ปตท.สผ.เดินหน้าต่อผลิตก๊าซธรรมชาติ ยาดานา เมียนมา มีผล 20 ก.ค.

ปตท.สผ.-บริษัทย่อยเชฟรอน เดินหน้ายาดานา หลังโททาลฯถอนตัว มีผล 20 ก.ค. 65 นี้ หวังผลิตก๊าซธรรมชาติต่อเนื่อง 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สร้างความมั่นคงทางพลังงานไทย-เมียนมา

วันที่ 14 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ถึงความคืบหน้าการเข้าเป็นผู้ดำเนินการโครงการยาดานาในอ่าวเมาะตะมะ

ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเมียนมา ตามที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ร่วมทุนของโครงการให้เข้าไปดำเนินการหลังจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ได้ถอนตัว ซึ่งจะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565

อย่างไรก็ตาม ต้องอาศัยความร่วมมือจากบริษัท  โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ในการเปลี่ยนผ่านการเป็นผู้ดำเนินการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนในประเทศเมียนมาและประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยแล้ว ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเมาะตะมะซึ่งได้มีการสำรวจพบและนำขึ้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันนั้น เรียกได้ว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โครงการยาดานา มีการผลิตก๊าซธรรมชาติ ปริมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้ในเมียนมาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

ในขณะที่ประเทศไทย ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากโครงการยาดานาด้วยเช่นกัน โดยส่งเข้าประเทศไทยประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของประชาชนกว่า 11 ล้านคนในภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 11% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย

“ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทพลังงานของไทย เห็นความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งของการผลิตก๊าซธรรมชาติ จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมามากว่า 30 ปี และบริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบในการเข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการยาดานาต่อจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ซึ่งถอนตัวออกจากโครงการ โดยบริษัทเชื่อว่าการเข้าเป็นผู้ดำเนินการจะสามารถช่วยรักษาความต่อเนื่องในการจัดหาพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงาน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว”

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุน (Production Operating Agreement หรือ POA) สัดส่วนการร่วมทุนของบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ จะกระจายให้กับผู้ร่วมทุนรายอื่นในโครงการตามสัดส่วนการลงทุน โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะส่งผลให้ บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 37.0842

โดยบริษัท เชฟรอน ซึ่งมีบริษัทย่อยคือบริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ จะเป็นผู้ถือสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด ร้อยละ 41.1016 ภายหลังจากบริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ยุติการเป็นผู้ร่วมทุนและเป็นผู้ดำเนินการ