จีนเบียดสหรัฐเข้าร่วม CPTPP เร่ง ประยุทธ์ ตัดสินใจก่อนตกขบวน

Photo by AFP

จีนฉวยภูมิรัฐศาสตร์เข้าร่วมการเจรจา CPTPP หวังยึด 30% GDP โลก ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้า-ไม่เข้า ด้านบริษัทที่ปรึกษา “โบลลิเกอร์” แนะต้องรีบฉวยจังหวะใช้ข้อตกลงนี้ “รีฟอร์ม” เศรษฐกิจหลังโควิด หวั่นยิ่งช้ายิ่งตกขบวนตามประเทศคู่แข่งไม่ทัน สภาหอการค้าทำแบบประเมินถึงสมาชิกกำหนดท่าทีไทยเสนอรัฐบาล

การไม่ตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่จะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กำลังกลายเป็นความวิตกกังวลของภาคธุรกิจในแง่ที่ว่า ประเทศไทย จะเดินไปในทิศทางใดของระเบียบการเปิดเสรีการค้าโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถึงจุดเปลี่ยน

เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาการค้าในกรอบนี้ ซึ่งถือเป็นการเปิดแนวรุกทางด้านเศรษฐกิจใหม่ที่ “แซงหน้า” สหรัฐหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจ “ถอนตัว” ออกจากความตกลงฉบับนี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนก็ยังคง “ติดหล่ม” อยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศอยู่

โยน กนศ.เป็นผู้ตัดสินใจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า การขยายจำนวนสมาชิกได้เพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจของ CPTPP “ทำให้ไทยต้องประเมินประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ” จีนทำให้ CPTPP มีขนาดใหญ่ขึ้น มีประชากรรวมเป็น 1,900 ล้านคน หรือคิดเป็น 25% ของประชากรโลก มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของ GDP โลก

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อย่างไรก็ตาม CPTPP ก็ยัง “เล็กกว่า” ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่ไทยและจีนเข้าร่วม ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ (อาเซียน-จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี-ออสเตรเลีย-ซีแลนด์) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรโลก มูลค่า GDP 28.5 ล้านล้านเหรียญ หรือ 33.6% ของ GDP โลก

“การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนเป็นการเพิ่มพันธมิตร ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มประเทศ CPTPP (regional supply chain) ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน เนื่องจากความตกลงฉบับนี้กำหนดให้สมาชิกต้องลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บระหว่างกันให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดหรือเกือบครบทุกรายการสินค้า

เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสมาชิก กฎระเบียบที่ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ จะทำให้ประเทศสมาชิก CPTPP มีความได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิกเมื่อเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่ regional supply chain หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกวง จึงเป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมาพิจารณา เพราะห่วงโซ่ใหม่นี้จะรวมจีนเข้าไปด้วย” นางอรมนกล่าว

ในขณะที่ประเทศไทย (ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่อย่างไร) มีการทำความตกลงเปิดเสรีการค้า (FTA) กับสมาชิก CPTPP อยู่ 9 ประเทศ จากทั้งหมด 11 ประเทศ ยังขาดเพียง “เม็กซิโกกับแคนาดา” ซึ่งมีการเตรียมการที่จะทำข้อตกลง FTA อาเซียน-แคนาดา เร็ว ๆ นี้ จึงถือได้มีประเทศไทยช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่ได้

“การเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนติดตามให้ความสนใจ ดังนั้นจึงถูกยกระดับการพิจารณาเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์และคงต้องนำความคืบหน้าล่าสุดนี้ (จีนเข้าร่วม CPTPP) มารวมไว้ในการประเมินด้วย” นางอรมนกล่าว

ภูมิรัฐศาสตร์จีนต่อเวทีโลก

ด้าน ดร.รัชดา เจียสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี จำกัด บริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมา “จีน” มีความตกลง RCEP แล้ว และมีการทำ FTA กับประเทศสมาชิกใน CPTPP แล้ว 7-8 ประเทศ

ดร.รัชดา เจียสกุล

ดังนั้นในมุมของจีนการประกาศเข้าร่วม CPTPP จึงไม่ใช่เพียงการเจรจาเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ไม่มีในข้อตกลง RCEP (เช่น เรื่องการเปิดตลาดสินค้าบางราย หรือความตกลงเรื่องบางที่สงวนไว้)

แต่เหตุผลหลักที่จีนประกาศเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้ก็คือ เรื่องของ geopolitic หรือภูมิรัฐศาสตร์ โดยมีมุมมองแรกก็คือ จีนได้บอกกับทั่วโลกว่าพร้อมที่จะยอมรับกฎเกณฑ์มาตรฐานกติกาสากล (rule based) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน, สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

และที่สำคัญจีนยังชวนสหรัฐเข้ามาเจรจากันในเวทีนี้ด้วย มุมที่สอง จีนต้องการรู้ว่า “feedback” ของญี่ปุ่นที่มีต่อจีนคืออะไร เพราะขณะนี้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศแกนนำใน RCEP และกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเมืองภายในของญี่ปุ่นเองมีทั้งฝั่งที่ชอบและไม่ชอบจีน จีนจึงต้องการรู้ว่า “ญี่ปุ่นจะมองจีนอย่างไร”

แน่นอนว่า การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ของมหาอำนาจอย่างจีน จะ “ฟาดหางต่อเศรษฐกิจประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยแน่นอน” ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ภายใต้กรอบการเจรจาการค้าเสรีเดิมที่มีอยู่คือ RCEP และ FTA อาเซียน-จีนนั้น ไม่ต่างกันมากนัก แต่ CPTPP จะมีผลต่อการดึงดูดธุรกิจแห่งอนาคตด้วย

“ถ้านักลงทุนจะตัดสินใจมาลงทุนเพื่อวางฐานการผลิต เขาจะไม่มองแค่เรื่องภาษี แต่นักลงทุนจะมองถึงเรื่องมาตรฐานและกติกาสากลต่าง ๆ ที่มี ซึ่งมาตรฐานการเจรจาเรื่องนี้ CPTPP เป็นเรื่องที่ในความตกลงในอนาคตมีทั้งหมด ทั้ง FTA ไทย-อียู หรือไทย-ยูเค ล้วนแต่จะมีเรื่องนี้

และหาก CPTPP ยอมรับยูเคและจีนเข้าเป็นสมาชิก ทั้งสองประเทศนี้จะให้ความสำคัญกับกรอบใหญ่มากที่จะมาเจรจาเปิดเสรีการค้ากับไทยแบบทวิภาคี ซึ่งผลก็คือ การเจรจากรอบใหญ่จะมีแนวร่วมจำนวนมากขึ้นมีผลต่อการต่อรอง แต่ข้อเสียก็คืออาจจะทำให้การเจรจาต่อรองช้า เพราะกว่าจะได้ข้อสรุปกับทุกประเทศจะใช้เวลานาน” ดร.รัชดากล่าว

สิ่งเดียวที่แนะนำตอนนี้ก็คือ ประเทศไทยควรเร่งตัดสินใจสมัครเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะตอนนี้ไทยต้องการ “ยาแรง” ในการรีฟอร์มเศรษฐกิจ และ CPTPP เป็นยาแรงที่ยากน้อยที่สุดแล้ว ที่ผ่านมาไทยหลุดอยู่ในศตวรรษที่ช้ามาแล้วหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ทำความตกลงไปหมดแล้ว แต่ประเทศไทยไม่ได้เจรจาอะไรเลย ดังนั้นไทยจะเป็นประเทศที่เสียประโยชน์มากที่สุด แม้ว่าจะมีความตกลง RCEP ก็ตาม

“หากไทยไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา CPTPP ก็อย่าหวังว่า ไทยจะเข้าร่วมเจรจา FTA กับอียู หรือกับยูเค โดยเฉพาะยูเคได้สมัครเข้าร่วม CPTPP ไปก่อนจีน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณารับเข้าเป็นสมาชิก ตอนนี้จีนก็สมัครแล้ว

หากไทยตัดสินใจได้เร็วอาจจะส่งผลให้ไทยได้พ่วงตลาด CPTPP ที่มีทั้งยูเคและจีน แต่หากไทยตัดติสนใจล่าช้าอาจจะกระทบต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นเป้าหมายของประเทศด้วย” ดร.รัชดากล่าว

ในส่วนประเด็นข้อกังวลเรื่องของผลกระทบต่อการเข้า CPTPP ของประเทศไทย อาทิ ไทยต้องเข้าอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV กระทบต่อการพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรนั้น มีทางออกอยู่ 2-3 ด้านแล้วคือ

1) การออกกฎหมายพัฒนากองทุน FTA ของกระทรวงพาณิชย์ ในวงเงินงบประมาณสนับสนุน 5,000 ล้านบาท สามารถนำวงเงินนี้เข้ามาวางแนวทางในการกำกับดูแลราคาเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ 2) การขอ “ยกเว้น” ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในระหว่างด้วยการขอเวลาในการปรับตัวระหว่างเจรจา CPTPP ได้

สารพัดศึกษาแต่ไม่ตัดสินใจ

จากการติดตามการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของรัฐบาลไทยพบว่า ยืดเยื้อมาไม่น้อยกว่า 7 ปี หรือตลอดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนปัจุบันผ่านหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมาหลายท่าน มีการจ้างสถาบันทางการศึกษา-บริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการเข้าร่วมความตกลง CPTPP มาหลายรอบ

โดยครั้งสุดท้ายรัฐบาลได้โยนเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญ) เพื่อพิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นเวลาถึง 120 วัน ในปลายปี 2563 และได้ข้อสรุปว่า

1) ประเทศไทยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง ซึ่งจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุน 2) รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งด้านบวก ภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาจากผลกระทบด้านลบ

3) การเจรจาของรัฐบาลควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และ 4) รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการจัดตั้ง “กองทุน” ที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นความตกลง CPTPP ในเดือนมิถุนายน 2564 โดยเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมามาก ได้แก่ ความกังวลเรื่องของการคุ้มครองพันธุ์พืช, การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุนต่างชาติ, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

และการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (compulsory licensing หรือ CL) โดยกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งความคืบหน้าในการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมว่า “กำลังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสและข้อท้าทายของการเข้าร่วมอยู่”

ล่าสุดผู้เกี่ยวข้องกับการเจรจาความตกลงฉบับนี้ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการเจรจา CPTPP ซึ่งเป็นเรื่องการของการวางอนาคตได้ แม้ว่าจะมีการศึกษามาหลายต่อหลายครั้ง และหากช่วงนี้การเมืองของไทยยังเปราะบางก็อาจจะมีผลให้การตัดสินใจของรัฐบาลล่าช้าออกไปอีก

หอการค้าประเมินท่าที

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จีนเป็นตัวอย่างของประเทศที่สมัครเข้าร่วม CPTPP โดยคาดหวังเรื่องของ “คู่ค้าและ value chain” จากประเทศสมาชิกในความตกลงฉบับนี้ ซึ่งจีนก็รู้ดีว่า การสมัครเข้าร่วม CPTPP ยังต้องผ่านด่านประเทศสมาชิกเดิมที่อยู่ในข้อตกลงอีก 11 ประเทศก่อนว่า จะอนุมัติให้จีนเข้าร่วมหรือไม่

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

และยังต้องผ่านการเจรจารายประเทศ มีการต่อรอง-การตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งในทุกขั้นตอนเหล่านี้ จีนยังสามารถถอนตัวออกจาก CPTPP ได้ หากไม่ได้เป็นตามที่คาดหวัง หรือประเทศสมาชิกอีก 11 ประเทศ ไม่เห็นด้วยหรือสร้างเงื่อนไข “กดดัน” จีน

“การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนถือเป็นโอกาสที่จีนได้เปิดให้กับประเทศตัวเองได้มีโอกาสเจรจาและตัดสินใจก่อน จากหลาย ๆ ประเทศที่กำลังเตรียมตัวจะเข้าหรือไม่เข้าและการเข้าไปทีหลังก็จะต้องผ่านการตกลงเจรจาต่อรองกับประเทศที่เข้าไปแล้วมากขึ้นด้วย” นายวิศิษฐ์กล่าว

สำหรับประเทศไทยเองในขณะนี้ “ยังไม่ผ่านกระบวนการขั้นตอนที่จะอนุมัติให้เข้าไปร่วมเจรจา CPTPP” แม้ว่าการสมัครเข้าไปร่วมเจรจา CPTPP จะยังไม่ใช่การยอมรับเป็นสมาชิกในข้อตกลงฉบับนี้ก็ตาม แต่การที่ประเทศอื่นเข้าไปเจรจาหรือเป็นสมาชิกก่อนประเทศไทย

โดยประเทศเหล่านั้นมีสินค้าเดียวกันกับไทยก็จะได้เปรียบเรื่องราคา-การแข่งขันจากภาษีนำเข้า จากกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ดังนั้นที่สำคัญประเทศไทยต้องรีบทำความพร้อมตามกติกาใหม่ของโลกที่กำลังเริ่มต้น เพราะ “หากไม่เจรจาในกรอบนี้ไปเจรจาเปิดเสรีในกรอบอื่น ๆ ก็จะเจอเรื่องเหล่านี้อยู่ดี” นายวิศิษฐ์กล่าว

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการรค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำแบบประเมินสำรวจความเห็นสมาชิกเรื่อง CPTPP หลังจากจีนประกาศสมัครเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้ โดยจะใช้แบบสำรวจนี้ประเมินท่าทีของภาคเอกชนก่อนที่สรุปเสนอแนวทางต่อไป