มนัญญาจ่อหารือเฉลิมชัย ทบทวนจัดสรรโควตานมโรงเรียน

“มนัญญา” จ่อหารือ “เฉลิมชัย” แก้ปัญหานมโรงเรียนทั้งระบบ ช่วยเหลือสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมให้ได้รับความเป็นธรรมทุกฝ่าย หลังชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ยื่นข้อเสนอ 6 ข้อขอทบทวนโควตา จี้ตรวจสอบผู้ประกอบบางรายที่ไม่รับน้ำนมดิบจากเกษตรกร แต่กลับมาได้งบฯในโครงการนมโรงเรียน

วันที่ 9 มีนาคม 2565 รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือแก้ไขปัญหาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และรับมอบหนังสือพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากตัวแทนชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ว่า ภายหลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วจะนำข้อร้องเรียนของตัวแทนชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด หารือต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางแก้ไขปัญหา และจะเสนอต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้สามารถมีสิทธิเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน และได้รับงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรให้โครงการนี้ปีละกว่า 14,000 ล้านบาท สำหรับผลิตนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนของไทยได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

โดยจากข้อร้องเรียนของชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ที่ได้มีการประชุมร่วมกันในหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่ามีหลายประเด็นที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

อาทิ 1.การจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ปีการศึกษาละ 96 ตัน เป็นจำนวนที่เหมาะสมหรือไม่หากเทียบกับจำนวนเกษตรกรที่ อ.ส.ค.จะต้องรับซื้อน้ำนมดิบวันละประมาณ 700 ตันต่อวัน หรือร้อยละ 9 ของโครงการนมโรงเรียนที่จะใช้นมดิบทั้งระบบประมาณ 1,200 ตันต่อวัน จากผลผลิตนมทั้งประเทศ 3,500 ตันต่อวัน

2.คุณภาพนมดิบที่เข้าโครงการเป็นไปตามมาตรฐานที่มีการกำหนดหรือไม่ เนื่องจากเกษตรกรระบุว่า ในบางพื้นที่ยังมีปัญหาว่านมไม่ได้มาตรฐาน แต่บางโรงงานสามารถนำไปผลิตเข้านมโรงเรียนได้ ซึ่งเรื่องนี้เห็นควรต้องมีการมาวางระบบตรวจสอบให้ถูกต้อง และ 3.การที่มีผู้ประกอบการไปจัดตั้งโรงงานผลิตนมขนาดเล็ก 3-5 ตัน เพื่อขอรับสิทธิเข้าโครงการนมโรงเรียน โดยไม่มีที่มาของฟาร์มนมที่จะเป็นวัตถุดิบ กรณีนี้จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นจริงตามข้อร้องเรียนหรือไม่ เป็นต้น

“เจตนารมณ์ของโครงการนมโรงเรียนคือต้องการให้นักเรียนของไทยได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ และขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทยมีความยั่งยืนในอาชีพ ที่ผ่านมาจึงได้มีการกำหนดรูปแบบโครงการว่า นมที่เข้าโครงการนมโรงเรียน ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากเกษตรกรเท่านั้น”

แต่จะเห็นว่าปัจจุบัน อ.ส.ค.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่รับซื้อ รับผิดชอบนมจากเกษตรกร ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 4,500 ครัวเรือน ปริมาณน้ำนมดิบ 700 ตันต่อวัน แต่ได้สิทธิโควตานมโรงเรียนเพียง 96 ตันต่อวัน ที่เหลือเป็นภาคส่วนอื่นที่ได้รับโควตาไป แต่เมื่อเกิดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ทั้งราคาน้ำนม คุณภาพน้ำนม นมโรงเรียนบูด นมโรงเรียนเสีย อ.ส.ค.เป็นหน่วยงานแรกที่ถูกร้องเรียน

ในขณะที่ อ.ส.ค. มีส่วนผลิตเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น และสัดส่วนนมโรงเรียน 96 ตันต่อวัน ไม่สามารถที่จะดูแลสมาชิกสหกรณ์โคนมได้อย่างครอบคลุม ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน รวมถึง อ.ส.ค.ยังต้องแบกภาระสต๊อกน้ำนม UHT กว่า 30,000 ตัน เนื่องจากประสบปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ดังนั้น จะเสนอ รมว.เกษตรฯ ให้นำเรื่องนี้หารือในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยเร่งด่วน จะไม่รอให้เกษตรกรต้องขนนมมาทิ้งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ด้านนายสมาน เหล็งหวาน ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด ได้เสนอในหนังสือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ดังนี้ 1.ทบทวนพิจารณาโควต้านมโรงเรียนให้กับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนมที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเป็นสมาชิก ก่อนผู้ประกอบการบางรายที่ไม่มีโคนม และให้ยกเลิกคุ้มครองโรงงานโรงนมเล็กทั้งหมด ซึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและนักเรียน ให้ยกเลิกทั้งขนาด 5 ตัน และ 3 ตัน มิฉะนั้นจะเกิดโรงใหม่ขึ้นทุกปี แต่จำนวนเด็กนักเรียนตามงบประมาณเท่าเดิม

2.ให้สหกรณ์ที่มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมจริงเป็นสมาชิก และได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างกัน และต้องการขอสิทธิโควตาทำนมโรงเรียน โดยขอจัดสรรสิทธิโควตาให้เป็นไปตามสัดส่วนการรับน้ำนมดิบที่เป็นธรรมและโปร่งใส (เกษตรกรตัวจริง) ที่รวมตัวเป็นสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตัวจริง 3.ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประกอบการนมโรงเรียน อนุญาตประกอบกิจการโรงงานเฉพาะกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์โคนม

โดยให้สามารถจ้างโรงงานผลิตภัณฑ์นมในพื้นที่ที่มีกระบวนการผลิตผ่านหลักเกณฑ์อาหารเสริม (นม) โรงเรียน เป็นไปตามข้อกำหนด 4.พิจารณาให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ได้สิทธิโควตา เข้าไปทำนมโรงเรียนง่ายและมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มน้ำนมที่ผลิตได้ และเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้สหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีตลาดที่แน่นอน มั่นคง และยั่งยืน

5.ให้จัดสรรสิทธิตามสัดส่วนการรับน้ำนมดิบของเกษตรกร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและยุติธรรม และ 6.ให้ตรวจสอบผู้ประกอบบางรายที่ไม่รับน้ำนมดิบจากเกษตรกรแต่กลับมาได้งบในโครงการนมโรงเรียน

“ขณะนี้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากการจัดสรรโควตานมโรงเรียน ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรมกับภาคเกษตรกร จึงต้องมาขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหา”