ข้าวเปลือก 1 กก.ถูกกว่าบะหมี่ สต๊อกล้นปีละ 4 ล้านตัน จี้ ‘นบข.’ เร่งระบาย

นาข้าว

โซเชียลผงะข้าวราคาต่ำกว่าบะหมี่สำเร็จรูป ส.ชาวนาวอน นบข. ทบทวนสถานการณ์ข้าว 3 ปี ภาวะตลาดเปลี่ยนส่งออก-บริโภคภายในหด เป็นเหตุสต๊อกบวมล้นระบบ 4 ล้านตัน หวั่นฉุดราคาข้าวเปลือกหลุดตันละ 8 พันบาท ชดเชยประกันรายได้อ่วมทะลุแสนล้าน แนะรัฐเคาะสูตรใหม่ดึง รง.อาหารสัตว์ช่วยซื้อแทน หลังล่าสุดโรงงาน ซี.พี.โดดอุ้มข้าวนำร่องซื้อข้าวเปลือกโรงสีภาคใต้ผลิตอาหารสัตว์แทนข้าวสาลี

นายสุเทพ คงมาก นายกกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียว่า ข้าวเปลือกราคาลดลงเหลือ 5,900 บาท หรือ กก.ละ 5.90 บาท ต่ำกว่าราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เข้าใจว่าจะต้องเป็นข้าวขาวที่มีความชื้นสูงกว่า 30% จากปกติ ทั้งนี้ปัจจุบันราคาตลาดข้าวสด ความชื้น 25% ตันละ 7,000-8,000 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิจะอยู่ที่ 8,000-9,000 บาท ลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ที่ตันละ 10,000-11,000 บาท

ราคาลดลงเป็นผลจากปัจจัยหลักคือการส่งออกลดลง การบริโภคภายในก็ลดลงด้วย ทำให้มีปริมาณข้าวในระบบเหลือสต๊อกมากขึ้น อาจจะทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณชดเชยส่วนต่างให้ชาวนาจำนวนมากขึ้นถึง 8 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน ไม่รวมการจ่ายช่วยค่าเก็บเกี่ยวอีกครอบครัวละ 20,000 บาท

นายสุเทพกล่าวว่า คณะกรรมการบริหารและนโยบายข้าว (นบข.) ควรจะทบทวนแนวทางบริหารจัดการข้าว ตามที่สถานการณ์ตลาดข้าวหลังจากดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อเนื่องมา 3 ปี

เพราะปกติไทยผลิตข้าวได้ 33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 18 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งจะส่งออกเฉลี่ยต่อปี 9 ล้านตัน และใช้บริโภคภายในอีก 9 ล้านตัน แต่ตอนนี้การส่งออกปรับลดลงจาก 9 ล้านตัน เหลือ 6 ล้านตัน ส่วนการบริโภคก็ลดลงเหลือ 6 ล้านตัน แต่ชาวนายังผลิตเท่าเดิม ซึ่งนั่นจะทำให้สต๊อกผลผลิตข้าวเหลือสต๊อกตันละ 4 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดลดลงเรื่อย ๆ

“แนวทางใหม่ในการระบายผลผลิตข้าวอีกทางหนึ่งที่ควรมีการพิจารณาคือ การดึงกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์มาซื้อ เพื่อเป็นการระบายสต๊อกข้าวเปลือก และจะไปทดแทนวัตถุดิบนำเข้าอย่างข้าวสาลีในตลาดโลก ซึ่งเวลานี้มีราคาสูง การมาซื้อข้าวเปลือกแทนเท่ากับโรงงานอาหารสัตว์จะได้ทั้งปลาย รำ และต้นข้าว บวกค่าขนส่งแล้วยังคุ้มกว่าการนำเข้าข้าวสาลี ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการอย่างจริงจัง ต้องเทียบออกมาให้ชัดเจนว่าจะใช้ในสัดส่วนเท่าไร ซึ่งผมว่า นบข.น่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือในการประชุมรอบต่อไป”

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว ระบุว่า ขณะนี้โมเดลที่สมาคมโรงสีข้าวไทยเสนอกรมการค้าภายใน ขอให้ประสานให้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยเข้ามาช่วยรับซื้อข้าวกล้องจากโรงสี เพื่อดูดซับผลผลิตส่วนเกิน ประมาณ 4 ล้านตัน ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากผู้ผลิตอาหารสัตว์ต่อรองขอซื้อในราคาข้าวโพดลบ 1 บาท เช่น ถ้าราคาข้าวโพด กก.ละ 11 หัก 1 บาท ก็จะเหลือ 10 บาท แต่โรงสีขอให้รับซื้อในราคา กก.ละ 12 บาท โดยให้กรมการค้าภายในมาช่วยเจรจา รวมถึงใช้วิธีชดเชยส่วนต่างให้

“เหตุผลที่ให้ซื้อราคา กก.ละ 12 บาท เพราะเมื่อคำนวณกลับมาเป็นข้าวเปลือกไม่ต่ำมากกว่าตันละ 8,000 บาท ซึ่งตอนนี้มีบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ในเครือ ซี.พี.เข้านำร่องซื้อข้าวจากโรงสีหลายหมื่นตัน เพื่อใช้ผลิตอาหารสัตว์นำร่องไปแล้ว เราก็ใช้ราคานั้นเป็นตัวตั้งต้น”

สาเหตุที่ต้องเสนอเพราะการประกันรายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การส่งออกลดลง บริโภคลดลง ราคาตลาดก็ลดลง แต่ราคาประกันเท่าเดิม 3 ปี ทำให้ช่องว่างราคาห่างขึ้น (กราฟิก) รัฐต้องจ่ายชดเชยจำนวนมากขึ้น ซึ่งใน นบข.มีหน่วยงานที่เสนอว่าปรับราคาประกันให้สอดคล้องตลาด เช่น ข้าวเจ้าจาก 10,000 บาท เหลือ 8,500-9,000 บาท ข้าวมะลิจาก 15,000 บาท เหลือ 13,000 บาท แต่ก็ไม่มีการปรับในช่วงโค้งสุดท้ายการเมือง”

และแม้ว่าจะมีมาตรการคู่ขนานทั้งการเก็บฝากยุ้งฉาง หรือชดเชยดอกเบี้ยโรงสีฝากเก็บมาช่วย คงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ชาวนาต้องนำข้าวออกมาขาย อย่างในปีที่แล้วฝากเก็บยุ้งฉาง 1.3 ล้านตันต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก โดยปีนี้คาดว่ารัฐอาจต้องจ่ายประกันรายได้ถึง 80,000 ล้านบาท บวกค่าช่วยเก็บเกี่ยวอีกรวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีผลต่อสถานะ และการจ่ายเงินล่าช้าหรือไม่”