ไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์หมู

“เฉลิมชัย” เผยยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์หมู (ASF) สั่งปศุสัตว์เร่งพัฒนาวิจัยวัคซีน ป้องกันเชิงรุก พร้อมผลักดันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ

วันที่ 7 มกราคม 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั่วโลกและมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย รวมทั้งพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจะเข้าสู่ประเทศ

โดยถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยยังปลอดจากโรค ASF แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือและทำงานเชิงรุก เนื่องจากปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรค เมื่อเกิดการระบาดแล้วจึงส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการอุตสาหกรรมการผลิตสุกรอย่างมาก

ดังนั้นจึงได้ให้ความสำคัญมากได้ผลักดันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นวาระแห่งชาติ และเร่งสั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษาค้นคว้าความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรค ASF และติดตามการให้ความช่วยเหลือในการอนุมัติงบกลางเพื่อจ่ายชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านดูแลสุขภาพสัตว์ และการบริการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร ได้เร่งดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันโรคเข้าสู่ประเทศไทย เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือและเผชิญเหตุหากเกิดการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

โดยมีคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม และคณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรค ASF เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และการพัฒนาวัคซีน ASF ในสุกรต้นแบบ โดยกำหนดแนวทางการวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคและเสนอจัดหาแหล่งเงินทุนวิจัยสนับสนุน พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้คำปรึกษาและผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรต้นแบบด้วย

ซึ่งผลการวิจัยจากคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยและยังสามารถเป็นประโยชน์ใช้เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาการจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ในปีงบประมาณ 2563-2564 กรมปศุสัตว์ได้จ่ายค่าชดใช้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่สุกรที่ถูกทำลายแล้ว 3,239 ราย สุกร 112,768 ตัว วงเงิน 470.28 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำนวน 1,779.83 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าชดใช้ราคาสุกรและสิ่งของที่ถูกทำลาย ค่าตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค/ซากสัตว์ และค่าครุภัณฑ์ในการปฏิบัติงาน