“จุรินทร์” ช่วย SMEs 3 ล้านราย Move on จากโควิด

ในงานสัมมนาเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เรื่อง “MOVE ON ฝ่าวิกฤตโควิดเศรษฐกิจต้องเดินหน้า” ที่จัดโดยบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

“นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “วิกฤตโควิด SMEs จะ Move On ได้อย่างไร ?”

ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศ

โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประมาณ 800,000 ราย จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 3.1 ล้านราย ซึ่งมีมากถึง 90% ของผู้ประกอบการไทย

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ถือเป็นหน่วยงานที่ดูแลและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งตนได้มีนโยบายให้ช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาดโลกได้

“ที่ผ่านมาปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในทุก ๆ ด้าน จึงได้หาช่องทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่านวิกฤตนี้ให้ได้

โดยจัดทำโครงการจับคู่กู้เงินในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหาร ได้เข้าถึงเงินทุน ดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งในระยะแรกสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าถึงเงินทุนได้ 2,806 ราย อนุมัติวงเงินไปแล้ว 2,500 ล้านบาท”

และในระยะที่ 2 ได้สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ส่งออกอยู่ประมาณ 30,000 รายทั่วประเทศ ล่าสุดสามารถอนุมัติวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ 500 ล้านบาท

โดยโครงการเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันทางการเงินในการออกโครงการและเงื่อนไขพิเศษ ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นอกจากนี้ ตนยังได้ให้นโยบายกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศ เข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้เข้าทำตลาด CLMV ซึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าทำตลาดดังกล่าวได้ และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเองด้วย

พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการเป็นนโยบาย โดยให้ “ทีมเซลส์แมนจังหวัด” ที่มีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ประสานงานต้องบรรจุSMEs หรือ Micro-SMEs ในรูปหอการค้าจังหวัด YEC หรือ Biz Club

เป็นกรรมการทีมเซลส์แมนจังหวัด เพื่อที่จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการตลาดให้สามารถกระจายพื้นที่โอกาสทางการตลาดได้ต่อ สำหรับทีมเซลส์แมนประเทศหรือทูตพาณิชย์ ให้ช่วยหาตลาดให้กับ SMEs ไทยที่มีศักยภาพในตลาดต่าง ๆ และตลาดใหม่ที่เราสามารถแทรก SMEs เข้าไปได้

ยิ่งกว่านั้นกระทรวงพาณิชย์ยังจัดทำ Mini FTA ระหว่างไทยกับบางประเทศและได้ลงนามไปแล้ว เช่น ไทยกับเมืองโคฟุของประเทศญี่ปุ่น และ Mini FTAไทยกับไหหนานหรือมณฑลไหหลำของจีน

และจะเดินหน้าต่อไป คือ “Mini FTA ระหว่างไทยกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย”ซึ่ง SMEs ไทยสามารถใช้เป็นช่องทางเปิดตลาดการค้าการส่งออกไปได้

สุดท้ายด้านองค์ความรู้กระทรวงพาณิชย์ยังจับมือกับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ หรือบริษัทที่มีเทคโนโลยีทำโครงการร่วมกัน จึงได้จับมือระหว่างสถาบันการอบรมของกระทรวงพาณิชย์กับหัวเว่ย

ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ 5G เข้ามาให้ความรู้ อบรม เพื่อส่งเสริมด้านการตลาด การผลิตให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับการอบรมกว่านับ 1,000 ราย

และกระทรวงพาณิชย์มีหลักสูตรกว่า 70 หลักสูตรที่จะให้ความรู้ในเรื่องพื้นฐานด้านต่าง ๆ เช่น การค้าระหว่างประเทศ FTA การสร้างช่องทางการตลาดให้ผู้ส่งออก

และเครือข่าย การอบรมการค้าหรือเศรษฐกิจกระแสใหม่ในยุค new normal ใช้การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมาเกี่ยวข้องอบรมให้ความรู้กับผู้สนใจไปแล้ว 66,700 ราย

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังสร้างแม่ทัพรุ่นใหม่ทางการค้าและการส่งออกให้กับประเทศผ่านโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO โดยร่วมมือกับ 93 สถาบันการศึกษาทั่วทั้งประเทศอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ การบัญชี ภาษาต่างประเทศ

การเจรจาธุรกิจ หรือตลาดใหม่ ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะปั้น CEO Gen Z ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 คน แต่ตอนนี้มีสมัครเข้ามาถึง 16,500 คน

และตนมั่นใจว่าภายในสิ้นปีเราจะอบรมให้ได้ครบทั่วประเทศ ซึ่งจะกลายเป็น “แม่ทัพการค้า” ทั้งในประเทศและบุกตลาดต่างประเทศต่อไปในอนาคต

และที่สำคัญสุดท้ายการส่งเสริมการท่องเที่ยว และรัฐบาลก็สนับสนุนและส่งเสริมโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่ผ่านมาตนได้เล็งเห็นโอกาสและที่เปิดตลาดท่องเที่ยว จึงเสนอขยายไปเป็น “อันดามันแซนด์บอกซ์” ภูเก็ต พังงา กระบี่ต่อไป

เพราะเห็นว่าการท่องเที่ยวยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างโอกาสและรายได้ให้กับผู้ประกอบการไม่เฉพาะเอสเอ็มอีแต่รวมถึงผู้ประกอบการทุกราย ประชาชนด้วย และที่สำคัญจะต้องเดินหน้าการท่องเที่ยวประเทศไทยคือ


ต้องท่องเที่ยวSMEs ใช้การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนให้กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป