สภาอุตฯเผยแรงงานต่างด้าวตกสำรวจอีก6-7แสนคน ชี้กม.ไม่เอื้อเมื่อไหร่แรงงานเถื่อนทะลักอีก

แฟ้มภาพประกอบ

วันที่ 11 พ.ย. 2560 เวลา 13.45 น. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทยครั้งที่ 12 (Thammasat Economic Focus-TEF12) หัวข้อ “เเรงงานต่างด้าว ช่วยจริงหรือวุ่นวาย” ที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

สภาอุตฯเผย มีแรงงานต่างด้าวตกสำรวจอีก 6-7 แสนคน

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย มองว่า สถานการณ์เเรงงานต่างด้าวในปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่เรื่องของจำนวน เเต่เป็นเรื่องของภาคเเรงงาน โดยเฉพาะเเรงงานประเทศไทย ขณะนี้เรามีเเรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกว่า 3,750,000 คน เเละยังมีเเรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้สำรวจอีกกว่า 6-7 เเสนคน โดยเเรงงานไทยในปัจจุบันไม่ทำงานประเภทเสี่ยงอันตราย สกปรก เช่น ประมง จำเป็นต้องใช้เเรงงานต่างด้าวเข้ามาทำจำนวนสูงมาก

“ในส่วนของภาคเอกชน หากถามว่าเราต้องการใช้เเรงงานต่างด้าวหรือไม่ จริงเเล้วไม่มีใครอยากใช้เเรงงานต่างด้าว เเรงงานต่างด้าวที่ทำงานเปิดเผยเข้ามาอย่างถูกกฎหมายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน เฉลี่ยคนละเกือบ 2 หมื่นบาท การที่มีคนบอกว่าใช้เเรงงานต่างด้าวเเล้วต้นทุนถูกลงนั้น ไม่เป็นความจริง เเต่ด้วยความจำเป็นก็ต้องใช้เพราะเเรงงานไทยไม่ทำ” นายสุชาติกล่าว

สำหรับการเปิดกว้างให้มีการใช้เเรงงานต่างด้าวมากขึ้นหรือไม่นั้น นายสุชาติ กล่าวว่า ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เเรงงานมากก็ต้องใช้ หากกฎหมายไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการนำเข้าเเรงงานต่างด้าวเมื่อไร ก็จะมีปัญหาการลักลอบนำเเรงงานต่างด้าวเข้ามา

เปรียบปัญหาแรงงานต่างด้าวเหมือน “ขนมชั้น” ยังไม่เป็นระบบ

ด้านผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาเเละทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปรียบเทียบปัญหาเเรงงานต่างด้าวก็เหมือนกับ “ขนมชั้น” เพราะมีประเภทของเเรงงานต่างด้าวหลายรูปแบบ หากไปถามเจ้าหน้าที่บางครั้งก็ยังตอบไม่ได้ นั่นทำให้การตรวจสอบเเละการออกมาตรการ one size fit all มีปัญหา โดยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเเรงงานต่างด้าว (ก.ย.2560) โดยกรมการจัดหางาน พบว่า เเรงงานประเภททั่วไปมีทั้งสิ้น 103,132 คน, นำเข้าตาม MOU 500,440 คน, พิสูจน์สัญชาติ 1,062,829 คน, ตามฤดูกาล 18,646 คน, ชนกลุ่มน้อย 58,663 คน, ส่งเสริมการลงทุน 45,013 คน เเละยังมีเเบบผิดกฎหมายที่ยังไม่ทราบตัวเลขที่เเน่ชัด

จำนวนเเรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจำเเนกตามการเข้าประเทศ (กุมภาพันธ์ 2560) พบว่ามีเเรงงานต่างด้าวทั้งหมด 2,711,439 คน โดยมีเเรงงานกึ่งฝีมือ/ฝีมือ รวม 149,721 คน เเละเเรงงานฝีมือต่ำ/ไร้ฝีมือจำนวน 2,561,718 คน ทั้งนี้เเนวโน้มสถานการณ์เเรงงานต่างด้าว (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ตั้งเเต่ปี 2540-2560 เเม้จะมีตัวเลขที่ขึ้นๆลงๆ เพราะความไม่เเน่นอนของนโยบายไทย เเต่อัตราการจ้างเเรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นตลอด

แนะงานที่อันตราย-สกปรก ควรปรับเพิ่มค่าตอบแทนจูงใจแรงงานไทย

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า เเรงงานต่างด้าวจะทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ บรรเทาผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ เเละปัญหาการเลือกงานของคนไทย ทั้งนี้เกิดคำถามที่ว่าเเรงงานต่างด้าวเเย่งอาชีพคนไทย อาทิ งานบางอย่างอาจอันตราย สกปรก คนในอเมริกาทำเนื่องจากมีค่าตอบเเทนที่สูง เเต่ในเมืองไทยไม่ได้เกิดเเบบนั้น

“งานบางงานคนไทยไม่ทำ ถูกตีค่าว่าเป็นงานราคาถูก มีทัศนคติว่าต้องใช้ต่างด้าวทำ เเต่การทำเเบบนั้นคือการเอาต่างด้าวราคาถูกมาทำงานนั่นเอง”นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ในส่วนของต้นทุน ทั้งทางตรงเเละทางอ้อม ภาพธุรกิจอาจะใช้เเรงงานที่ถูกลงจากการมีเเรงงานต่างด้าว เราชอบพูดกันว่า เเรงงานต่างด้าวมาใช้สวัสดิการของบ้านเรา ถามว่าจริงไหม มันคือความจริง เเต่เขาต้องจ่ายภาษีเช่นเดียวกับเเรงงานไทย เเต่ไม่ได้อยู่ในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล

ส่วนการเข้ามาทำงานเเบบถูกกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเเรงงาน นายจ้างจะต้องพาเขาไปเข้าสู่ระบบประกันสังคม เเต่จะถูกหักเงินเดือนเข้าประกันสังคม ซึ่งทำให้เเรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนงานไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ การเสียชีวิต การรักษาพยาบาล เเต่เขาก็มีบางข้อที่ไม่ได้รับ เช่น ชราภาพ ที่ระบุว่าเมื่อทำงานจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

กรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งเเต่ 23 มิ.ย. 2560 นั้น ผศ.ดร.ศุภชัย มองว่า สาระสำคัญของพรก.นี้คือการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปอย่างมีระบบ เเละมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศเเละการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งผลกระทบเชิงสังคมด้านบวกคือ เเสดงให้เห็นถึงการเเก้ปัญหาการค้ามนุษย์เเละการป้องปรามการค้ามนุษ์ที่เป็นธรรมมากขึ้น การรวมกฎหมายดังกล่าวยังทำให้เกิดการบูรณาการเพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านลบคือ ขาดการประเมินผลกระทบ รวมถึงการสื่อสารที่ไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลต่อการตื่นตระหนกของนายจ้างเเละเเรงงาน

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น หากเกิดผลกระทบขึ้นจริงๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะชะงักไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก เพราะเชื่อว่าเหตุการ์ดังกล่าวจะอยู่เพียงระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเเรงงานต่างด้าวกลับไปทำเอกสารที่ประเทศตนเรียบร้อยก็น่าจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทยอย่างปกติ”ผศ.ดร.ศุภชัยกล่าว และว่า ความล่าช้าของระบบการขออนุญาต ที่พอนายจ้างพาเเรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนต้องใช้เวลา จึงควรลดเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนลง

ตอกย้ำใช้แรงงานต่างด้าว เพราะแรงงานไทยไม่ทำงานสกปรก-งานอันตราย-งานแสนลำบาก

ขณะที่ รศ.ดร.ยงยุทธ เเฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเเรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เเละการเปลี่ยนเเปลงที่สำคัญในปัจจุบันคือ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนเเปลงไป มีผู้สูงอายุมากขึ้น วัยเเรงงานลดลง ทำให้ขาดเเคลนเเรงงานในประเทศ เเต่เศรษฐกิจยังใช้เเรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะเเรงงานที่ทักษะน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการกล่าวในเรื่องเเรงงานไทยไม่ทำงาน 3D คืองานสกปรก (Dirty), งานอันตราย (Dangerous) เเละงานเเสนลำบาก (Difficult) ส่งผลให้เเรงงานต่างด้าวเข้ามาทดเเทนเเรงงานไทยเพิ่มขึ้น ทั้งที่ถูกกฎหมายเเละผิดกฎหมาย เพราะพวกเขายอมทำงานเหล่านี้

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ในอดีตจะเห็นปัญหาการกำกับดูเเลเเรงงานต่างด้าวไม่สามารถเเก้ปัญหาได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากงบประมาณที่จำกัดเเละไม่มีอำนาจในการตัดสินใจนโยบายที่เเท้จริง มีความล้มเหลวในเรื่องระบบการลงทะเบียนเมื่อปี 2554 อีกทั้งความไม่ต่อเนื่องของนโยบายการรับลงทะเบียน ความไม่เเน่นอน วิธีเเละเอกสารที่ไม่เเน่ชัด ขาดการบังคับใช้ที่จริงจัง ทำให้เกิดการทุจริตในที่สุด

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึง พ.ร.ก.การการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวมีทั้งข้อดีเเละข้อเสีย ข้อดีคือจะมีระบบนายจ้างมีสัญญาต่อลูกจ้าง หากลูกจ้างเปลี่ยนนายจ้างต้องทำเรื่องภายใน 5 วัน ถือเป็นการหยุดการจ้างงานเเบบผิดกฎหมาย รวมถึงการค้ามนุษย์เเรงงาน ส่วนเเผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเเรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560-2564 นั้นจะต้องจัดหาเเรงงานต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ ลดจำนวนเเรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบทางลบต่อคนไทย พัฒนาให้เกิดการคุ้มครองเเรงงานต่างด้าวให้ได้มาตรฐานสากล จัดให้มีองค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อการบริหารจัดการเเรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงดำเนินการติดตามเเละประมวลผลการปฏิบัติงานทั้งระบบให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด นำไปสู่การรับรองอนุสัญญาองค์การเเรงงานระหว่างประเทศ