รถไฟจีน-ลาวทำขาดดุลเพิ่ม สินค้าทะลัก 200 ตู้ถล่มไทย

รถไฟจีน-ลาว

รถไฟลาว-จีนป่วนไทยไม่หยุด ม.หอการค้าไทยคาดการณ์ปีหน้าสินค้าจีนเดือนละ 200 ตู้คอนเทนเนอร์มูลค่า 20,000 ล้านบาทมาแน่ ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น ส.ผู้ส่งออกผักผลไม้ไทยหวั่นอนาคตไทยจะกำหนดราคาขายผลไม้เองไม่ได้ ด้านสภาหอฯชงข้อเสนอ 5 ข้อ ให้เร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคาย

หลังจากการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีน เชื่อมต่อระหว่างคุนหมิงกับเวียงจันทน์ ได้เพียง 1 สัปดาห์ ความปั่นป่วนก็เกิดขึ้นกับตลาดผักผลไม้ภายในประเทศทั้งการส่งออกและการนำเข้า จากการทะลักเข้ามาของผักผลไม้ราคาถูกจากจีนที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 วันก็ถึง “ตลาดไท” ทว่าในทางกลับกัน สินค้าเกษตร-ผลไม้ส่งออกกลับไม่มี “โควตา” ระวางบรรทุกบนรถไฟลาว-จีน การส่งออกทางบกด้านอื่น ๆ ติดปัญหาการตรวจโควิด-19 ที่ด่านพรมแดน เร่งรัฐบาลเจรจาลาว-จีนขนผลไม้ไทยขึ้นรถไฟให้ทันฤดูกาลผลไม้หน้า

จีนขน 200 ตู้ขึ้นรถไฟมาไทย

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า การเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนจะทำให้มีสินค้าถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าเดือนละ 200 ตู้ในปี 2565 ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นฝ่าย “ขาดดุลการค้า” กับจีนมากขึ้น

“แนวทางแก้ไขที่สำคัญก็คือ เมื่อน้ำมาต้องมีทำนบกั้น ตอนนี้ไทยขาดความพร้อมด้านฮาร์ดแวร์ คือ ทางรถไฟ (ไทย-จีน)-สะพานข้ามแม่น้ำโขง (หนองคาย 2) และคลังสินค้ายังไม่แล้วเสร็จ ส่วนด้านซอฟต์แวร์ก็คือ การเตรียมเรื่องการดูแลมาตรฐานการนำเข้าต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งแรกไทยต้องใช้โมเดลจีน คือมีด่านตรวจสอบโควิด-19 เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่นำเข้าจากจีน

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องมาร่วมกันทำจุดเบ็ดเสร็จในการตรวจสอบสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานและต้องยึดโยงกับจีนให้จริงจังขึ้น ไม่เช่นนั้นเมื่อมีข่าวโควิดลอยมาไม่รู้ใครปล่อย สินค้าไทยก็จะเสียหาย จีนหันไปนำเข้าจากเวียดนาม ขณะที่ระดับนโยบายรัฐต้องไปเจรจากับจีนเรื่องการขยายการส่งออกสินค้าไทยโดยใช้เส้นทางรถไฟสายนี้” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว

ในขณะที่ ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว แจ้งว่า วานนี้ (6 ธ.ค.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะ ได้หารือร่วมกับเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ (เจษฎา กตเวทิน) เพื่อหารือความร่วมมือในการขยายและลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน โดยทางสภาธุรกิจฯและหอการค้า 3 จังหวัด (หนองคาย-อุดรธานี-มุกดาหาร) ได้มีข้อเสนอผ่านทางท่านทูต 5 เรื่อง คือ

1) ขอให้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ข้ามแม่น้ำโขงโดยเร็วเพื่อเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว ซึ่งในอนาคตทางลาวยังมีแผนขยายเส้นทางรถไฟต่อไปเชื่อมต่อกับ “ท่าเรือหวุ่นอ๊าง” ของเวียดนาม เพื่อขนส่งสินค้าไปทางทะเลอีกทางหนึ่ง

2) ขอให้การช่วยเหลือกับแรงงานลาวที่ต้องการเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยอีกประมาณ 400,000-600,000 คน (แรงงานถูกกฎหมายไม่เกิน 300,000 คน) และแรงงานไป-กลับอีกเท่าตัว โดยหอการค้าจะช่วยเรื่องการตรวจสอบโควิด-19 และวัคซีน

3) ขอให้เร่งรัดการเปิดด่านท่าเรือใน 3 จังหวัด ซึ่งเป็นด่านที่ค้าขายตามประเพณี 4) ขอให้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว (JC) ในเดือนมีนาคม 2565 พิจารณาเรื่องบันทึกข้อตกลงการดูดทราย ซึ่งยังติดขัดเงื่อนไขพื้นที่ตามที่ JC ทำข้อตกลงไปเมื่อปี 2551 ส่งผลให้ธุรกิจดูดทรายปิดตัวไปจำนวนมาก

และ 5) ขอให้ประสานรัฐบาลเรื่องการปรับลดระยะเวลาการกักตัวนักธุรกิจไทยจาก 14 วัน เหลือ 3 วัน ในโรงแรมที่รัฐบาลกำหนด และอีก 11 วันในบริษัท หรือบ้านพัก เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ด้านนายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ติดตามผลดี-ผลเสียการเปิดให้บริการรถไฟลาว-จีนอย่างต่อเนื่อง โดยจะรวบรวมปัญหาเพื่อนำไปหารือกับ กรอ.พาณิชย์ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟ

คาดว่า จะได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมประมาณกลางปี 2565 เพื่อให้ทันกับฤดูการผลิตผลไม้และต้องการให้ภาครัฐเร่งก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามชายแดนไทย-ลาวที่ จ.หนองคาย ให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นด้วย

เข้มโควิดผลไม้ไทยเสียหายหนัก

ด้าน นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ทางรถไฟลาว-จีนทำให้การขนส่งสินค้าจากคุนหมิงมาเวียงจันทน์ “สั้นมาก” จนเป็นที่น่าสังเกตว่า ในอนาคตอาจจะเกิดการผูกขาดตลาดรับซื้อผลไม้ของไทยหรือไม่

ที่ผ่านมามีนักลงทุนจีนขยายการทำธุรกิจรวบรวมรับซื้อผลไม้ (ล้ง) ในไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ราย ส่งผลให้ล้งไทยมีจำนวนลดลงอย่างมากเหลือเพียง 30-40% หากในอนาคตทั้งผู้นำเข้า-ล้งเป็นของจีน และยังสามารถบริหารจัดการเส้นทางขนส่งได้อีก ไทยอาจจะไม่สามารถกำหนดราคารับซื้อผลไม้ได้แล้ว

ซึ่งตอนนี้เท่าที่ประสบอยู่ ไทยก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบโควิด-19 ที่ฝ่ายจีนกำหนด การถูกตรวจสอบเรื่องศัตรูพืช-สารตกค้าง ขณะที่ด่านนำเข้าของฝ่ายไทยยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ แถมยังมีการลดภาษีนำเข้าตามกรอบ FTA อีกด้วย

“จีนไม่ยอมรับใบตรวจสอบโควิด-19 ของฝ่ายไทย แต่ขอไปตรวจเอง แต่สิ่งที่พบคือ ซากโควิด-19 ติดภาชนะจากไหนก็ไม่รู้ สั่งทำลายลำไยไทยไป 2 ตู้ การใช้เวลาตรวจสอบที่ด่านก็ยาวนานขึ้น จากเดิม 1-2 วัน กลายเป็น 8-10 วันก็เสียหายมาก

ประกอบกับตอนนี้มีผลไม้จากเวียดนามเข้ามาด้วย ล่าสุดด่านจีนมีการตรวจสอบจากวันละ 1,600 เที่ยว เหลือเพียงวันละ 450 เที่ยว ทำให้ตู้ผลไม้จากไทยเข้าไปได้น้อยมาก ตอนนี้ต้องเตรียมความพร้อมฤดูผลไม้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าด้วยการให้รัฐบาลเร่งเจรจาหาทางให้ผลไม้ไทยขนส่งขึ้นรถไฟลาว-จีนให้ได้

เพราะหากขึ้นรถไฟได้ไม่ต้องติดขัดที่ด่านทางบกอีก วิ่งทะลุไปจีนได้เลย ต้องคุยกันเรื่องพิธีสารศุลกากร ล่าสุดผู้ส่งออกไทยขาดทุนจากการที่ตู้ไปติดอยู่ที่ด่านไปแล้วน่าจะประมาณ 1,000 ล้านบาท ขายได้ราคาไม่ถึงครึ่ง” นายสัญชัยกล่าว

โดยการส่งออกผลไม้ไปจีนที่ชะลอตัวลงจากปัญหาข้างต้น มีผลทำให้ราคาลำไยนอกฤดูของไทยลดลงจาก กก.ละ 28-35 บาท เหลือ 15-18 บาท หรือหายไป 50% และกำลังขยายไปสู่ราคาสับปะรดภูแล จ.เชียงราย ลดลงจาก กก.ละ 7-12 บาท เหลือ 4 บาท อนาคตหลังเดือนกุมภาพันธ์อาจทำให้สินค้าผลไม้ทั้งมังคุด-ทุเรียนเสียหายมากขึ้นอีก แม้ว่าจะมีการทดสอบให้เปิดด่านบ่อเต็น 5 ตู้ ตู้ละ 20 ตัน ก็ถือว่าน้อยหากเทียบกับการส่งออกปกติที่ด่านนี้ส่งออกเป็น 100 ตู้คอนเทนเนอร์

ขณะที่นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด่านบ่อเต็นที่ปิดและมีการทดสอบการตรวจเชื้อโควิด-19 นั้น ในขณะนี้อนุญาตเปิดโควตาให้ไทยนำเข้าได้วันละ 20 ตู้ ทำให้ตู้ตกค้างและเกิดความเสียหาย ยกตัวอย่าง ทุเรียน ซื้อราคากล่องละ 1,000 หยวน ขายได้ 600 หยวน (กล่องละ 18.5 กก.) ลงทุนแต่ละตู้ 1-2 ล้านบาทขึ้นไป ก็เท่ากับว่าขาดทุนเกือบ 50%

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน มองว่า รถไฟลาว-จีนเป็นโอกาสในการส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทย ช่วยลดต้นทุนการส่งออก แต่พื้นที่ขนส่งในรถไฟอาจจะไม่เพียงพอกับปริมาณสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งมีปริมาณมากในแต่ละปี เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด

“อนาคตหลังโควิด-19 คลี่คลายลงจะเป็นโอกาสที่นักลงทุนทั้งสองฝ่ายจะลงทุนระหว่างกัน โดยการลงทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) ในพื้นที่รถไฟลาว-จีน ปัจจุบันพบว่ามีนักลงทุนจีนใช้พื้นที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟความเร็วสูงเป็นจุดวางสินค้าเพื่อรอการขนส่งข้ามแดน ยังไม่มีรูปแบบแวร์เฮาส์”

ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวหลังจากมีการเปิดสำนักงานประสานงานทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าเขตเสิ่นเจิ้นประจำประเทศไทยว่า ได้สั่งการให้จัดทำกรอบความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน หรือ “MINI-FTA” ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและเมืองเสิ่นเจิ้น จากที่ทำไปแล้วกับไห่หนาน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

และจะทำกับกานซู่ต่อไป “เสิ่นเจิ้นถือเป็นผู้นำเข้าผลไม้ของไทย และทางจีนมีนโยบายพัฒนาเสิ่นเจิ้นให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในจีน ส่วนกรณีที่จีนมีมาตรการควบคุมการปนเปื้อนโควิด-19 ในสินค้าผลไม้ รวมถึงผลไม้กระป๋องและอาหารทะเลกระป๋อง ไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าและใบรับรองมาตรฐานสินค้าที่ครบถ้วนเพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะผลไม้เข้าตลาดจีนให้ได้”

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าไทย-จีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2564 รวม 2.68 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.3% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย ขยายตัว 31.95% ส่วนการส่งออกผลไม้ไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) ตลาดจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด มีสัดส่วน 85% ของการส่งออกผลไม้ แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาอุปสรรคจากโควิด-19 และการปิดด่าน แต่การส่งออกก็ยังขยายตัวได้ถึง 86%