เคาะมาตรการสำคัญ 19 ประเด็น อัพเกรด FTA เร่งบังคับใช้ RCEP

สรรเสริญ สมะลาภา

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเคาะมาตรการสำคัญด้านเศรษฐกิจ 19 ประเด็น พร้อมประกาศเริ่มเจรจาอัพเกรดความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2567 เร่งรัด RCEP ให้บังคับใช้ทุกประเทศ เห็นชอบขยายอายุ MOU การส่งออกสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด แนวทางรับมือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 18 มีนาคม 2565 นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 28 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการสำคัญด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนต้องการผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้ รวม 19 ประเด็น ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ (1) ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (2) การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (3) การส่งเสริมการบูรณาการ การมีส่วนร่วม ความยืดหยุ่น และความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน และ (4) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา

การประชุมครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยมาตรการสำคัญด้านเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เน้นเรื่องการเจรจาอัพเกรดความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ การเร่งรัดให้ความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับกับทุกประเทศโดยเร็ว และร่วมกันประกาศเริ่มเจรจาอัพเกรดความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งตั้งเป้าหมายให้สามารถสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากปัญหาโควิด-19 ซึ่งไทยได้เสนอ 3 ปัจจัยสำคัญ สำหรับสนับสนุนการฟื้นฟู ได้แก่ การเคลื่อนย้ายบุคคลในภูมิภาคให้ครอบคลุมนักท่องเที่ยว การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากขึ้น และการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับต่าง ๆ ของอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบในหลักการขยายอายุบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด-19 ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 และเร่งรัดประเทศสมาชิกให้ความเห็นต่อการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น ซึ่งไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประเมินผลกระทบของ MOU เพื่อประกอบการพิจารณาขยายบัญชีรายการสินค้าให้จำกัดเพียงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และห่วงโซ่การผลิตเท่านั้น

นายสรรเสริญกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกอาเซียนและแนวทางเจรจาในประเด็นใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อยกระดับความความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนกับคู่เจรจา อาทิ การพัฒนาอย่างยั่งยืน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ซึ่งไทยได้เน้นย้ำว่า อาเซียนต้องแสดงบทบาทเชิงรุกและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค โดยต้องมีวิสัยทัศน์และจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งล่าสุดอาเซียนกับอินเดียสามารถสรุปขอบเขตของการทบทวนความตกลงการค้าสินค้า โดยรัฐมนตรีมอบหมายเจ้าหน้าที่อาเซียนให้ทำงานร่วมกับอินเดีย เพื่อกำหนดเวลาประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-อินเดียรอบพิเศษ

ที่ประชุมได้หารือถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่มีต่ออาเซียน ซึ่งผลกระทบทางตรงมีไม่มากนัก เนื่องจากมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและรัสเซียอยู่ในระดับต่ำ แต่ประเทศอาเซียนที่มีการนำเข้าวัตถุดิบหลักจากรัสเซียอาจได้รับผลกระทบปานกลาง อาทิ เชื้อเพลิง แร่และโลหะ และเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งจะส่งผลไปยังอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบทางอ้อมจากเงินเฟ้อ ความผันผวนของตลาดการเงิน และการขาดช่วงในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะส่งผลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนช้าลง ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถเจรจาหาข้อตกลงกันได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกและอาเซียนในระยะยาว ซึ่งไทยได้เสนอให้อาเซียนดำเนินการร่วมกันทั้งเรื่องการเปิดตลาดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า และความร่วมมือทางด้านพลังงาน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในภูมิภาค

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือข้อริเริ่มและการดำเนินการกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยจะร่วมมือกันผลักดันประเด็นสำคัญในปีนี้ อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน การเตรียมความพร้อมอาเซียนเพื่อก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล และการรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 สำหรับไทยได้แจ้งที่ประชุมทราบถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญในปีนี้

สำหรับในเดือนมกราคม 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 9,321 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.7% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 5,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 4,058 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9.3% ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 110,799 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.1% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 65,015 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 17.2% และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,784 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.9%