7 สินค้าไทยขึ้นรถไฟจีน-ลาว “หน้ากากอนามัย” ประเดิมรุกส่งออกยุโรป

ทูตพาณิชย์คุนหมิง เปิดลิสต์ส่งออกสินค้าไทย-จีน เริ่มขยับใช้รถไฟจีน-ลาวคึกคักขึ้น วันละ 3 ขบวน “หน้ากากอนามัย” ประเดิมนำร่องส่งข้ามไทยไปถึงยุโรปครั้งแรก เร่งทลายอุปสรรคการขนส่ง เชื่อมสิ่งก่อสร้าง-โลจิสติกส์ อำนวยความสะดวกขาเข้า-ขาออก นำเข้าวัตถุดิบจากจีน

ด้านสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เส้นทางรถไฟจีน-ลาว มั่นอีก 2 เดือนลานตรวจพืชด่านรถไฟโมฮานเสร็จพร้อมรับสินค้าเกษตรไทยดันยอดค้าพุ่ง

นายณัฐ วิมลจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว มีจำนวนเฉลี่ย 3 ขบวนต่อวัน ซึ่งขณะนี้การขนส่งรถไฟจีน-ลาวที่ต้องเข้าผ่านด่านรถไฟโมฮานยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบ

เนื่องจากยังขาดความพร้อมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากหน่วยงาน GACC อยู่) จึงยังไม่สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น ๆ ที่ต้องใช้ระบบควบคุมความเย็น (cold chain)

ไทยเริ่มมีการทดลองขนส่งสินค้า noncold chain ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเป็นลอตแรก คือ ปลายข้าวเหนียวหัก 500 ตัน (20 ตู้) ไปยังมหานครฉงชิ่ง ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา และในภายหลังมีการขนส่งสินค้าบางประเภทจากไทยเข้าจีน ผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง สินค้าเทกอง เม็ดพลาสติก สบู่ ผลิตภัณฑ์จากยางพาราและสินค้าทั่วไป

และล่าสุดพบว่ามีสินค้าหน้ากากอนามัยของไทยที่ส่งผ่านทางเส้นทางรถไฟต่อไปยังยุโรปด้วย ส่วนสินค้าที่จีนส่งเข้าไทยผ่านเส้นทางดังกล่าว ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย สินค้าทั่วไป และผักของจีน เป็นต้น

ซึ่งหากด่านรถไฟโมฮานเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบแล้ว ไทยจะสามารถอาศัยเส้นทางการขนส่งรถไฟจีน-ลาว ในการขยายตลาดสินค้าไทยที่มีศักยภาพสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้ สินค้าแปรรูป และยังมีโอกาสในการขยายการขนส่งไปทั่วภูมิภาคจีน และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

และไทยสามารถพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบนำเข้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำมาผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่สำคัญของมณฑลยูนนาน ได้แก่ ผัก ผลไม้ ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ รวมถึงสินค้าไอทีต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมบางประเภท

สำหรับความท้าทายรถไฟจีน-ลาวที่ต้องเร่งแก้ไขคือ การผลักดันการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด่านนำเข้าสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยเฉพาะการก่อสร้างลานผลไม้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่ง สคต.คุนหมิง ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ณ นครกว่างโจว รวมทั้ง สคต.เวียงจันทน์ ในการผลักดันประเด็นดังกล่าวทุกช่องทาง ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

พร้อมกันนี้ สคต.คุนหมิงมีนโยบายเร่งสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ระหว่างไทยกับจีน เพื่อเตรียมเส้นทางขนส่งสินค้าทางรถไฟจีน-ลาว ให้มีประสิทธิภาพ เกิดความสมดุลทั้งขาเข้าและขาออก

โดย สคต.คุนหมิงได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจโลจิสติกส์ทางออนไลน์ 2 ครั้ง ระหว่างผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย 16 บริษัท และบริษัท Yunnan Tengjin Logistics Incorporated Co., Ltd. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ขนส่งสินค้าผัก 33 ตู้ สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวม 374 ล้านบาท และกับบริษัท New Land-Sea Corridor Operation Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งปลายข้าวเหนียวหักของไทย 500 ตัน (ตู้) สามารถสร้างมูลค่าการค้ากว่า 330 ล้านบาท

ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ชี้การใช้ประโยชน์เส้นนี้ต้องใช้เวลา

ด้านนายสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เส้นทางรถไฟจีน-ลาว คณะทำงานภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เส้นทางรถไฟลาว-จีน ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ฝั่งลาวคึกคัก เพราะการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารของไทย ซึ่งการใช้เส้นทางลาว-จีน-คุนหมิง ใช้เวลา 2-3 วัน รวดเร็วกว่าขนส่งทางเรือ

เส้นนี้จะเป็นเกตเวย์การส่งออกของไทย และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ

ล่าสุดจีนจะก่อสร้างอาคารและลานตรวจโรคพืชที่ด่านรถไฟโมฮานเเล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ระหว่างที่เส้นทางนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ไทยต้องทดลองส่งสินค้าจากท่านาแล้ง สปป.ลาว ถึงปลายทายด่านโมฮาน มณฑลยูนนาน เข้าจีน โดยเสริมทั้งทางราง รถ เครื่องบิน ทางเรือ ซึ่งได้มีการทดลองไปแล้ว 2 ตู้ ทั้งทางรางไปถึงบ่อเต็น ทางรถทางถนนไปโม่ฮาน

ส่วนเส้นทางอื่น ๆ อย่างที่ด่านโหย่วอี้กวน การจราจรคับคั่งมาก หน้าด่าน R3A จึงเป็นเส้นทางระบายสินค้าที่ส่งออกได้ 200-250 คัน ปัจจุบันมีล็อกดาวน์และดีเลย์บ้าง ตอนนี้เซี่ยงไฮ้มีปัญหาท่าเรือ แต่เสิ่นเจิ้นก็กลับมาบริหารตามสถานการณ์ จึงต้องคอยประเมินเป็นระยะ เนื่องจากจีนใช้มาตรการ Zero COVID

ขณะที่ทางเครื่องบินก็มีลูกค้าส่งออกไปเสิ่นเจิ้น กว่างโจว ฮ่องกง เป็นระยะเช่นกัน แม้ราคาสูงกว่าแต่ยังไปได้ ถ้าผู้ส่งออกสามารถจ่ายได้ หรือลูกค้าต้องการสินค้ายอมจ่ายในราคาสูงก็ส่งได้ปกติ คาดว่าปีนี้การส่งออกผลไม้ในฤดูที่กำลังจะออกเป็นความท้าทายทุกภาคส่วนอย่างมากเช่นกัน หรือแม้กระทั่งทางเรือเองก็ต้องยอมจ่าย คาดว่าฤดูทุเรียนจะมีการขนส่งทางเรือจ่ายค่าระวางเรือสูงถึง 4,000 เหรียญต่อตู้

“ผมมองว่ารถไฟจีน-ลาวต้องใช้เวลา ต้องเข้าใจสถานการณ์ สปป.ลาวเองก็เพิ่งจะเริ่มเมื่อธันวาคม ต้องดูพิธีการ อย่างของ สปป.ลาว จากประเทศอื่นมาไทยและลาว แต่ ณ วันนี้ บริบทเปลี่ยนจากเริ่มจาก สปป.ลาว ไปจีน ต้องโดยตรง เจ้าหน้าที่ลาวเองก็ต้องปรับบทบาท มีตรวจต้องผ่านเอกสาร ขั้นตอนพอสมควร 3 เดือนที่ผ่านมา รถไฟจีน-ลาวอาจจะมีปัญหาบ้าง บวกกับมาตรการ Zero COVID อีก

“เราก็ต้องปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เข้มงวดแค่เรา เท่าที่ทราบมา ทางจีนเองก็ตรวจละเอียด หากเจ้าหน้าที่จีนละเลยก็ดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นกัน กฎของรัฐบาลจีนเขาเข้มงวดมาก ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขไปตามสถานการณ์ ส่วนบริการต่าง ๆ พอเปิดเเล้ว แน่นอนมีผู้สนใจใช้บริการมาก คงต้องค่อย ๆ ปรับระบบกันไป”