แนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

น้ำ

ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมเป็นเรื่องที่หมุนเวียนมาทุกปีไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดเข้ามาบริหารก็ไม่สามารถหาโซลูชั่นที่ลงตัวได้จนปัญหานี้เรื้อรังกระทบทั้งภาคเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม และบริการ นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ

ล่าสุด สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 รับทราบผลสรุป รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน : การบริหารและการจัดการภาวะแล้ง ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

สาระสำคัญของรายงานสรุปได้ 3 ด้าน กล่าวคือ 1.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งทาง สทนช.ได้จัดทำแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2559-2565 แผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/2564 และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำ แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และภาวะน้ำท่วม

พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยได้มีการกำหนดกลยุทธ์การจัดการความต้องการ (เกษตร อุตสาหกรรม) และแผนจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชทั้งฤดูแล้งและฤดูฝนให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน กำหนดกลไกและจัดทำคู่มือให้เกิดการจัดทำแผนงานบูรณาการการพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีปัญหาจากการดำเนินการทั้งเรื่องการจัดทำแผนและจัดการภัยแล้งเชิงพื้นที่ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลนอกเขตชลประทานในระดับพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน การใช้น้ำและเพาะปลูกพืชไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงไม่สามารถควบคุมแผนการจัดสรรน้ำได้ เป็นต้น จึงควรประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้น้ำ กำหนดมาตรการควบคุมการใช้น้ำส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ และใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุม

2.ข้อเสนอแนะเชิงบริหารจัดการ ซึ่ง สทนช.เตรียมแผนการจัดการเตรียมพร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อปรับตัวต่อภัยแล้ง โดยจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ และคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในภาวะวิกฤต

และมีการพัฒนาและบูรณาการระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำ (big data) ด้านการจัดหา มีการเผยแพร่แผนที่น้ำใต้ดิน จัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำ ด้านอุปสงค์ (demand) จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ส่งเสริมกระบวนการบำบัดน้ำเสียมาใช้ประโยชน์

ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบประเด็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลเชิงสถิติมีความคลาดเคลื่อนส่งผลต่อการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ ขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่บูรณาการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขาดงบประมาณและเกิดการต่อต้านการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากภาคประชาชนในการบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

จึงควรปรับปรุงการคาดการณ์พยากรณ์ โดยอาศัยปัจจัยด้านพื้นที่มาวิเคราะห์บูรณาการกำหนดแผนผ่านกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และต้องเร่งโครงการบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่

สุดท้าย 3.ข้อเสนอแนะเชิงการขับเคลื่อน สร้าง Thailand team ซึ่งมีกลไกอยู่ 2 ระดับ ได้แก่

1) ระดับประเทศ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดทำ กำกับและขับเคลื่อน นโยบายการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ

และ 2) ระดับพื้นที่ ได้แก่ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำทำหน้าที่จัดทำ กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ แต่ยังไม่มีอำนาจผลักดันแผนงานในพื้นที่ได้ทั้งหมด

จึง “ควร” ผลักดันให้มีการจัดทำแผนแม่บท/แผนปฏิบัติการลุ่มน้ำ เพื่อเป็นกรอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีผ่านกลไกดังกล่าว