โรงงานตั้งการ์ดสูงรับน้ำท่วม ญี่ปุ่นผวาเสี่ยงซ้ำรอยปี’54

นิคมบางปะอิน

นักลงทุนญี่ปุ่นผวา “ภาพหลอน” เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 “ฮอนด้า” ตั้งทีมเฉพาะกิจมอนิเตอร์ระดับน้ำวันต่อวัน เตรียมแผนสำรองฉุกเฉิน นิคมอุตสาหกรรมเฝ้าระวัง 3 จุดเสี่ยงใหญ่ใกล้แม่น้ำ-เขื่อนดิน “นครหลวง-บ้านหว้า-บางปะอิน” เชื่อมั่นกำแพงกั้นน้ำสูง 5-7 เมตร “เอาอยู่” สภาอุตสาหกรรมเชื่อทุกโรงงานมีประสบการณ์เตรียมพร้อมรับมือ ชี้รัฐบาลไม่แก้ปัญหาทั้งระบบ เชื่อภาคเกษตรเสียหายกว่าอุตสาหกรรม

อิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงระหว่างวันที่ 24-26 กันยายนที่ผ่านมา ได้สร้างความหวาดผวาให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เคยประสบภาวะน้ำท่วมใหญ่ในเหตุการณ์ “มหาอุทกภัย” ในปี 2554

โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (นิคมสหรัตนนครเดิม), สวนอุตสาหกรรมโรจนะ, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน

ต่างก็เตรียมแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม แม้ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่น้ำท่วมในขณะนี้จะ “รุนแรงน้อยกว่า” ปี 2554 ก็ตาม

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำ

ฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ปรากฏมีน้ำไหลผ่านสถานีวัดระดับน้ำ C2 จังหวัดนครสวรรค์ 2,666 ลบ.ม./วินาที น้ำมาถึงสถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา 2,784 ลบ.ม./วินาที โดยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นมาจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลมาสมทบ 382 ลบ.ม./วินาที

แต่มีการระบายน้ำออกไปคลองฝั่งตะวันตก 331 ลบ.ม./วินาที กับคลองฝั่งตะวันออก 45 ลบ.ม./วินาที ขณะที่สถานี C29A บางไทร ซึ่งถือเป็นประตูหน้าด่านที่จะวัดปริมาณน้ำว่าจะท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑลมากน้อยแค่ไหนนั้น

ล่าสุดมีน้ำไหลผ่าน 2,950 ลบ.ม./วินาที (ปี 2554 มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดที่ 3,860 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขเพดานน้ำไหลผ่านที่กำหนดไว้ไม่ให้เกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที ก่อนที่น้ำจะท่วมพื้นที่ตอนล่างหลังสถานีบางไทรลงมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันไปพิจารณาสถานการณ์น้ำในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำคัญ 4 แห่งที่นักลงทุนเกิดความวิตกในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ พบว่าเกิดพื้นที่น้ำท่วมไปแล้ว 4 อำเภอ คือ อ.ผักไห่, อ.เสนา, อ.บางบาล และ อ.บางไทร

จากการระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นของเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานกำลังพยายามบริหารจัดการเพื่อควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการได้เต็มศักยภาพของพื้นที่

กนอ.จับตา 3 นิคมเสี่ยง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ-ปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ตลอด 24 ชม. และสั่งการให้นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศรายงานความคืบหน้าทุกเช้า

เช่น ระดับน้ำในพื้นที่ ประเมินระยะทางน้ำที่จะถึงนิคม หากถึงนิคมแล้วระดับน้ำอยู่ที่เท่าไรของกำแพงกั้นน้ำ โดยข้อมูลเหล่านี้จะส่งไปยังนักลงทุนผู้ประกอบการในนิคมทราบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ “นักลงทุนญี่ปุ่น” ที่แสดงถึงความกังวลอย่างมาก แต่ กนอ. “ยังคงยืนยันและให้ความมั่นใจว่าน้ำท่วมครั้งนี้ทุกนิคมมีแผนรับมือไว้แล้วแน่นอน”

สำหรับ 3 นิคมอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ต้อง “เฝ้าระวังเป็นพิเศษ” ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง (สหรัตนนครเดิม) ซึ่งขณะนี้มีการก่อสร้างระบบเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเป็นคันดินแบบผสมผสาน ประกอบด้วยคันดินถมอัดด้วยสันเขื่อน เป็นผนังคอนกรีตเสริมรูปตัว U ระดับของคันดินอยู่ที่ + 7.50 ม.รทก. ระดับสูงสุดของเขื่อน อยู่ที่ + 8.50 ม.รทก. (ระดับน้ำท่วมสูงสุดปี 2554 อยู่ที่ + 7.50 ม.รทก.),

นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ก่อสร้างเป็นคันดินบดอัดแน่นเหนือจากระดับน้ำท่วมเมื่อปี 54 อยู่ที่ 5.4 ม. ความยาว 11 กม.โดยระดับป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวออกแบบโดยใช้คาบความถี่ของฝน 70 ปีเป็นเกณฑ์

และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ก่อสร้างเป็นกำแพงรางคอนกรีตเสริมเหล็กกั้นน้ำสูง 6 เมตร ยาว 10 กม. ล้อมรอบนิคมและยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบของระบบป้องกันน้ำท่วมของ กนอ.ด้วย “ทุกนิคมจะมีทั้งอ่างเก็บน้ำไว้สำรองและสถานีสูบน้ำพร้อมทุกแห่ง” นายวีริศกล่าว

ด้านนายภคิน ชลรัตนหิรัญ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในขณะนั้นสวนอุตสาหกรรมโรจนะได้รับความเสียหายอย่างหนัก

หลังจากนั้นทางสวนอุตสาหกรรมได้ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง “กำแพงคอนกรีต” กั้นน้ำสูงกว่าระดับน้ำ 6 เมตร ความยาว 79 กม. ล้อมรอบสวนอุตสาหกรรมโรจนะทั้งหมด นับเป็นแผนการลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมครั้งใหญ่และคุ้มค่า

เนื่องจากในทุก ๆ ปีที่ผ่านมาพื้นที่ จ.อยุธยา จะมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม แต่กำแพงกั้นน้ำได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการในสวนอุตสาหกรรม ซึ่งมีกว่า 300 โรงงานได้อย่างมาก

และในปี 2564 นี้ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะยังมีแผนขยายพื้นที่ออกไปอีก 600 ไร่ นับเป็นเฟส 10 ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้และจะเริ่มขายพื้นที่ประมาณปลายปี 2565 โดยเฟสนี้ทางบริษัทได้แบ่งงบประมาณมาเพื่อสร้างกำแพงกั้นน้ำไว้ด้วย 300 ล้านบาท พร้อม ๆ กับการพัฒนาที่ดินให้แล้วเสร็จทันกัน

“ปีนี้เรามั่นใจว่าน้ำท่วมในอยุธยาจะไม่ส่งผลกระทบมาถึงสวนอุตสาหกรรมโรจนะแน่ แต่เราก็มอนิเตอร์ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดเวลา ผู้ประกอบการในนิคมเองก็ยังมีความมั่นใจและยังไม่มีรายใดถึงขั้นย้ายหนีน้ำท่วม” นายภคินกล่าว

จิสด้าเชื่อเสียหายไม่มาก

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า ปีนี้น้ำจะไม่ท่วมใหญ่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในปี 2554 จากการติดตามสถานการณ์พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถบริหารจัดการได้ จากการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมล่าสุด

ปรากฏมีพื้นที่ 20 จังหวัดที่ได้ถูกน้ำท่วมคิดเป็นพื้นที่ 2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง และตะวันออกบ้าง ซึ่งยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 15 ล้านไร่

“ปี 2554 ไทยต้องเผชิญกับพายุ 10 ลูกติดต่อกันและสถานการณ์สภาพน้ำในเขื่อนช่วงปลายเดือนกันยายน-ตุลาคมก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าปีนี้มาก ประกอบกับมีการบริหารจัดการน้ำไว้ทั้งหมดด้วยการเตรียมพื้นที่ทุ่งรับน้ำไว้รองรับปริมาณน้ำจำนวนมาก

ส่วนพายุที่จะเข้ามาอีก 2 ลูกนั้น ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะพัดขึ้นฝั่งประมาณวันที่ 8-10 ตุลาคมนี้ เบื้องต้นมีการประเมินว่าจะมีการเคลื่อนตัวคล้ายกับพายุเตี้ยนหมู่ที่ขึ้นฝั่งทางเวียดนาม ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ดร.ปกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ กอนช.ได้มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพื้นที่ทุ่งรับน้ำขณะนี้ไว้ประมาณ 1.4 ล้านไร่ ในหลายจังหวัด ทั้งพระนครศรีอยุธยา, นครสวรรค์, สุพรรณุบรี เช่น ทุ่งบางระกำพื้นที่น้ำขัง 86,888 ไร่จากพื้นที่ทุ่ง 214,040 ไร่,

ทุ่งป่าโมก พื้นที่น้ำขังในทุ่ง 18,659 ไร่ จากทั้งหมด 47,737 ไร่, ทุ่งผักไห่น้ำขังในทุ่ง 41,451 ไร่ จากพื้นที่ 155,863 ไร่ และทุ่งบางบาล น้ำท่วมในทุ่ง 1,575 ไร่ จากพื้นที่ทุ่ง 27,615 ไร่ โดยเส้นทางการผันน้ำไปสู่ทุ่งรับน้ำเหล่านี้จะอาศัยเส้นทางที่มีการวางไว้เดิมอยู่แล้ว

หากมีการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำให้เร็วขึ้นก็อาจจะกระทบชุมชนแถบนอกคันกั้นน้ำ มีน้ำล้นริมตลิ่งบ้าง “แต่ความเสียหายที่จะเกิดจะไม่ได้รุนแรงมากนัก”

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมไม่มากนัก

เพราะหลังจากเกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมรับมือด้วยมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น แต่ที่น่าห่วงก็คือภาคเกษตรที่อาจจะได้รับความเสียหายมากกว่า

“รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ต้องลงทุนแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอาจจะต้องใช้เม็ดเงินหลัก 100,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องทำทั้งระบบ ไม่ใช่มาแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งสลับกัน มาขุดบ่อเป็นรายปี การดำเนินการควรจะต้องมองภาพรวม เพื่อจะได้บริหารจัดการภาพรวมในระยะยาว” นายสุพันธุ์กล่าว

ฮอนด้างัดแผนรับมือ

มีรายงานข่าวระดับบริหาร บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) ซึ่งโรงงานผลิตรถยนต์ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะเคยประสบความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เข้ามาว่า ปัจจุบันฮอนด้ามีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่ง ที่โรจนะกับปราจีนบุรี เฉพาะโรงงานที่ปราจีนบุรีนั้น “ยังไม่มีความน่ากังวล”

แต่ในส่วนโรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีปริมาณน้ำที่หลากลงมาก “ยังน่ากังวลกว่า” ดังนั้นบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยกรรมการชุดนี้จะทำงานร่วมกับทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างใกล้ชิดเพื่อคอยติดตามปริมาณน้ำในแต่ละวัน จนกระทั่งถึงตอนนี้ยังมั่นใจว่า น้ำจะไม่ท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554

“คณะกรรมการของเราได้ร่วมมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำทุกวัน เพื่อตรวจระดับน้ำตามประตูน้ำร่วมกับทีมของจังหวัด วันนี้ปริมาณน้ำเมื่อเทียบปี 2554 ยังห่างกันเยอะ

และที่สำคัญตัวนิคมก็ได้จัดทำแนวเขื่อนสูง 5-6 เมตรล้อมรอบ เตรียมรับมือไว้อย่างดีแล้ว ส่วนแผนสำรองบริษัทเราก็เตรียมไว้ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ทั้งการป้องกัน การอพยพทั้งคนและเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงสต๊อกสินค้า(รถยนต์) ด้วย” ผู้บริหารฮอนด้ากล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมเข้ามาว่า ในปี 2554 ซึ่งถือเป็นปีน้ำท่วมใหญ่ทางโรงงานฮอนด้าที่โรจนะถูกน้ำท่วมเสียหายหนัก บริษัทได้เคลื่อนย้ายรถยนต์ในสต๊อกจำนวน 1,000 กว่าคันไปจอดที่ อาคารคลังสินค้า ดอนเมือง

แต่ก็ยังมีรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งถูกน้ำท่วมเสียหาย ซึ่งปีนี้หากมีสัญญาณว่า “น้ำท่วมจริง” แผนการเคลื่อนย้ายรถยนต์ก็น่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันเหมือนกับปี 2554

ขณะที่นายเย็บ ซู ชวน ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ไม่ได้กังวลมากนักเพราะมั่นใจในระบบบริหารจัดการของนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และรัฐบาลไทย

ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำความสูงกว่า 5 เมตร เพื่อเป็นแนวป้องกันรอบนิคมอุตสาหกรรมและยังทำถนนเชื่อมต่อเส้นทางไฮเวย์เป็นกำแพงกั้นน้ำด้วย โดยปีนี้น้ำจะไม่ท่วมรุนแรงเท่าเมื่อปี 2554 อย่างแน่นอน

“เรามีประสบการณ์กันมาแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนได้เรียนรู้และเตรียมตัวเป็นอย่างดี ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยไม่มีใครแก้ปัญหาได้ ดังนั้นเราต้องเรียนรู้และอยู่ให้ได้ ถ้าน้ำมาไม่เกินความสูงของเขื่อนเราอยู่ได้สบาย ๆ และเรายังสามารถเสริมกระสอบทรายที่แข็งแรงได้อีกด้วย” นายเย็บกล่าว

ขณะที่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานและหัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ระดับธุรกิจ ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ประเทศไทย บริษัทเวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกภายใต้แบรนด์ WD กล่าวว่า

โรงงาน WD ที่บางปะอินได้มีการลงทุนสร้างกำแพงรอบตัวโรงงานยาวกว่า 2 กิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนเฉพาะค่ากำแพงไปมากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อป้องกันตัวโรงงานจากน้ำท่วม รวมไปถึงมีการขยับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีไปอยู่ในที่สูง

ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการตาม แผนบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ (Business Continuity Plan : BCP) ที่ในทุกโรงงานก็จะมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ส่วนโรงงานที่ปราจีนบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่สูงอยู่แล้ว