มุมมอง 2 ทายาทเจ้าสัว “ซีพี-ไทยเบฟ” เศรษฐกิจไทยไปต่ออย่างไร ?

ในงานสัมมนา “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 สองทายาทนักธุรกิจตระกูลดัง ได้ให้เกียรติสะท้อนมุมมอง ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้อย่างไร” มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

CP แนะไทยปรับฮวงจุ้ยประเทศ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะไปต่อได้ เราต้องมีศักยภาพการแข่งขันเป็นพื้นฐาน หากไทยยังมีประชากรที่ยากจนก็ยากจะเดินต่อ โดยมีแค่ 3 จังหวัด เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(EEC) เท่านั้น ที่มีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 80% ของ GDP เฉลี่ยต่อหัว 4 หมื่นเหรียญ เทียบเท่ารายได้ประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว

ขณะที่ภาคเหนือ อีสาน ใต้ ยังคงเป็นเกษตรกรมีรายได้น้อย จึงต้องคิดต่อว่า

“จะจัดการความยากจนได้อย่างไร”

ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างยุโรป ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จะจัดการผ่านระบบสหกรณ์ หรือ “วิสาหกิจชุมชน” ขณะที่เกษตรกรไทยเป็นธุรกิจครอบครัว ยังขาดการบริหารจัดการ ขาดเทคโนโลยี ขาดตลาด ขาดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขาดแหล่งทุนที่เหมาะสม

หากบริหารสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนได้ในรูปแบบเอกชน ที่ไม่ใช่แบบราชการ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะแบบราชการไม่กระตือรือร้น

ไทยจะปฏิรูปเกษตรกรรมให้เป็นเอกชน ต้องผลักดัน “เกษตรกร” ให้เป็น “เจ้าของกิจการ” ต้องดึงนวัตกรรมเข้ามา จะส่งผลให้กระโดดจากเกษตรกร 1.0 เป็น 4.0 ภายใต้รูปแบบสหกรณ์ใหม่ หรือ “เซอร์วิส ฟาร์มมิ่ง”

ศุภชัย เจียรวนนท์

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญส่วนนี้เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ “การลงทุน” จากนั้นต้องบริหารจัดการน้ำ ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย

พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานในระดับชุมชน หรือ “ทาวน์ชิป” เพราะการสร้างเมืองหรือตลาดที่ดีจะส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกิดอีก 10 อุตสาหกรรม มาตรฐานคุณภาพชีวิตจะดีขึ้น ไม่เป็นหนี้นอกระบบ ลูกหลานมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีจนถึงมหาวิทยาลัย

“ทุกประเทศปรับตัว ขยับความมั่นคงในชีวิตเป็นพื้นฐาน ถ้าความเหลื่อมล้ำไม่หายไป การเมืองไม่นิ่ง การบริหารประเทศจะช้าไปด้วย ทำให้ไม่มีการแข่งขัน ต่างชาติจะตัดสินใจเร็วกว่าเรา ไทยต้องเปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศ เช่น EEC ที่ดึงดูดทุนและทรัพยากรทั่วโลกมาไทย เราต้องเป็นศูนย์กลางอะไรสักอย่าง เพื่อนำมาซึ่งประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์เรามี automotive และจะไปเป็น EV ในไม่ช้า”

เวียดนามมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ อินโดนีเชียสร้างเมืองใหม่ ไทยมีจุดเด่น คือ EEC ซึ่งไม่พอ เราต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) สร้างแลนด์บริดจ์เส้นทางขนส่งเชื่อมหลายประเทศ ไทยจะเป็นฮับโลจิสติกส์ระดับโลก บวกกับการที่ไทยจะเดินไปสู่ 4.0 ทุกอย่างจะวิ่งมาไทย ทั้งกองทุน เพลเยอร์โลก และเกิด startup จากนั้นไทยจะกลายเป็นเทรดฮับ ไฟแนนซ์เชียลฮับ เทคฮับ R&D ฮับ

ในที่สุดไทยจะเป็นทั้งฮับระดับเอเชียและระดับโลก จากนั้นให้ขยายเชื่อมไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC) เชื่อมต่อไปที่ สปป.ลาว และจีน

ดังนั้น ไทยจะเชื่อมกับอินเดีย-จีน ที่เป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 4 ของโลก ที่มีโอกาสขึ้นเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเปลี่ยนฮวงจุ้ยและปรับภูมิทัศน์ศาสตร์ โดยคำนึงถึงความสมดุล ไม่เอียงไปทางจีนหรืออเมริกา

ไทยต้องดึงอุตสาหกรรมที่เคยโดดเด่นกลับมา เช็กความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม อย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีรายได้ 15-16% ของ GDP

หากไทยยังมี capacity วัคซีนเหลืออยู่ ควรกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ เช่น นักท่องเที่ยวสิงคโปร์มาเที่ยวไทย เราฉีดวัคซีนให้ โดยให้ออกค่าใช้จ่ายเอง โมเดลแบบนี้ รัฐสามารถหรือไม่ เพื่อดึงการท่องเที่ยวกลับมา

รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในอีก 10 ปี เชื่อว่าจะไม่เห็นรถพ่นควันอีกต่อไป เราจะขยับสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐจึงต้องให้สิทธิประโยชน์ เช่น ค่ายรถญี่ปุ่นประกาศปรับนโยบายผลิต EV ค่ายรถอื่นก็ต้องผลิต EV ตาม แน่นอนจะเกิดอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ โรบอต เอไอ คลาวด์ สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น รัฐต้องออกไปดึงการลงทุนเข้ามา

“อุตสาหกรรมที่เคยอ่อนแอหรือเคยแข็งแกร่ง ต้องฉุดออกจากหล่ม ต้องดึงกลับมาให้ได้ อย่างที่เรารู้ว่า แอปเปิลมีแผนผลิตรถยนต์ โดยก้าวข้ามเทคโนโลยีจากมือถือ เราต้องบุกไปเชิญชวนเขา อย่าให้มารอต่อคิวบีโอไอ ถ้าทำได้ส่วนอื่น ๆ ก็จะตามมาแน่นอน”

“ไทยเบฟ” ชี้ประเทศไทยมีโอกาสมหาศาล

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโลกกำลังเอียงมาสู่ทิศตะวันออกหรือภูมิภาคเอเชีย ประชากรทั่วโลกมีอยู่ 7,900 ล้านคน เฉพาะซีกโลกเอเชีย 4,678 ล้านคน หรือ 60% ของประชากรโลก

10-15 ปีที่ผ่านมา เวลาลงทุนเราจะมองแต่ประเทศกลุ่มขนาดใหญ่ ทั้งบริติช คันทรี่, บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย หรือจีน

แต่วันนี้อุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมองไกลขนาดนั้นแล้ว เพราะประเทศไทยมีโอกาสอยู่รอบตัวมหาศาล แต่ต้องทำความเข้าใจ ศึกษาความพร้อม แล้วนำทักษะนั้นมาใช้ประโยชน์

ทั้งองค์ความรู้ (knowledge) และ ทักษะ (skill) เพื่อพัฒนาบุคลากรปรับใช้ในองค์กร เพื่อก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

“ถ้ามองไทยอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เราคงเป็นอาเซียน++ เพราะประชากรไทยมี 68-69 ล้านคน ถือว่าอยู่ในท็อป 20 ของภูมิภาค ซึ่งมีโอกาสในอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอยู่มาก”

เมื่ออุตสาหกรรมโลกเปลี่ยนไป เพราะโควิด-19 และเทคโนโลยี ผู้บริโภคยุคนี้จึงเป็น “สมาร์ทคอมซูเมอร์” ทั้งมีทักษะและใช้เทคโนโลยีเก่งกว่าเทียบกับช่วง 2-3 ปีก่อน ทั้งการใช้จ่าย ช็อปปิ้ง เปรียบเทียบโปรโมชั่น

สอดคล้องกับ digitalization ที่ภาครัฐและแบงก์รัฐพยายามผลักดันให้ประชาชนทุกระดับเข้าถึง “เทคโนโลยี” ในภาคธุรกิจจึงต้องคิดในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ต้องรู้เขารู้เรา ต้องมองโลกมองเรา เพื่อบริหารจัดการตัวเองได้

ขณะที่การผลักดันไทยไปตลาดโลกนั้น เรายังขาดเรื่องการรวมตัวกันเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองหรือไปเป็นทีม เพราะอุตสาหกรรมระดับโลกต้อง pack size แต่อุตสาหกรรมไทยไม่มี ทำให้การขยายตลาดแต่ละครั้งดูไม่ครบ

“อุตสาหกรรมไทยเป็นลักษณะพี่ไปก่อน เดี๋ยวน้องตามไป หรือค่ายนั้นนำร่องก่อน ค่ายนี้ค่อยตาม ทำให้การเจรจาลงทุนกับประเทศที่ไป เรามีอำนาจการต่อรองลดลง”

การก้าวสู่สังคม digitalization ของรัฐสอดคล้องกับนโยบายเครือไทยเบฟที่เน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิ ทั้ง big data ต่อยอดสู่ AI

เรารู้บิ๊กดาต้ามีประโยชน์ แต่ไม่รู้ใช้ยังไง จึงต้องวางแผนใช้งาน IA หรือสถาปัตยกรรมข้อมูลให้เกิดประโยชน์

การทำงานใน “ไทยเบฟ” มีแนวคิด คือ “มองโลก มองเรา จัดการตัวเรา เขย่าโลก” เพราะโอกาสอยู่รอบตัว แต่ต้องทำพื้นที่รอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป

ธุรกิจไทยเบฟวางแผนไปถึง “วิชั่นปี 2050” หรือ 30 ปีนับจากนี้ ประเด็นไม่ใช่เพราะรู้อนาคต แต่วางแผนเตรียม “รับมือ” กับอนาคตมากกว่า

ซึ่งปี 2050 ถ้าอุตสาหกรรมนำหุ่นยนต์มาใช้ 100% เท่ากับปี 2040 สัดส่วนนำหุ่นยนต์มาใช้จะอยู่ที่ 75% ปี 2030 เท่ากับ 50% และปี 2025 ใช้แน่ 25% บริษัทก็มีแผนปรับระบบกำลังแรงงานและลูกทีม (work force) ให้ทันยุคสมัย

“พนักงานหลักหมื่นอาจเหลือไม่กี่พันตำแหน่ง หรือสัดส่วนพนักงานจะหายไป 70% สิ่งที่น่าคิดเราจะสนองนโยบายรัฐในการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้คนของเราได้อย่างไร เราจึงต้อง reskill, upskill และ runskill”

“การทำธุรกิจในยุคโควิดเหมือนการวิ่งแข่งที่ทุกคนกำลังเข้าโค้งกันหมด สปีดจะลดลง เปรียบเหมือนการค้าที่ต้องลดความเร็ว เน้นประคับประคอง เมื่อโควิดผ่านไป คำถามคือใครจะเข้าโค้งได้เนียนกว่ากัน มีกำลังขาออกแรงในแนวทางตรงได้ดีกว่า”

“กำลังขา” ในที่นี่หมายถึง ความรู้ ทักษะ ที่เร่งสปีดได้ดีกว่า เร็วกว่าเป็นลำดับต้น ๆ พอผ่านปี 2565 ธุรกิจกลุ่มนี้จะมีโอกาสอยู่ยาว 5-8 ปี ใครที่อยู่ท้ายก็ต้องเร่งปรับตัวให้แรงในอีก 2 ปีข้างหน้า

โอกาสของภาคธุรกิจที่มองเห็น คือ 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปรับตัวจาก 2.0 สู่การเป็นยานยนต์ไฟฟ้า 2.การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบิน ไม่จำเป็นต้องเป็นฐานการผลิต แต่สามารถปรับตัวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งซ่อมเครื่องบิน รองรับอุตสาหกรรมการบินหลังโควิด นั่นคือโอกาสดีที่จะต่อยอดได้ในอนาคต

เรื่องความยั่งยืนต้องสร้างโอกาสให้เศรษฐกิจฐานราก ผลักดันผ่านคนรุ่นใหม่ หรือลูกหลานชุมชน รัฐวิสาหกิจชุมชน ให้มีประสบการณ์จริงในการเสริมทักษะอาชีพ และต้องทำบัญชีครัวเรือน บัญชีค้าขาย นำเทคโนโลยีกับการขายทั่วโลก เมื่อปี 2559 สินค้า OTOP มีมูลค่า 1.09 แสนล้านบาท เติบโต 3-4% ทุกปี แต่มาถดถอย 5-6 ปีให้หลัง

แม้จะถดถอยอย่างไร แต่เศรษฐกิจฐานรากก็โตต่อเนื่องจนมูลค่าทะลุ 2.5 แสนล้านบาท นี่คือตัวเลขสะท้อนรายได้ชุมชน แม้สัดส่วนไม่ถึง 2% ของ GDP ที่มีมูลค่า 16 ล้านล้านบาท

“การสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยพื้นฐานการผลิตกับความหลากหลายของสินค้า (productivity) คือโอกาสที่ดีของเศรษฐกิจฐานรากในการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นห่วงโซ่การเกษตรสู่การท่องเที่ยวชุมชนที่กำลังเติบโตอย่างมีนัย”