ประยุทธ์ จี้เกษตรสกัด “โรคลัมปี สกิน” หวั่นกระทบอุตสาหกรรม

นายกฯ จี้กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด “โรคลัมปี สกิน” มนัญญา กำชับ อ.ส.ค. ทุกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมเฝ้าไม่ให้กระทบอุตสาหกรรมโคนมประเทศ ด้าน รมช.ประภัตร ชี้สกลนครระบาดมากสุด ย้ำจัดสรรวัคซีนเพียงพอ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังเป็นประธานพิธีเปิด “โครงการรณรงค์ป้องกันโรคลัมปี สกิน” (Lumpy Skin Disease) ฟาร์มโคนมประสิทธิภาพสูง องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ที่ยังวิกฤตหนักในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือทั่วประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อสถานการณ์อย่างมาก และกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตนในฐานะกำกับดูแล อ.ส.ค. มีความห่วงใยต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบให้กับสหกรณ์ทั่วประเทศ

ซึ่งปัจจุบัน อ.ส.ค. มีสมาชิกส่งน้ำนมดิบให้กับ อ.ส.ค. ทั่วประเทศจำนวน 5,952 ราย มีจำนวนโครวม 174,658 ตัว ส่งน้ำนมดิบให้ อ.ส.ค.ประมาณ 874 ตัน/วัน โดยพื้นที่ภาคกลางมีสหกรณ์โคนมที่ส่งน้ำนมดิบมากที่สุดคือ จำนวน 15 สหกรณ์ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 2,380 ราย และจำนวนโคนม 65,863 ตัว จึงได้สั่งการให้ อ.ส.ค.เฝ้าระวังโรคในพื้นที่พร้อมติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด และให้รายงานสถานการณ์ให้ทราบอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

“ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศประมาณ 11,393 ครอบครัว จำนวนโคทั้งหมด 427,311 ตัว หากไม่เร่งยับยั้งการระบาดในพื้นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อาจส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนมของประเทศในอนาคตได้”

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือไม่ให้มีการลักลอบเคลื่อนย้ายโค กระบือ ที่เป็นโรค ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม หากโคนมติดโรคอาจทำให้น้ำนมลดลง กระทบรายได้ ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับเกษตรกร และเชื่อมั่นว่าสามารถยับยั้งการระบาดของโรคได้

โดย รมว.เกษตรฯ ได้เร่งนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ลอตแรก 60,000 โดส แล้ว นอกจากนี้ตนเตรียมลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และอำนาจเจริญ เพื่อติดตามสถานการณ์และมอบสิ่งของเวชภัณฑ์/ยาฆ่าแมลง ให้กับผู้เลี้ยงโคนม

ด้าน นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า ปัจจุบัน อ.ส.ค. มีสหกรณ์และศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค.ทุกภูมิภาคจำนวน 52 แห่ง ปริมาณน้ำนมดิบ แยกเป็นพื้นที่ภาคกลางจำนวน 15 สหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 สหกรณ์ ภาคใต้ 8 สหกรณ์ ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) 3 สหกรณ์และภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย) จำนวน 16 สหกรณ์ ซึ่งทั้งหมดจะส่งน้ำนมดิบสำหรับป้อนกำลังผลิตผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค เพื่อจำหน่ายในรูปแบบนมพาณิชย์และนมโรงเรียนประมาณวันละ 600-800 ตัน/วัน

ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปี สกิน ที่ส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ ทำให้ อ.ส.ค. กำชับเจ้าหน้าที่กวดขันและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาในพื้นที่การเลี้ยงโคนมของ อ.ส.ค.อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมนมของประเทศ รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมโคนมของ อ.ส.ค. ในอนาคตด้วย

ด้าน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เรื่องของวัคซีนที่จะมาถึง 60,000 โดส จะถูกจัดสรรโดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน เป็นผู้พิจารณา ขอให้เกษตรกรอย่ากังวล แต่ในขณะนี้การระบาดของโรคเกิดขึ้นที่สกลนครมากที่สุด ซึ่งการระบาดมีแมลงและยุงเป็นพาหะ

ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเร่งทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเชิงรุก ให้เกษตรกรทราบถึงวิธีการป้องกัน วิธีการดูแลสัตว์ในสถานการณ์การระบาดของโรค และวิธีสังเกตอาการของสัตว์ที่ป่วยอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อคลายความกังวลของเกษตรกรต่อโรคระบาดนี้ และขอยืนยัน โรคลัมปี สกิน โค-กระบือ เป็นแล้วรักษาหาย เนื้อทานได้ ไม่ติดต่อสู่คน