ปฏิรูป WTO พลิกเกมการค้าโลก “ศุภชัย” แนะปลดล็อกระบบระงับข้อพิพาท

“ศุภชัย” จี้ปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) เรื่องเร่งด่วน ประชุมที่รัฐมนตรีการค้า MC ครั้งที่ 12 พร้อมแนะ 4 ข้อที่ควรเสริมศักยภาพปฏิรูปเวทีค้าโลก WTO หนุนเปิดเสรีด้านเกษตรและอาหาร หวั่นอาจขาดแคลนหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวข้อ “จับตาการปฏิรูป WTO ยุค new normal” ต้อนรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 (The 12th WTO Ministerail Conference : MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2564 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ศุภชัย พานิชภักดิ์
ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO)

โดยกล่าวถึงความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี และบทบาทของ WTO ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าในปัจจุบันว่า ในช่วงที่ได้รับหน้าที่สำคัญบนเวทีการค้าโลกได้แก้ไขปรับปรุงโครงสร้างแต่ละหน่วยงานให้มีบทบาทชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถิติ ค้นคว้า การช่วยเหลือและพัฒนาประเทศด้อยพัฒนา การจัดการฝึกอบรม

กระทั่งระยะหลังได้หารือหลายประเทศก็พบว่า สำนักงาเลขาธิการควรจะมีบทบาทมากขึ้น และไทยเองก็น่าจะมีส่วนช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ หรือช่วยให้ความเห็นจากฝ่ายที่เป็นกลาง โดยเฉพาะในปัจจุบัน กรณีที่ควรหารือและทำเร่งด่วนใน MC12 คือ ประเด็นการแก้ไขปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (The Dispute Settlement Understanding : DSU)

เนื่องจากมองว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ WTO ยังคงบทบาทได้ นั่นก็คือ DSU ยิ่งตอกย้ำว่า สุดท้ายแล้ว อุปสรรคสำคัญใน WTO คือข้อพิพาท เพราะบางประเด็นยังต้องกลับมาตั้งต้นใหม่หรือเรื่องที่เล็กน้อยได้บรรจุเป็นข้อพิพาทจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้า แข่งกับเวลา บุคลากร ที่มีไม่มากพอ หรือบางข้อตกลงที่ต้องการความชัดเจน 100% จึงตกลงกันไม่ได้ หลาย ๆ เรื่องถูกทิ้งเอาไว้ เพราะฉะนั้น การเจรจาที่มีทั้งได้และเสียควรต้องมีการให้การศึกษา เราไม่ควรเจรจาเพื่อที่จะต้องชนะทุกครั้ง

เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ต้องมีคณะทำงานเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหา นำเอาบทเรียนต่าง ๆ มาศึกษาทำความเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) เพราะแม้จะมีการเจรจาในกรอบปกติมา 7 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่มีการปฏิรูปใดเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะเดียวกัน ในช่วงเปลี่ยนแปลงองค์การการค้าโลก (WTO) ไทยควรต้องสร้างบทบาทให้มีความโดดเด่นให้มากขึ้นเพื่อสอดรับกับสถานการณ์ จึงขอเสนอแนะ 4 ประการ ประกอบด้วย 1.ควรยกระดับให้องค์การ WTO มีความเข้มแข็งและช่วยหาทางออกให้กับประเทศสมาชิก และสร้างผลงานให้สามารถจับต้องได้

2.ให้บทบาทกับประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากขึ้น ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนทุกมิติทั้งด้านการค้าการลงทุน ด้านสังคมต้องมีแบบแผน นำไปสู่ข้อสรุปในการประชุมเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง

3.ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่าง WTO และองค์กรอื่น ๆ โดยเฉพาะกับองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อให้นำไปสู่ข้อตกลงแบบใหม่ขึ้นมา อาทิ ข้อตกลงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) หรือข้อตกลงที่จะไปช่วยประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือประเทศที่เป็นเกาะต่าง ๆ

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มี nonbinding agreement หรือไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายให้มีตรงกลาง ควรให้ WTO เป็นผู้ส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ หรือเพิ่มข้อตกลงร่วมกับนานาประเทศที่ไม่มุ่งเน้นเพียงแค่บทลงโทษให้เข้ามามีส่วนร่วมสามารถแสดงความเห็นได้ง่ายขึ้น

4.ความตกลงว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (DSU) ควรมีการดำเนินการขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งไม่ควรให้ WTO ทำหน้าที่ในการฟ้องศาล แต่ขอให้เป็นการเจรจาด้านการทูต เพื่อนำมาสู่การยินยอมซึ่งกันและกัน สามารถตกลงกันได้มีข้อตกลงตรงกลางเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน และควรสนับสนุนด้านการเงินหรือมีโครงการช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์

“ถ้าจะมีการปฏิรูป WTO โดยกำหนดชัดเจน ผมคิดว่าคงจะยุ่ง ซึ่งยูเอ็นเองก็ไม่มี ยกตัวอย่างง่าย ๆ ประเทศกลุ่มอเมริกากลาง ปัญหาเรื่องการค้าเสรียากมาก ต้องออกกฎระเบียบมากมายเพื่อแก้ปัญหานั้น เราจะทำงานร่วมกับเขายังไงหากแต่ละที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่าปฏิรูปต้องขันนอตเพื่อแก้ไขต้นตอปัญหาจะช่วยทำงานได้ง่ายขึ้น”

“ดังนั้น WTO ไม่ใช่เรื่องของการฟ้องศาลว่าใครแพ้ชนะ ควรเป็นเรื่องของการเจรจาทางด้านการทูต เจรจาแล้วสามารถแลกเปลี่ยนกัน ตกลงกันได้ ผมอยากเห็นว่าเรื่องของกระบวนการควรมีข้อตกลงตรงกลาง เพราะหลายครั้งผมเห็นประเทศด้อยพัฒนา ยากจน คุณคิดว่าเขาชนะเขาได้ประโยชน์อะไร อาจจะมีเงินช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร มันควรต้องมีการปรับ”

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายและจบลง สิ่งที่ WTO ควรดำเนินการต่อไปคือ เปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีมากขึ้น ทั้งสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตร เพราะหลังจากนี้โลกจะขาดแคลนอาหารเป็นจำนวนมาก และเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เอง

ส่วนเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ควรให้ความคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงเรื่องการเก็บภาษีให้เสมอภาค และเห็นว่าไม่ควรยอมให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลครองอำนาจเศรษฐกิจ