ผนึก 20 องค์กรฟ้องบอร์ดแข่งขันปล่อยควบรวม “ซี.พี.-เทสโก้”

ซีพี ควบรวมเทสโก้

20 องค์กรร่วมทัพมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องศาลปกครองเอาผิดบอร์ดแข่งขันอนุญาตให้ควบรวม ซี.พี.-เทสโก้ ชี้ 3 ประเด็นพิรุธ หวั่นกระทบ 5 จังหวัดถูกฮุบตลาด 100%

นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 20 องค์กรที่จะร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครอง เพื่อยื่นฟ้องอนุกรรมการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ในวันที่ 15 มีนาคม 2564 กรณี กขค.มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง อนุญาตให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมธุรกิจกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด แม้จะแจงว่ามีอำนาจเหนือตลาด แต่ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดและไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งขัดต่อเจตนาของ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560

“การฟ้องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากมติดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาด ทั้งทำให้บริษัทใหญ่ดำเนินการตั้งราคาสินค้าได้เอง เปิดโอกาสให้มีการกักตุนสินค้า แข่งขันได้ยาก และเชื่อว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในอนาคตแน่นอน โดยเฉพาะจากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการระบุว่า มี 5 จังหวัดตัวอย่างที่ผู้ประกอบการรายดังกล่าวเป็นการผูกขาดตลาด 100% หลังควบรวม”

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางทีมกฎหมายตั้งประเด็นการฟ้องร้องไว้ 3 ประเด็น ประกอบด้วย มติบอร์ด เป็นการพิจารณาที่ขัดต่อกฎหมายแข่งขันฯที่ไม่ให้มีการผูกขาดและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม

ส่วนการกำหนดเงื่อนไขควบรวมกิจการนั้นไม่มีเรื่องของปรับโครงสร้างแต่อย่างไร แต่ดูเพียงเรื่องของพฤติกรรมทางการค้า ซึ่งจะทำหรือไม่ทำก็ได้ เหมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทรายใหญ่ และมติที่ออกมาขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่รับผลกระทบ แม้มติที่ออกมาจะไม่ใช่การประกาศการใช้กฎหมายเป็นการทั่วไป แต่เห็นว่ามติดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบ ควรที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ในเยอรมนีมีบริษัทค้าปลีกมีส่วนแบ่งตลาด 24.9% จะซื้อกิจการขนาดเล็กซึ่งมีส่วนแบ่งเพียง 1.1% แต่คณะกรรมการแข่งขันเยอรมนีปฏิเสธการควบรวมกิจการ เพราะเกรงว่าจะมีอำนาจเหนือตลาด หากจะควบรวมได้จะต้องขายกิจการบางส่วนออกไป

ซึ่งตามกฎหมายแข่งขันเยอรมนีกำหนดไม่ให้มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 30% หรือแม้แต่คณะกรรมการแข่งขันในสหรัฐก็กำหนดให้ต้องปรับโครงสร้างของกิจการก่อน ป้องกันการผูกขาด แต่ไทยปล่อยให้บริษัทใหญ่มีอำนาจครอบครองตลาดตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทาง มีส่วนแบ่งในตลาดสูงกว่า 50% โดยไม่ได้มีเงื่อนไขให้ปรับโครงสร้างกิจการ มีเพียงเงื่อนไขพฤติกรรมทางการค้า ที่เปิดช่องทางจะทำตามหรือไม่ก็ได้ มติบอร์ดแข่งขันเหมือนกับการรัฐประหารทางเศรษฐกิจ ทางมูลนิธิสนับสนุนการยื่นฟ้องครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานในการปกป้องผู้บริโภค

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า ก็ต้องรอวันที่มีการยื่นฟ้องในวันดังกล่าว ทาง กขค.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือเต็มที่ เพื่อจะชี้แจงข้อมูลทั้งหมดที่มีมติออกมา