหว่างประสานรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากไม่สามารถนำตู้ดังกล่าวออกมาได้เลย จำเป็นต้องมีประกาศออกมาด้วย พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการเพื่อจูงใจให้สายเรือนำเข้าตู้เพิ่มขึ้น”

“ซึ่งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้หารือร่วมกรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว พร้อมที่จะชะลอการเก็บค่าใช้จ่ายบางรายการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและต้นทุนของผู้ส่งออก ซึ่งจะมีรายการใดบ้างนั้นอยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการประกาศออกมาเช่นกัน”

นอกจากนี้ ทราบว่าทางกรมเจ้าท่าเตรียมออกประกาศกำหนดช่วงเวลาที่จะให้เรือขนาด 400 เมตร ซึ่งสามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้กว่า 25,000 ตู้ เข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากเดิมที่จะต้องขออนุญาตถึงจะเข้ามาได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาประเทศไทยได้มากขึ้น ส่วนเรือขนาด 300 เมตร ที่บรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณ 10,000 ตู้ ยังสามารถเข้าเทียบท่าได้ปกติ

“เพื่อจูงใจและช่วยเหลือผู้ส่งออกเต็มที่ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการแก้ไขและประกาศข้อบังคับเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออก เพราะมีกฎหมายรองรับและเกี่ยวข้องซึ่งจะดำเนินการในทันทีไม่ได้ ส่วนกรณีผู้ส่งออกที่ถูกปฏิเสธการขนส่งสินค้า ซึ่งหากพิจารณาและมีข้อมูลว่าสายเรือกระทำผิดก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ดำเนินการได้ทันที ซึ่งเพียงผู้ส่งออกร้องเข้ามาที่กรมการค้าภายในได้”