โศกนาฏกรรม ‘หมิงตี้’ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ในวงล้อมชุมชน

เหตุระเบิดของถังเก็บสารเคมี สไตรีนโมโนเมอร์ (CO) ของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล (Ming Dih Chemical) 1 ใน 2 ผู้ผลิตเม็ดโฟม EPS หรือ Expendable Polystyrene รายใหญ่ของประเทศ ตั้งโรงงานอยู่ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ 2,068 ตร.ม. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิต-ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่แล้ว เหตุการณ์นี้สะท้อนกระบวนการตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงาน-ความปลอดภัย และกฎหมายควบคุมโรงงานอันตราย เมื่อโรงงานกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน

โรงงานประเภท 3

บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในเครือ Ming Dih Group ไต้หวัน ได้เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนมิถุนายน 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท แจ้งประเภทธุรกิจผลิตเม็ดโฟม กำลังการผลิต 36,000 ตัน/ปี มีผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย บริษัทเอเวอร์แกรนด์ (48.1429%) สัญชาติบริติชเวอร์จิ้น, นายเจิ้นเหวย หง (21.8571%) , นายฉงหาว หง (21.8571%) และนายหมิง อี้ หง (8.1429%) ผลประกอบการปีล่าสุด (2562) กำไรสุทธิ 21,106,167 บาท

จากการตรวจสอบข้อมูลการตั้งโรงงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทหมิงตี้ฯ ได้ยื่นเรื่องขอตั้งโรงงานในปี 2532 ด้วยเงินลงทุน 23 ล้านบาท เป็นส่วนของอาคารโรงงาน 1,100 ตร.ม. ขนาด 11,498 แรงม้า และได้รับ “ใบอนุญาต” เป็นโรงงานจำพวก 3 ประเภทโรงงานหลัก : 60 (หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับถลุง ผสมทำให้บริสุทธิ์ หลอม หล่อ รีด ดึง หรือผลิตโลหะในขั้นต้น ซึ่งมิใช่เหล็กหรือเหล็กกล้า Non-ferrous Metal Basic Industries) และประเภทโรงงานรอง : 44 (หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก หรือเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งมิใช่ใยแก้ว) เริ่มประกอบกิจการในวันที่ 21 พฤษภาคม 2534

ทั้งนี้ คำจำกัดความของการเป็น โรงงานประเภทที่ 3 ก็คือ โรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และ/หรือมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มี “มลพิษ” ดังนั้นจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้ สำหรับหลักเกณฑ์การตั้งโรงงานจำพวกที่ 3 ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ประกอบไปด้วย

1) ห้ามใกล้บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย 2) ห้ามตั้งภายในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา, วัดหรือศาสนสถาน, โรงพยาบาล, โบราณสถาน และสถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และให้หมายความรวมถึง แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยโรงงานจะต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรม ตามขนาดและประเภทหรือชนิดของโรงงาน โดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตราย เหตุรำคาญ หรือความเสียหาย ต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย

ในกรณีที่โรงงานมี “ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย” เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด วัตถุเคมี หรือของเหลวอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีขนาดของภาชนะบรรจุตั้งแต่ 25,000 ลิตรขึ้นไป ต้องมั่นคงแข็งแรง เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องสร้างเขื่อน หรือกำแพงคอนกรีตโดยรอบ ให้มีขนาดที่สามารถจะกักเก็บปริมาณของวัตถุดังกล่าวได้ทั้งหมด

เว้นแต่กรณีที่มีภาชนะบรรจุมากกว่า 1 ถัง ให้สร้างเขื่อนที่สามารถเก็บกักวัตถุอันตรายนั้น เท่ากับปริมาตรของถังเก็บขนาดใหญ่ที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของวัตถุที่บรรจุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีเมื่อเกิดวิบัติแก่ภาชนะดังกล่าว และต้องจัดให้มีวัตถุหรือเคมีภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการระงับ หรือลดความรุนแรงของการแพร่กระจายได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ ในกรณีที่ภาชนะบรรจุนั้นตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้องมีสายล่อฟ้าให้เป็นไปตามหลักวิชาการและภาชนะบรรจุที่อาจเกิดประจุไฟฟ้าสถิตได้ในตัว ต้องต่อสายดิน

ต่อมาในปี 2551 ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องจัดทำ “รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)” โดยล่าสุดได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (2563) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2563 โดยให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ว่าจะเกิดจากการผลิต การครอบครอง หรือการใช้ หรือเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ต้องจัดทำรายงานข้อมูล ดังต่อไปนี้

1) ปริมาณการผลิต การครอบครอง และการใช้สารมลพิษหรือสารเคมี 2) การเคลื่อนย้ายสารมลพิษหรือสารเคมีออกนอกโรงงาน 3) ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อควบคุมการปลดปล่อยสารมลพิษหรือสารเคมี 4) คุณลักษณะเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 5) การตรวจสอบประสิทธิภาพระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ 6) การปลดปล่อยสารมลพิษหรือสารเคมีและการตรวจสอบสภาพแวดล้อม 7) ข้อมูลอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด

หมิงตี้ฯเกิดก่อนชุมชน

เฉพาะกรณีของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล พบว่ามีการขออนุญาตตั้งโรงงานมาตั้งแต่ปี 2532 หรือก่อน พ.ร.บ.โรงงาน ที่ออกในปี 2535 และก่อนการประกาศผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2544 ที่กำหนดให้พื้นที่บริเวณซอยกิ่งแก้ว และใกล้เคียงป็น “พื้นที่สีม่วง” หรือเขตอุตสาหกรรม แต่แวดล้อมไปด้วย “พื้นที่สีแดง” หรือย่านพาณิชยกรรม ส่งผลให้บริเวณรอบ ๆ โรงงานหมิงตี้ฯเกิดเป็นชุมชนที่พักอาศัยขึ้นมาในภายหลัง โดยไม่มี “เขตพื้นที่สีเขียว” ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือที่โล่ง เข้ามาคั่นระหว่างตัวโรงงานที่เป็นสถานที่เก็บสารเคมีอันตรายกับชุมชนแต่อย่างใด ดังนั้นเหตุเกิดเหตุการณ์ระเบิดไฟไหม้ในโรงงานจึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่

สอดคล้องกับความเห็นของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โรงงานนี้ตั้งมากว่า 30 ปีแล้ว สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมาย EIA แต่ไม่แน่ใจว่าหลังมีกฎหมายแล้ว โรงงานได้มีการทำ EIA เพิ่มเติมหรือไม่ ต้องขอไปหาข้อมูล ประกอบกับไปดูกฎหมายผังเมืองกับกระทรวงมหาดไทย ทราบมาว่า พื้นที่ที่ตั้งของโรงงานอยู่ในพื้นที่สีแดง ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ “หลายคนสงสัยว่า ทำไมโรงงานไปตั้งในชุมชน จึงต้องมาตรวจสอบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือโซนที่อยู่อาศัย เพราะการที่มีโรงงานกับบ้านพักติดกัน เป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ โรงงานตั้งมาก่อนชุมชน หรือที่ชุมชนกระจายไปจนติดโรงงาน คงต้องดูผังเมือง” นายวราวุธกล่าว

ทั้งนี้ หากโรงงานหมิงตี้ฯจะต้องจัดทำรายงาน EIA ก็จะต้องเป็นหลังปี 2551 ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ต้องจัดทำ EIA และหลังจากปี 2563 จึงมีประกาศออกมาให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมี จัดทำ “รายงานข้อมูล” ตามที่กำหนด แต่ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ในโรงงานประเภท 44 ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนต้องย้ายโรงงานออกไป

ดังนั้น ในกรณีของโรงงานหมิงตี้ฯ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า จะเร่งแก้ปัญหาและดำเนินการตามกฎหมายกับโรงงานบริษัทหมิงตี้ฯต่อไป “ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และจะสั่งปิดโรงงานโดยเร็วที่สุด”

IRPC เข้มความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า โรงงานที่มีมลพิษ ภาชนะเก็บกักสารเคมีอันตรายหรือสารที่มีมลพิษ ประเภทที่ 44 นอกจากโรงงานของบริษัทหมิงตี้ฯแล้ว ยังมีโรงงานของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ที่ผลิตเม็ดพลาสติกชนิด EPS กำลังผลิต 80,000 ตัน/ปี ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง อีกแห่งหนึ่ง โดยข้อแตกต่างระหว่าง 2 โรงงานนี้ก็คือ โรงงานหมิงตี้ฯ ตั้งอยู่กลางพื้นที่พักอาศัย และถูกชุมชนล้อมรอบ แต่โรงงานของบริษัทไออาร์พีซีอยู่ใน “เขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC” ที่สามารถบริหารจัดการความปลอดภัยและดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า

โดยบริษัท ไออาร์พีซี ได้ออกแถลงการณ์ทันที มีโรงงานผลิต EPS ใช้เทคโนโลยีของ Sunpor (Austria) มีการทำรายงาน EIA ในปี 2559 และได้รับมาตรฐานความปลอดภัย ISO 45001 มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 นอกจากนี้ บริษัทยังมีการฝึกอบรมความปลอดภัยและระงับเหตุ มีการซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทั้งภายในโรงงานและชุมชนใกล้เคียงตามแผนอพยพ โดยมีศูนย์ควบคุมภาวะฉุกเฉิกที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า เป็นบทเรียนในการพยายามผลักดันให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green Factory สรุปโดยคร่าว ๆ จะเห็นว่า โรงงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาในอดีตได้พยายามตั้งห่างไกลชุมชน แต่ด้วยความเจริญก็เริ่มมีที่พัก ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานมากขึ้น จึงต้องกลับมาดูในเรื่องผังเมือง การขีดเส้นพื้นที่ผังเมือง สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ การทำให้โรงงานขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือ SMEs ต้องเข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรม เพราะมาตรฐานของนิคมจะห้ามสร้างที่พัก ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้เคียง และจะมีการควบคุมกำกับดูแลด้านสิ่งเเวดล้อมอย่างเข้มงวด

“บทเรียนวันนี้เมื่อหลายโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลต้องกลับมามองมาตรการจูงใจให้โรงงานทุกขนาดสามารถเข้าไปตั้งอยู่ในนิคมให้มีระบบความปลอดภัย กรณีโรงงานนี้มองว่า ถ้าได้รับการลดหย่อนภาษีที่ดิน ลดหย่อนค่าธรรมเนียม และภาษีเงินได้จากการขายที่ดินแปลงนั้น ก็สามารถจูงใจให้โรงงานเหล่านี้ย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมได้ จะสามารถช่วยให้จัดระเบียบโรงงานได้มากขึ้น เพราะหลายโรงงานไม่อยากย้าย เนื่องจากราคาแพง อาทิ มาตรการด้านภาษีเพื่อดึงดูดให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green Factory ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 6,000 โรงงาน แต่มาตรฐาน Eco อยู่ในระดับมาตรฐานขั้นสูงมาก มีอยู่แค่ 300 โรงงานเท่านั้น” นายสุพันธุ์กล่าว

โรงกลั่นบางจากเตรียมแผนเซฟชุมชน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการวางมาตรการเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงงาน ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งชุมชนว่า ในส่วนของโรงกลั่นบางจากอยู่ใกล้แหล่งชุมชน ทางบริษัทให้ความสำคัญต่อการวางมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างมาก โดยในแต่ละปีมีการฝึกอบรมพนักงานและซักซ้อม เพื่อเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉิน ปีละ 130-140 ครั้ง หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ตามมาตรฐานสากล

“ส่วนในกรณีที่มีการมองว่าโรงงานควรย้ายออกจากชุมชน นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา อีกมุมหนึ่งโรงงานเข้ามาตั้งในพื้นที่นี้ก่อนที่จะมีการขยายชุมชนตามมา ซึ่งต้องยอมรับว่าการขยายชุมชนเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกกับการใช้ชีวิตและการเดินทางของพนักงานด้วย”