ประกันรายได้พืช 5 ชนิด โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมก้าวสู่ปี 4

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม
วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม

พาณิชย์พร้อมเดินหน้าโครงการประกันรายได้ และนำมาตรการคู่ขนานเข้ามาดูแลราคาสินค้า เกษตรกร ยืนยัน โครงการไม่มีทุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการเข้าสู่ปีที่ 4

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวระหว่างการสัมมนา “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา)” ซึ่งจัดโดย เครือมติชน ว่า พืชเกษตรเป็นพืชที่มีความสำคัญ และเป็นพืชเกษตรฐานรากที่จำเป็นจะต้องรักษา สร้างให้มีความมั่นคงเพราะหากเทียบกับหลายประเทศ แม้มีเงินก็ไม่สามารถที่จะหาซื้อพืชทางการเกษตรได้ โครงการประกันรายได้จึงมีส่วนสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เองยังมีมาตรการคู่ขนานเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น พร้อมทั้งผลักดันสินค้าส่งออก นอกเหนือจากการจำหน่ายภายในประเทศ

ทั้งนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมและผลักดันการใช้พืชเกษตรมีมูลค่า เช่น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมิคอล ซึ่งสามารถนำไปผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างเช่น ข้าว ที่นำไปผลิตเครื่องสำอาง เป็นการต่อยอดเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ให้เกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ

ประกันรายได้ โปร่งใสไม่ทุจริต

นายวัฒนศักย์กล่าวอีกว่า โครงการประกันรายได้เป็นโครงการที่จ่ายเงินส่วนต่าง มีการโอนเงินให้กับเกษตรกรโดยตรง ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรและ ธ.ก.ส.เองก็ ทำเรื่องตั้งงบประมาณกับทางรัฐบาล ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนในเรื่องของการพิจารณาและกำหนดราคา ดังนั้น ให้ความมั่นใจว่าโครงการประกันรายได้ไม่มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด

พร้อมกันนี้ สินค้าเกษตรก็มีทิศทางไปได้ดี มีเทคโนโลยีก็เข้ามาช่วยในการตอบโจทย์ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งนี้ ทางภาครัฐ กระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการคู่ขนานในโครงการประกันรายได้พืช 5 ชนิด ตั้งแต่เริ่มโครงการปีที่ 1 จนถึงปัจจุบัน และอนาคตอาจจะก้าวสู่ปีที่ 4 มาตรการคู่ขนานก็จะยังคงเดินหน้าเพื่อยกระดับราคาให้สูงขึ้น

มาตรการคู่ขนานที่เคยดำเนินการและปัจจุบันก็ยังทำอยู่ เช่น สินค้าข้าว ส่งเสริมให้ชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉาง เพื่อลดปริมาณข้าวออกสู่ตลาดที่จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลง จะเห็นได้ว่ามีชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉางมีปริมาณ 1.8 ล้านตัน และในปี 2564 ชาวนาเก็บข้าวในยุ้งฉางมากขึ้นอยู่ที่ 2 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้โรงสีเร่งรับซื้อข้าวมากขึ้นโดยมีมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

มันสําปะหลังก็มีมาตรการส่งเสริมให้ลานมัน โรงแป้ง เร่งซื้อและเก็บไว้ในระยะ 6 เดือน โดยมีการชดเชยดอกเบี้ยให้ พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรที่จำเป็นจะต้องขายหัวมันซึ่งได้ราคาอยู่ที่ 2.50-2.70 บาทต่อกิโลกรัม กระทรวงพาณิชย์ก็ส่งเสริม โดยจัดเครื่องสับหัวมันให้กับ สมาชิกวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ 800 เครื่อง ปีนี้ตั้งเป้าจะแจกอยู่ที่ 650 เครื่อง

“จะทำให้เกษตรกรแทนที่จะขายหัวมันสด ก็ขายมันสําปะหลังที่สับและนำไปตากแห้ง ซึ่งจะขายได้ราคากว่า โดยราคาจำหน่ายหรือรับซื้อจะอยู่ที่ 7 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์มน้ำมันเองก็มีนโยบายคู่ขนาน เช่น การผลักดันการส่งออก แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเกิน 3 แสนตัน ซึ่งในปีนี้นโยบายคู่ขนานต่าง ๆ ก็ยังจะดำเนินการต่อเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรและเกษตรกร”

นำกฎหมายดูแล

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐยังมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาดูแลพืชเกษตร เช่น การขออนุญาตขนย้าย การจำกัด จุดนำเข้า นำผ่าน เพื่อป้องกันการตกหล่นและอาจจะส่งกระทบต่อราคาพืชผลทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งขนส่งผ่านรถยนต์มีการจำกัดนำเข้า 3 จุด สามารถนำเข้าได้ คือ กรุงเทพฯแหลมฉบัง มาบตาพุด การนำผ่านเข้าได้ คือ กรุงเทพฯ ออกได้ 3 จุด เช่น เมียนมา ออกได้ ที่ แม่สอด กัมพูชา ออกได้ที่สระแก้ว สปป.ลาว ออกได้ที่ด่านหนองคาย ซึ่งล้วนเป็นมาตรการทางกฎหมายเข้ามากำกับดูแล

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ซึ่งมีประกาศในเรื่องของการรับซื้อผลผลิตจำเป็นจะต้องมีการปิดป้ายแสดงราคา และเผยแพร่ให้เกษตรกรได้รับรู้ และตัดสินใจในการขาย หากไม่มีการติดป้ายถือว่าทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการประกันรายได้ หรือมาตรการคู่ขนานจะต้องดำเนินการไปตามเหตุและผล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม