โค้งสุดท้ายสินค้าเกษตรปี’64 ข้าวหืดจับ มัน-ยาง-ปาล์มฉลุย

จากภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยปี 2563 ที่มีมูลค่ากว่า 231,634 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 9.1% มูลค่า 21,101 ล้านเหรียญ หรือติดลบ -3.1% จนมาถึงช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏไทยส่งออกได้ 154,985 ล้านเหรียญ เป็นการส่งออกสินค้าเกษตร 15,399 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 9.1% หรือขยายตัวขึ้น 23.6% โดยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกสินค้า “ยกเว้น” ข้าวเท่านั้นที่ส่งออกติดลบ -28% มูลค่า 1,608 ล้านเหรียญ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้ความเห็นว่า สินค้าเกษตรไทยมีปัญหาด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน จากการที่สินค้าเกษตรหลายรายการที่ราคา “สูงกว่า” คู่แข่งในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับปัญหา “ค่าระวางเรือ” ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ตู้คอนเทนเนอร์ตึงตัว รวมถึงโควิด-19 และเรื่องสภาพอากาศอาจจะส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรในไตรมาส 4/2564 ได้

หัวมันสดยืนราคาประกัน

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรยังขายหัวมันสดได้ราคาดี เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย โดยราคาที่รับซื้อหัวมันเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.40-2.50 บาท คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ในปริมาณ 30 ล้านตัน ราคาจะเฉลี่ย กก.ละ 2.30-2.40 บาท (เชื้อแป้ง 22-23%)

แต่จากการที่ภาครัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังปี 3 เริ่ม 1 พ.ย. 2564 ในราคาประกัน กก.ละ 2.50 บาท วงเงิน 6,800 ล้านบาท เกษตรกรผู้ปลูกมันจึงไม่ค่อยมีความกังวลเรื่องราคารับซื้อหัวมันสด แต่สิ่งที่เกษตรกรกังวลและยังเป็นปัญหาการปลูกคือ โรคใบด่าง ที่ส่งผลกระทบต่อท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง

ข้าวไทยยังราคาสูง

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวจะปรับตัวดีขึ้นจากปีนี้ฝนตกดี ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีที่จะออกช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ดังนั้น ราคาข้าวไทยจึงมีแนวโน้มอ่อนตัวลงส่งผลให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

เมื่อเทียบราคาข้าวจากอินเดีย และเวียดนาม ทั้งข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ โดยราคาส่งออกข้าวไทยล่าสุด ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 402 เหรียญ ส่วนข้าวเวียดนาม ตันละ 388-392 เหรียญ และข้าวอินเดีย ตันละ 382-387 เหรียญ

ส่วนราคาส่งออกข้าวนึ่งของไทย ตันละ 415 เหรียญ, อินเดีย ตันละ 353-357 เหรียญ และปากีสถาน ตันละ 396-400 เหรียญ แม้ราคาข้าวไทยจะแข่งขันกับคู่แข่งได้ แต่ไทยยังติดปัญหาเรื่องการขนส่ง-ค่าระวางที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์มีไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานจากปัญหาโควิด-19 และแรงงานยังเข้าไม่ถึงวัคซีน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในครึ่งปีหลังได้

ด้าน นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีมั่นใจว่า มีสภาพคล่องเพียงพอในการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในฤดูกาลผลิต 2564/2565 จากที่ภาครัฐประเมินว่า ผลผลิตข้าวจะออกมาปริมาณ 30-32 ล้านตันข้าวเปลือก

“ปัจจุบันโรงสียังคงประกอบกิจการอยู่ และเป็นสมาชิกของสมาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 550 รายในทั่วประเทศ เราเชื่อว่าโรงสีแต่ละรายยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอรับซื้อข้าวเปลือก”

สำหรับราคาข้าวเปลือกในตลาดปัจจุบันรับซื้อข้าวขาว ตันละ 7,500-7,800 บาท ข้าวหอมมะลิ ตันละ 10,000-11,000 บาท

ประกันรายได้ดันราคาข้าวเปลือก

ในขณะที่ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ราคาข้าวช่วงนี้ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การส่งออกชะลอตัว ประกอบกับโรงสีขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถรับซื้อข้าวจากชาวนาได้อย่างเต็มที่

รวมไปถึงฝนตกทำให้ข้าวมีความชื้น ดังนั้นจึงเป็นห่วงว่าหากการส่งออกข้าวยังคงชะลอตัวอาจกดดันราคาข้าวภายในประเทศจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนช่วยกันผลักดันการส่งออกข้าว

อย่างไรก็ดี แม้ราคาข้าวจะปรับตัวลดลง แต่รัฐบาลยังมีนโยบายโครงการประกันรายได้ข้าวจะช่วยให้เกษตรกรขายข้าวและได้รับส่วนต่างให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้จากทิศทางราคาข้าวที่ปรับตัวลดลง ดังนั้นจึงไม่ค่อยเป็นกังวลสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูนาปีมากนัก

สำหรับราคาข้าว เช่น ข้าวขาว 5% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-7,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก, ข้าวหอมมะลิราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000-11,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก, ข้าวเหนียวราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-8,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยความชื้นเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 25-28% ปริมาณข้าวที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 25-26 ล้านตัน

ยางแผ่นไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กก.

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงทิศทางราคายางไตรมาส 4/2564 “จะปรับตัวขึ้น และมั่นใจว่าราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบจะแตะถึง 60 บาทต่อ กก. จากปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50-55 บาท” ด้วยปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ที่ดีขึ้น เริ่มมีแรงงานสามารถออกไปกรีดยางได้ และการล็อกดาวน์ไม่มีผลต่อเกษตรกร

การขนส่งยางพารายังดำเนินการได้ตามปกติ อีกทั้งซัพพลายประเทศผู้ผลิตยางอย่าง อินโดนีเซีย-มาเลเซีย “ยังถือว่าซัพพลายชอต” ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายางคงอยู่ในระดับที่สูง

แต่ยังคงต้องระวังสภาวะราคายางราคาผันผวนจากสต๊อกยางโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น เพราะเป็นฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดมากโดยเฉพาะที่จีน-เวียดนาม และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์-ค่าระวางเรือ

ปาล์มราคาทะลุ 7 บาท

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันราคาผลปาล์มขยับขึ้นจาก กก.ละ 6.75 บาท ไปเป็น กก.ละ 7.00-7.20 บาท ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ขยับขึ้นไป กก.ละ 37 บาท หรือ “สูงกว่า” ราคาตลาดโลกที่อ้างอิงจากราคาตลาดมาเลเซีย ซึ่งอยู่ที่ กก.ละ 33-34 บาท

ปัจจัยสำคัญมาจากผลผลิตปาล์มในตลาดโลกปรับตัวลดลง หลังจากมาเลเซียประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนปริมาณผลผลิตในประเทศไทยก็ทยอยออกสู่ตลาดจนเกือบหมดแล้ว จากเดือนก่อนมีผลผลิต 120,000 ตัน มาถึงเดือนนี้ลดลงเหลือประมาณ 900,000 ตัน

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิต “ไบโอดีเซล” ที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบสัดส่วนประมาณ 70% น้ำมันปาล์มบริโภคสัดส่วน 30%

ด้านปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่กลุ่มโรงสกัดน้ำมันปาล์ม แจ้งต่อกรมการค้าภายใน อยู่ที่ปริมาณ 350,000 ตัน ซึ่งสูงกว่าระดับสต๊อกเพื่อความมั่นคง (200,000-250,000 ตัน) แนวโน้มราคาผลปาล์มจะทรงตัวสูงไปถึงกลางปี 2565