จุรินทร์ ตั้งเป้า ค้าชายแดน-ผ่านแดน ปี’65 โต 5-7%

จุรินทร์ เผยการค้าชายแดน ผ่านแดน ปี 2565 ตั้งเป้าโต 5-7% ยังต้องจับตาโอมิครอนกระทบการค้า ขณะที่ ค้าชายแดน-ผ่านแดน ปี 2564 โต 34.6% มูลค่ากว่า 1.03 ล้านล้านบาท กว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนและผ่านแดน ในปี 2565 ในการประชุม กรอ.พาณิชย์ ครั้งที่ 3/2564 ที่ประชุมฯเห็นชอบการกำหนดเป้าหมายการค้าชายแดน ขยายตัวอยู่ที่ 5-7% หรือมีมูลค่า อยู่ที่ 1.08-1.10 ล้านล้านบาท

โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้การค้าชายแดน-ผ่านแดน ขยายตัวในปี 2565 คือ 1.จากการประเมินเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2.จากการคาดการณ์เรื่องค่าเงินบาทยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2564 จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในประเทศคู่ค้าของเราได้ 3.คาดว่าในปี 2565 ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางให้บริการรถไฟ ลาว-จีน ได้โดยสะดวกซึ่งจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยจากเวียงจันทน์ไปจีนทำได้สะดวกมีผลกับตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าจะดีขึ้น

4.การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ในรูป กรอ.พาณิชย์ หรือวอร์รูมการส่งออกยังเดินหน้าต่อไป 5.ตนมีนโยบายเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มซึ่งปัจจุบันมี 97 ด่านเปิดแล้ว 48 ด่าน และมีเป้าหมายเปิดปี 65 อีก 12 ด่าน ซึ่งจะเร่งรัดต่อไป ได้แก่

1.จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย 2.จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 3.จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคาน จ.เลย 4.จุดผ่อนปรนการค้า บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย 5.จุดผ่านแดนถาวร ท่าเรือหนองคาย อ.เมือง 6.จุดผ่านแดนถาวร ท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม อ.เมือง

7.จุดผ่านแดน ท่าเทียบเรือมุกดาหาร อ.เมือง 8.จุดผ่านแดนถาวร บ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ซึ่งตนไปติดตามด้วยตนเอง 9.จุดผ่อนปรนการค้า บ้านจุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย 10.จุดผ่อนปรนการค้า บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย 11. ช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น อ.เมืองจ.ตราด 12.ด่านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นใหญ่ ที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์โควิดโอมิครอนซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเปิดปิดด่านและการจราจรส่งออกสินค้าผ่านแดนข้ามแดนเพราะอาจมีความเข้มงวดในการตรวจโรคมากขึ้น และ สถานการณ์การเมืองเศรษฐกิจในเมียนมาอาจมีผลกระทบต่อตัวเลขการส่งออกสินค้าชายแดนไทยไปเมียนมาได้ โดยเฉพาะนโยบายการลดการใช้เงินตราต่างประเทศของเมียนมา เพื่อควบคุมการนำเข้าเพื่อลดปัญหาการขาดดุลการชำระเงินของเมียนมา

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการค้าชายแดน ผ่านแดน เดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 83,517 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.31% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขการส่งออก 12 เดือน ของปี 2564 (ม.ค. – ธ.ค.) มีมูลค่าสูงถึง 1,031,330 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34.60%

โดย 1. การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 141,507 ล้านบาท ขยายตัว เพิ่มขึ้น 12.92% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 83,517 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.31% และการนำเข้ามูลค่า 57,990 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.81% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2564 ทั้งสิ้น 25,527 ล้านบาท

1.1 การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว) เดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 87,682 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.26% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 55,469 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.64% และการนำเข้ามูลค่า 32,213 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.62% โดยมาเลเซียยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา

ดังนี้ 1) มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 17,223 ล้านบาท ขยายตัว 24.84% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ฯ 2,364 ล้านบาท ขยายตัว 20.26% ยางพารา 2,309 ล้านบาท ขยายตัว 9.79% และ รถยนต์ อุปกรณ์ฯ 1,145 ล้านบาท หดตัว 12.17% 2) กัมพูชา มูลค่าส่งออก 13,151 ล้านบาท ขยายตัว 27.26% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์นั่ง 1,748 ล้านบาท ขยายตัว 111.26% เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 1,029 ล้านบาท ขยายตัว 4.19% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 523.50 ล้านบาท ขยายตัว 17.51%

3) เมียนมา มูลค่าส่งออก 12,762 ล้านบาท ขยายตัว 53.54% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สายไฟฟ้า สายเคเบิล 1,248 ล้านบาท ขยายตัว 1,293.84% น้ำมันดีเซล 1,117ล้านบาท ขยายตัว 280.96%

และน้ำมันสำเร็จรูป 571 ล้านบาท ขยายตัว 214.51% 4) สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 12,332 ล้านบาท ขยายตัว 23.13% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ทองคำไม่ขึ้นรูป 1,879 ล้านบาท ขยายตัว 603.62% น้ำมันดีเซล 1,329.53 ล้านบาท ขยายตัว 43.69%และน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 802 ล้านบาท ขยายตัว 48.95%

1.2 การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) เดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่ารวม 53,825 ล้านบาท ชะลอตัวลง 1.70% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 28,048 ล้านบาท ชะลอตัวลง12.09% และการนำเข้า มูลค่า 25,777 ล้านบาท ขยายตัว เพิ่มขึ้น 12.81% โดยมีจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก ดังนี้

1) จีน มูลค่าส่งออก 9,290 ล้านบาท หดตัว 15.12% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา 3,074 ล้านบาท ขยายตัว 64.26% ผลิตภัณฑ์ยาง 1,928 ล้านบาท ขยายตัว 7.58% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 1,119 ล้านบาท หดตัว 61.62% 2) สิงคโปร์มูลค่าส่งออก 3,565 ล้านบาท ขยายตัว 32.99% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,098 ล้านบาท หดตัว 25.02% เครื่องปรับอากาศ 261 ล้านบาท ขยายตัว 392.758 และเครื่องใช้ไฟฟ้า 204 ล้านบาท ขยายตัว 67.85%

3) เวียดนาม มูลค่าส่งออก 4,227 ล้านบาท ขยายตัว 148.32% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด 1,183 ล้านบาท ขยายตัว 23.29% เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 1,134 ล้านบาท ขยายตัว 27.94% 4) ประเทศอื่น (เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มูลค่าส่งออก 10,996 ล้านบาท ขยายตัว 29.80%

2. การค้าชายแดนและผ่านแดน ช่วง 12 เดือนของปี 2564 (ม.ค. – ธ.ค.) มีมูลค่ารวม 1,715,345 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.03% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการ ส่งออกมูลค่า 1,031,330 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34.60% และการนำเข้ามูลค่า 684,051ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.70% โดยไทยได้ดุลการค้า 347,315 ล้านบาท โดยในช่วง 12 เดือนของปี 2564 (ม.ค. – ธ.ค.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกชายแดน 570,003 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 27.25% และการส่งออกผ่านแดน 461,327 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 44.94%

ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก 1) ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคา ได้มากขึ้น 2) ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็นทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการ Work From Home และการป้องกันหรือรักษาโรคในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน

โดยเฉพาะประเทศ CLMV 3) การฟื้นตัวในภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า/เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตมากกว่า 8% ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้า ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อนำไปผลิตสินค้าถุงมือยางและล้อรถยนต์ เป็นต้น รวมถึงสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไย ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีน 4) การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น