ส่อง โรงไฟฟ้า BPP ในจีน ปรับกลยุทธ์สู้ต้นทุน “ถ่านหิน”

โรงไฟฟ้า

 

สถานการณ์ราคาถ่านหินที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อไตรมาส 4/2564 และมีแนวโน้มทรงตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่ใช้ “ถ่านหิน” เป็นวัตถุดิบอย่างแน่นอน แต่เหตุใด “บมจ.บ้านปู เพาเวอร์” (BPP) แสดงท่าทีมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของ BPP ในจีน สามารถก้าวผ่านวิกฤตราคาถ่านหินรักษาการทำกำไรไว้ได้

โดยภาพรวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในประเทศจีน (Combined Heat and Power : CHP) ของ BPP ทั้ง 3 แห่ง ที่เมือง Zouping ซึ่งเข้าไปถือหุ้น 100% กำลังการผลิต 139 MWe, Zhengding ถือหุ้น 100% กำลังการผลิต 227 MWe และ Luannan ถือหุ้น 70% กำลังการผลิต 121 MWe (ตามกราฟิก)

แต่ละแห่งต้องเผชิญกับความท้าทายราคาถ่านหินที่ปรับขึ้นไปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาถ่านหินเฉลี่ยปี 2564 ที่ Zhengding ปรับขึ้นไปเป็นตันละ 703 หยวน จากปี 2563 ที่ 504 หยวน หรือเพิ่มขึ้น 200 หยวน, ราคาถ่านหินที่ Luannan ปรับขึ้นไปเป็น 962 หยวน จากปี 2563 ที่ราคา 573 หยวน หรือปรับขึ้น 389 หยวน และราคาถ่านหินที่ Zouping ปรับขึ้นไปตันละ 1,134 หยวน จากปี 2563 ที่ราคา 628 หยวน หรือปรับขึ้น 506 หยวน

โรงไฟฟ้าบ้านปูในจีน

นโยบายคุมราคาถ่านหินจีน

นายประกาย หยกน้ำเงิน ผู้อำนวยการสายธุรกิจไฟฟ้าจีน BPP กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่มีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหินค่อนข้างมาก ดังนั้น สถานการณ์ราคาถ่านหินจึงมีผลต่อการผลิตไฟฟ้าในจีน ทำให้รัฐบาลจีนมีมาตรการหลายด้านเพื่อ “คงราคา” ถ่านหิน ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้้ำ คือ ระบบขนส่ง และปลายน้ำ คือ โรงไฟฟ้า

สำหรับวิธีการดูแลราคาถ่านหินของรัฐบาลจีน คือ จะให้เพิ่มกำลังการผลิตเหมืองถ่านหิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจจีนสามารถปรับเพิ่ม-ลดลงได้ตามที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้มีการจัดสัดส่วนการระบายถ่านหิน โดยเน้นเป็นการขายทำสัญญาระยะยาว ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปีมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เล่นที่เป็นเหมืองและโรงไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจ ส่วนเอกชนอื่นก็ซื้อตามราคาตลาดจากผู้ขาย เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย โดยจะวางแผนการซื้อเพื่อมาสต๊อกใช้

“เราเห็นความสามารถของรัฐบาลจีนในการใช้มาตรการตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งตอนนั้นระดับราคาถ่านหินปรับขึ้นไปสูงมาก แต่เขาสามารถดึงกลับลงมาได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งตอนนี้เราประเมินว่า ราคาถ่านหินในระยะสั้นคงปรับขึ้นสูง แต่ผมเชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนรัฐบาลจะสามารถทำให้ราคาถ่านหินปรับลงมาได้ แนวทางการทำงานของเราตั้งแต่ปีก่อน เรามีการปรับราคาขายไอน้ำ และปรับราคาค่าไฟฟ้าไปแล้ว ฉะนั้น ผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงขณะนี้จะอยู่ในวงจำกัด”

กำไรจากการขายไอน้ำ

นายประกายเล่าว่า ปีที่ผ่านมาผลประกอบการโรงไฟฟ้าในประเทศจีน CHP 3 โครงการแรก ที่ Zouping, Zhengding และ Luannan ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม มีกำลังการผลิตรวม 539 เมกะวัตต์นั้น สามารถขายไอน้ำเพิ่มได้ 6.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ขายได้ 6.2 ล้านตัน ส่วนการขายไฟลดลง เพราะเมื่อมีการปรับจ่ายไอน้ำมากขึ้นก็ลดการจ่ายไฟลงเพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้เหลือปริมาณการจ่ายไฟอยู่ที่ 1,179 GWh ลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 ที่ 1,563 GWh

“ราคาเชื้อเพลิงในจีนปรับตัวสูงขึ้น ทางทีมได้บริหารจัดการจนซื้อวัตถุดิบได้ถูกกว่าตลาด 1 ใน 3 ส่งผลให้เราสามารถส่งกำไรกลับมาที่บริษัทแม่ได้ถึง 20 ล้านหยวน ซึ่งยากที่หลายโรงจะทำได้ และรายได้ภาพรวมอยู่ที่ 1,227 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ 1,165 ล้านหยวน กำไร EBITDA อยู่ที่ 80 ล้านหยวน ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไร 294 ล้านหยวน ซึ่งสะท้อนถึงแม้จะอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก แต่บริษัทยังสามารถที่จะเดินหน้ารักษาผลกำไรในการทำธุรกิจเอาไว้ได้”

ขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ขนาด 1,320 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่ที่ได้เริ่มจ่ายไฟ COV เมื่อปี 2564 ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตามคำสั่งของการไฟฟ้ามณฑลชานซี โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions : HELE) เป็นโครงการที่จีนให้การสนับสนุนอย่างมากเพราะปล่อยมลพิษน้อย ซึ่งต่อไปเรามีเป้าหมายจะเพิ่มการจ่ายไฟให้มากขึ้น และจะขยายธุรกิจการขายไอน้ำและงานความร้อนให้ชุมชนโดยรอบด้วย

ภาพรวม BPP ปี’64

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการปี 2564 ของ BPP มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 5,505 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมบริษัทมีกำไรก่อนหักภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ที่ 3,487 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,127 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 72,232 ล้านบาท มีเงินสด cash equivalent อีก 2,635 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ 0.28

กิรณ ลิมปพยอม
กิรณ ลิมปพยอม

“สถานการณ์ราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นความท้าทายในปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากปัจจัยหลากหลายทั้งดีมานด์และซัพพลาย แต่นั่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าแฟลกชิปของ BPP ทั้งโรงไฟฟ้า BLCP ที่มาบตาพุด เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินล่วงหน้าเป็นระยะเวลายาวนาน และสามารถส่งผ่านไปเป็นค่าไฟฟ้าได้ ส่วนโรงไฟฟ้าหงสา (HPC) มีเหมืองถ่านหินผลิตเอง ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในตลาดโลก จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลก”

“แต่ต้องยอมรับว่าในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในประเทศจีน (CHP) ทั้ง 3 แห่ง ที่เมือง Zouping, Zhengding และ Luannan ในจีนได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินบ้าง แต่ยังสามารถที่จะรับมือได้โดยการปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผ่านต้นทุนไปที่ราคาไอน้ำ ซึ่งทำให้ทั้ง 3 โรงยังสามารถส่งกำไรกลับมาได้”

อย่างไรก็ตาม หากแยกดูในส่วนของรายได้ปี 2564 จะพบว่า เป็นรายได้จากการขายไอน้ำที่โครงการ CHP ในจีน มากที่สุดถึง 3,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% ส่วนการขายไฟฟ้าโครงการ CHP ในจีน 2,147 ล้านบาท ลดลง 16% และนอกจากนั้นคือการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า Temple 1 ในสหรัฐ ที่เริ่มดำเนินการผลิตต่อหลังจากที่เข้าซื้อกิจการเมื่อเดือนพ.ย. 2564 จึงมีรายได้ 673 ล้านบาท

นอกจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้ว BPP ยังมีการลงทุนพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในจีนด้วย โดยมีการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ ขนาดกำลังการผลิต 177 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดย Banpu NEXT ซึ่งสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ถึง 223 GWh เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2563 ที่ขยายได้ 220 GWh และสร้างรายได้ 203 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2563 ที่มีรายได้ 192 ล้านหยวน และมีกำไรสุทธิ 75 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19% สะท้อนว่า “จีน” เป็นแหล่งผลิตที่มีศักยภาพ และมีโอกาสต่อยอดไปในธุรกิจด้านเทคโนโลยีด้านพลังงานเพิ่มขึ้นด้วย