ความท้าทายใหม่ของราชาทูน่า ปั้น i-Tail รุกตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง

ธีรพงศ์ จันศิริ
ธีรพงศ์ จันศิริ

แม้วิกฤตโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง โควิด-19 ก็กลายเป็นโอกาสให้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ผู้ผลิตอาหารทะเลแช่แข็งแปรรูปของไทย ที่มีฐานการผลิตกระจายทั่วโลก มีรายได้จากยอดขายในปี 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 141,048 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.5% สามารถทำกำไรได้ถึง 8,013 ล้านบาท “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

ความท้าทายมีทุกปี

โอมิครอนรอบนี้กระจายเร็ว แต่ไม่รุนแรงมาก TU ผ่านเรื่องนี้มา 2 ปีแล้ว เรามีประสบการณ์มากขึ้น มีการบริหารจัดการเรื่องสุขภาพคนของเราตลอด 2 ปี ไม่มีอะไรต้องห่วง ตอนนี้เรากลับมาเปิดแฟกตอรี่ควอรันทีนในโรงงานพร้อมรองรับผู้ป่วย ฉีดเข็มที่ 3 ให้พนักงานแล้ว 25% น่าจะครอบคลุมได้ทั้งหมด

ส่วนวิกฤตเรื่องรัสเซีย-ยูเครนนั้น ผมมองว่าเหตุการณ์นี้ยังอยู่ในพื้นที่จำกัด ส่วนผลกระทบด้านเศรษฐกิจในเรื่องเงินเฟ้อที่ทุกคนกังวล เห็นว่าถึงแม้ไม่มีเรื่องนี้ก็มีเงินเฟ้ออยู่แล้ว จัดเป็นอุปสรรคและความท้าทายของปีนี้จากการที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น สินค้าคอมโมดิตี้ เหล็ก พลาสติกขึ้นหมด

ดังนั้น ปัญหาความท้าทายเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าระวางเรือสูงขึ้น ทุกปีมีหมด เราอย่าไปตื่นตกใจกับปัญหาเหล่านี้ก็จัดการไป ต้นทุนค่าน้ำมันสูงขึ้นจะดำเนินการอย่างไร เช่น การลดต้นทุน การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้ทรัพยากร ปรับราคาขายให้เหมาะสม

ระบบอัตโนมัติลดต้นทุนผลิต

ภาพรวมต้นทุนการผลิตของเราปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6-7% จากแพ็กเกจจิ้งและค่าขนส่ง ซึ่งปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน ปัจจุบันเรายังโชคดีที่ต้นทุนวัตถุดิบหลักสัดส่วน 60% ยังไม่ได้ปรับขึ้น จะมีปรับในส่วนของแพ็กเกจจิ้งคิดเป็นสัดส่วน 10% โลจิสติกส์สัดส่วน 20% ที่เหลืออีก 10% เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เริ่มปรับราคามาตั้งแต่ปลายปี โดยสินค้าที่เป็นแบรนด์ของเราปรับขึ้นตามต้นทุนชนิดสินค้า ส่วนสินค้าที่รับจ้างผลิตปรับขึ้นราคาเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

อีกด้านสิ่งที่ TU ทำก็คือ การลดต้นทุนการผลิต-เพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งทำมาตลอด ตั้งเป้าลดคอสต์ให้ได้ 3% ต่อปี เช่น นำระบบออโตเมชั่นมาใช้แทนแรงงานคน ทุกคลังสินค้าและแวร์เฮาส์ใช้ระบบอัตโนมัติ ใช้เครื่องปอกเปลือกกุ้งแทนคน การคัดไซซ์กุ้งใช้ระบบ visual laser ลงทุนจอยต์เวนเจอร์ทำ flexible packaging ต่อยอดธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ใช้แพ็กเกจจิ้งทำเองประมาณ 50% ในธุรกิจ จนเราสามารถปรับตัวรับกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้

ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงเบอร์ 1

จะเห็นได้ว่า ธุรกิจหลักของ TU ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง อาหารกระป๋อง เราเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและดูแลคอสต์มากขึ้น เพราะการเติบโตด้านรายได้กลุ่มนี้อาจไม่สูงมาก แต่เน้นความสามารถในการทำกำไร ส่วนเรื่องการเติบโตจะไปเน้นธุรกิจใหม่ อย่างเช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ โดยปี 2564 เราสปินออฟบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลด์ (TMF) เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปีนี้จะสปินออฟ “อาหารสัตว์เลี้ยง” เข้าตลาดด้วย

โดยจะเป็นการปรับแพลตฟอร์มจากบริษัท สงขลาแคนนิ่ง มาเป็นบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ i-Tail ตอนนี้อยู่ระหว่างทำ IPO ได้ที่ปรึกษาทางการเงินเรียบร้อยแล้ว และเตรียมที่จะยื่นไฟลิ่งให้กับ ก.ล.ต. คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ และเราจะเป็นบริษัทแรกในประเทศที่ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 100% สำหรับคนที่สนใจลงทุนในธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ ตอนนี้กำลังสร้างโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นที่มหาชัย สมุทรสาคร จะเสร็จในปลายปีนี้ ทำให้มีกำลังการผลิตเติบโตขึ้นอีก 30%

ปัจจุบัน TU เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 1 ของไทย แต่เป็นอันดับ 2 ในเอเชีย และเป็นอันดับที่ 15 ของโลก ธุรกิจนี้เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราหวังว่าจะรักษาการเติบโต 15% ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเราดูภาพรวมการใช้อาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่อย่างประเทศจีน เมื่อคนมีรายได้ดีขึ้น และประชาชนส่วนใหญ่สูงวัย

เรามีนโยบายเป็นผู้รับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใช้เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์มาพัฒนาสินค้า เพื่อให้เป็น strategic supplies ให้แบรนด์ชั้นนำทั่วโลก มุ่งขยายการส่งออกไปยังสหรัฐ ยุโรป เอเชีย และตลาดที่มีประชากรสูง อย่างอินโดนีเซีย และอินเดีย จุดแข็งธุรกิจนี้อยู่ที่การผลิต “อาหารแมว” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80% และเป็นอาหารเปียก หรือเป็นนิชมาร์เก็ต มีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง

ธุรกิจใหม่กัญชง-แมลงวันหัวทอง

ขณะที่ธุรกิจใหม่ ธุรกิจส่วนผสมในอาหาร (ingredients) ในไตรมาส 4 ปีนี้ โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจนเปปไทด์ ที่ต่อยอดในกลุ่มนี้จะเสร็จปลายปี ทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจนี้เติบโตมากขึ้นและเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังต้องรอดูผลหลังจากที่จัดตั้งบริษัท ไทยยูเนี่ยนไลฟ์ ไซแอนด์ นำเข้าและจำหน่ายทูน่าออยล์ แคลเซียม คอลลาเจน ภายใต้แบรนด์ “ZEVITA” เข้าสู่ตลาดแบบ B2C ว่าเป็นอย่างไร รวมถึงผลสำเร็จการร่วมลงทุนในเชิงกลยุทธ์จากการทำจอยต์เวนเจอร์ เช่น ร่วมกับไทยเบฟฯผลิตฟังก์ชั่นนอลเบฟเวอเรจวางตลาดแล้ว

การลงทุนร่วมกับบริษัท RBF เตรียมออกผลิตภัณฑ์ “กัญชง” ในไตรมาส 1 การทำตลาดโปรตีนทางเลือกแบรนด์ OMG ให้ถึง 1,000 ล้านบาท การลุยคอร์ปอเรตเวนเจอร์ฟันด์ยังเน้นลงทุนใน deep food tech เพื่อหาโอกาสต่อยอดจากเทรนด์ต่าง ๆ ซึ่งปีนี้การลงทุนผลิตโปรตีนจากแมลงวันหัวทอง กับสตาร์ตอัพจากอิสราเอลชื่อ “ไฟสปาร์ค” นั้น โรงงานผลิต จ.เพชรบุรี จะเสร็จปลายปีนี้ จะเป็นโชว์เคสของนวัตกรรมนี้ในประเทศไทย เท่ากับตอนนี้ TU ใช้ประโยชน์จากทูน่าเต็ม 100% แต่ตอนนี้การพัฒนาอินกรีเดียนต์นิวทริชั่น ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มเข้ามาหลายเท่าตัว

เพิ่มความสามารถในการทำกำไร

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ TU วางงบประมาณลงทุนไว้ที่ 6,000 ล้านบาท แต่จะเน้นลงทุนในธุรกิจที่มีกำไรสูง ในรูปแบบการทำจอยต์เวนเจอร์ ธุรกิจใหม่ ขนาดการลงทุนไม่ได้ใหญ่มาก ในวันนี้ TU ไม่ได้เน้นเรื่องการเติบโตยอดขายเป็นหลัก เราตั้งเป้าปีนี้จะเติบโต 5% แต่เน้นเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดมากจากในอดีต gross profit margin อยู่ที่ 15% ปี 2021 สูงกว่า 18%

เป้าหมายคือเข้าสู่ระดับ 20% ภายในปี 2025 (2568) เช่นเดียวกับ EBITDA ตั้งเป้าให้ถึง 450-550 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปีที่แล้วทำไปถึงเกือบประมาณ 500 ล้านเหรียญแล้ว ไม่เพียงยอดขายกำไรเติบโต แต่สัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นค่อนข้างเข้มแข็งมาก ยังต่ำกว่า 1 เท่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างภูมิใจที่สามารถปันผลสูงสุดตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้ค่อนข้างดี