“IRPC-ดาว” ปรับตัวสู้โลกร้อน ชูเทคโนโลยีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

“IRPC-ดาว” อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันไทยตื่นตัวปัญหาสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง มุ่งใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพลดการปล่อยมลพิษและลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อน 

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) ได้จัดสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Sustainable Refinery Trend and Technology” โดยมีตัวแทนจากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านแมททีเรียลส์ ไซแอนซ์ (Materials Science)  และมีผู้แทนจากบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) มาร่วมแชร์ประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม

นายวิชาญ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวต่อผู้ร่วมสัมมนา ว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกตื่นตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change โดยหลายประเทศตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในปี 2050 เพื่อผลักดันเป้าหมายการรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ให้เป็นผลสำเร็จ 

เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ทิศทางของโลกจึงมุ่งเน้นไปยังการพัฒนาพลังงานสะอาดและลดการใช้พลังงานลง อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้ในขณะนี้ ดังนั้น ทางออก คือ “ทำอย่างไรให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วย”

นายวิชาญชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญๆ ของอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน 6 ประการในปัจจุบัน คือ 1. มีการปรับปรุงเพิ่มอัตราการใช้งานของเครื่องจักรการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดในการผลิต 

2. แหล่งน้ำมันดิบที่มีคุณภาพมีจำนวนลดลง จึงต้องหันมาใช้น้ำมันดิบจากแหล่งที่มีปริมาณกำมะถันเจือปนมากขึ้น 

3. ปัจจุบันมีการออกมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในกำหนดค่าปริมาณกำมะถัน ในผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆ เช่น ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำหรับเรือเดินสมุทรที่กำหนดโดย International Maritime Organization (IMO) 4. การกำหนดมาตรฐานปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และอนุพันธ์ของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้มงวดขึ้น

5. มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน และ 6. การลดการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ดังนั้น สิ่งที่โรงกลั่นน้ำมันต้องการในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยลดการใช้พลังงานลงให้ได้มากที่สุด ลดความจำเป็นในการหยุดเดินเครื่องนอกแผน ลดปัญหาเช่นการการกัดกร่อน ซึ่งจะช่วยยืดอายุการทำงานของโรงกลั่นและลดระยะเวลาการซ่อมบำรุงให้น้อยลง โดยที่ไม่ต้องเพิ่มเม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันต้องช่วยดักจับก๊าซต่างๆ จากกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม” 

ล่าสุดกลุ่มโรงกลั่น ดาว จึงได้คิดค้นสาร UCARSOL (ยูคาซอล) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด เพื่อดักจับก๊าซพิษที่ถูกปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้า และโรงงานปุ๋ย เพื่อแก้ปัญหาที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงกลั่น ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดการใช้พลังงานในระบบการผลิต

นาย Chee Pin San หัวหน้าฝ่ายเทคนิคส่วนพลังงานประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค และ นายวิชัย ศรีประเสริฐการค้า ผู้จัดการฝ่ายดูแลลูกค้าของส่วนธุรกิจ ดาว อินดัสเทรียล โซลูชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันมี 1,500 องค์กรทั่วโลกที่เลือกใช้สาร UCARSOL ของกลุ่มบริษัท ดาว โดยมีโรงกลั่นกว่า 380 โรงที่ใช้สาร UCARSOL อยู่ และในเอเชียมีโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติกว่า 80 แห่ง ใช้ UCARSOL อยู่ด้วย

โดยสาร UCARSOL นี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมและยังช่วยลดการกัดกร่อนในระบบของอุปกรณ์ รวมถึงก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน โดยกลุ่มบริษัท ดาว มีระบบบริการหลังการขาย Amine Management Program เพื่อเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ประสิทธิภาพการดำเนินงานหน่วยผลิตที่ใช้สาร UCARSOL รวมถึงให้ความรู้ คำแนะนำ และวิธีแก้ปัญหาให้ด้วย โดยโครงการที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ของกลุ่มบริษัท ดาว เช่น โรงกลั่นน้ำมันในเกาหลีใต้ และโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น ต่างประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถลดการใช้พลังงานลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายณัฐพนธ์  พุ่มวิเศษ, วิศวกรอาวุโส ฝ่ายโรงกลั่น บริษัท IRPC จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า IRPC ได้นำเทคโนโลยี UCARSOL มาใช้เป็นผลสำเร็จ โดยสามารถลดการใช้ไอน้ำในกระบวนการดักจับก๊าซลง ช่วยลดการใช้พลังงาน สามารถประหยัดพลังงงานไอน้ำเป็นมูลค่ากว่า 41.5 ล้านบาทต่อปี และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการ UCARSOL ดังกล่าว IRPC สามารถทำสำเร็จเป็นอันดับ 4 ของโลกและนับเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

และจากการประสบความสำเร็จทั้งด้านประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม โรงกลั่นน้ำมัน IRPC จึงขยายผลนำเข้าประกวดโครงการ Thailand Energy Award 2020 และได้รับเลือกให้เป็นโครงการตัวแทนจากประเทศไทยไปประกวด Asian Energy Award 2021 ด้วย