หมูแพง-ไก่ถูก “CPF” กัดฟันตรึงราคา

“ซีพีเอฟ” ยืนหนึ่ง กัดฟันตรึงราคาหมู กก.130 บาท ยาวไปถึงสิ้นปีนี้ ย้ำผู้เลี้ยงอ่วมต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง 15% จากราคาข้าวโพด หวั่นอนาคตรายย่อยขยาดเลิกเลี้ยงหมูชั่วคราว กระทบผลผลิตหมูปี 2565 หายไป 10-20% ต้องใช้เวลาอีกครึ่งปีกว่าจะฟื้นตัว เตรียมแผนขยับรุกธุรกิจโปรตีนชนิดอื่นทดแทนด้วยการรุกส่งออกไก่ไปต่างประเทศ

ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวโพด” กับการโรคระบาดหมูร้ายแรงท ส่งผลให้ราคาหมูในประเทศปั่นป่วน จนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติต้องประกาศขยับราคาหมูเป็นขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายไตรมาส 3 ราคาหน้าฟาร์มทะลุ 70 บาท ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า ปี 2565 คนไทยอาจจะต้องกินหมูแพงถึง กก.ละ 200 บาท ด้านกรมการค้าภายในได้ใช้วิธีด้วยการขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตเนื้อหมูตรึงราคาจำหน่ายหมูชำแหละไว้ที่ กก.ละ 130 บาทต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า CPF ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาจำหน่ายหมูไปจนถึงสิ้นปีและยอมรับว่า สถานการณ์การผลิตและจำหน่ายหมูในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น 15% โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ปรับขึ้นมามากที่สุดคือ “ข้าวโพด” จากเดิม กก.ละ 8.50 บาท ปัจจุบัน กก.ละ 11 บาท และยิ่งมาเจอมาตรการกำหนดให้ซื้อวัตถุดิบ ข้าวโพด 3 ส่วนเพื่อนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน หรือ 3 : 1 ยิ่งทำให้ต้นทุนแพงขึ้น โดยต้นทุนอาหารสัตว์ส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของการเลี้ยงหมู

“คนข้างนอกจะรู้สึกว่า หมูแพง แต่เขาไม่รู้หรอกว่า ผู้ประกอบการเลี้ยงแล้วไม่ได้กำไรเลย เพราะการเลี้ยงหมูต้องเอาเงินไปซื้อวัตถุดิบก่อนจะขายได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงส่งผลให้ปริมาณหมูในประเทศลดลงไปมาก โดยเฉพาะส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อย ถ้าสังเกตไตรมาส 3 หมูเป็นหน้าฟาร์มกิโลกรัมละ 52-53 บาท จากที่เคยราคา 75 บาทนั้น หมายถึงคุณต้องเซฟ 40% ฝั่งรายได้ส่วนฝั่งรายจ่ายเพิ่มขึ้น 15% แล้วเราก็เชื่อว่า ปี 2565 ทั้งปีสถานการณ์ก็จะเป็นแบบนี้ แต่ก็หวังว่า ไตรมาส4 จะปรับตัวและลดลงมา แต่ไม่รู้ว่า ข้าวโพดจะลงมาเหลือ 8.50 บาทได้หรือไม่ ส่วนการที่รัฐบาลขอความร่วมมือในการช่วยตรึงราคานั้น ผมก็คิดว่า ต้นทุนที่แท้จริงคงไม่มีใครที่จะแบกรับได้ตลอดเวลา เพราะถ้าไม่ขอความร่วมมือในการตรึงราคา ด้วยต้นทุนขณะนี้น่าจะทำให้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มขึ้นไปเกินกว่า 80 บาทเศษไปแล้ว” นายประสิทธิ์กล่าว

ส่วนคำถามที่ว่า “แล้วหมูจะขาดตลาดหรือไม่นั้น” นายประสิทธิ์เห็นว่า ถ้าหมูจะขาดก็จะขาดช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นแล้วทุกคนจะปรับ ซึ่งเหมือนกับสินค้าเกษตรทั่วไป คือเมื่อขาดสักระยะก็จะมีคนมาทำเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีคนเลี้ยงหมูน้อยลง ก็เพราะผู้เลี้ยงไม่อยากแบกรับความเสี่ยงจากการจ่ายเงินค่าอาหารสัตว์ไปก่อน โดยที่ไม่รู้ว่าอีก 6 เดือนราคาหมูอยู่ที่ราคาใด ผมประเมินว่า ปีหน้าหมูน่าจะหายประมาณ 10% กว่า ไม่ได้เยอะมาก คนกินอาจจะรู้สึก เพราะว่ากินอยู่ปกติแล้วอยู่ ๆ มันหายไปก็ต้องดูว่าจะสามารถทดแทนด้วยไก่หรือไข่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ไก่มีราคาถูกลงมาก”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติคาดการณ์ว่า ปี 2564 ไทยจะผลิตหมูได้ 102.16 ล้านตัน และมีความต้องการบริโภค 101.65 ล้านตัน

ด้านปัจจัยโรคระบาดหมูร้ายแรงนั้น ทางภาครัฐก็พยายามบริหารจัดการ แต่ผู้ประกอบการต้องยอมลงทุนในการจัดการฟาร์มของตัวเองด้วย แต่เชื่อว่า สาเหตุหลักที่หมูหายไปนั้น เป็นเพราะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นประเด็นหลักมากกว่า

สำหรับธุรกิจหมูของ CPF ในต่างประเทศนั้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 บริษัทย่อยของ CPF ได้เข้าซื้อหุ้นใน 43 บริษัทซึ่งประกอบธุรกิจสุกรในประเทศจีนจาก Chia Tai Animal Husbandry Investment (Beijing) Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPG) จะส่งผลด้านบวกทำให้ CPF สามารถต่อขยายธุรกิจสุกรได้ครบวงจร จากเดิมที่ทาง CPF ทำเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ หลังดีลดังกล่าวจะทำให้ภาพรวมฐานการผลิตหมูของ CPF จะขยับขึ้นติดอันดับท็อป 3 ในจีนมีปริมาณการเลี้ยง 17-18 ล้านตัวรองจากเบอร์ 1 ซึ่งเป็นผู้ผลิตจีนที่ผลิตได้ 20 ล้านตัว “สามารถรองรับความต้องการบริโภคหมูในตลาดจีนได้มากขึ้น”

“ปี 2564 ฐานการผลิตหมูของ CPF ในต่างประเทศปรับเปลี่ยนไป โดยในจีนจะขยายการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านตัว เป็น 7 ล้านตัว ถือว่าจีนกลายฐานผลิตอันดับ 1 เทียบเท่ากับฐานผลิตในเวียดนาม 6 ล้านตัว และเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านตัวในปี 2564 นี้เช่นกัน ขณะที่ฐานการเลี้ยงหมูในไทยยังคงเลี้ยงที่ 5 ล้านตัว”

ล่าสุด สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ASF (African Swine Fever) ซึ่งเป็นโรคระบาดหมูร้ายแรงของจีนกลับมาแล้ว ปริมาณหมูลดจาก 500 ล้านตัว เหลือ 300 ล้านตัว “ขาดไปเยอะ” ส่วนเวียดนามสถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้รับผลกระทบ ยังไม่โดน ASF แต่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 จนรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้น แต่ปีหน้าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้น การบริโภคฟื้น จะส่งผลดีต่อผลประกอบการของ CPF น่าจะมีรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น

ส่วนการประเมินแนวโน้มยอดขายในปี 2565 เชื่อว่า “จะปรับตัวดีขึ้น” จากการตั้งสมมุติฐานอยู่ประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะภาพรวมการส่งออกไก่ไปยังตลาดหลัก สหราชอาณาจักร, เยอรมนี และญี่ปุ่น โดยเฉพาะสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตตามมา ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นมหาศาลและนี่คือโอกาสในการส่งออกสินค้าไก่จะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ไตรมาส 3 ยังคงขาดทุนสุทธิ 5,375 ล้านบาท หรือลดลง 172% เมื่อเทียบจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน