ทุเรียนทะลักโลละต่ำกว่า 100 จีนเข้มโควิด ส่งออกติดค้างด่านชายแดน

ส่งออกทุเรียน

ราคาทุเรียนภาคตะวันออกผันผวนหนัก หลังด่านจีนเข้มงวดมาตรการ Zero COVID เป็นศูนย์ ส่งผลด่านปิด ๆ เปิด ๆ รถขนส่งตกค้างหน้าด่านวันหนึ่ง ๆ ผ่านได้ไม่กี่คัน ไม่ทันต่อผลผลิตทุเรียนที่จะทะลักออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤษภาคม จนสมาคมทุเรียนต้องออกมาเตือนชาวสวนมีสิทธิราคาดิ่งต่ำกว่า กก.ละ 100 บาทได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์ราคาทุเรียนในภาคตะวันออกขณะนี้ว่า “ยังคงผันผวนและคาดเดายาก” หลังจีนระงับการนำเข้าทุเรียนไทยที่ด่านโมฮาน วันที่ 12-14 เมษายน 2565 เนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนอยู่ในพาหนะขนส่งทุเรียน

หลังข่าวนี้แพร่ออกไป ทำให้ราคาทุเรียนช่วง 2 วันก่อนหน้านี้ลดลงจาก กก.ละ 150 บาท เหลือ 105-120 บาท และเมื่อวันที่ 11 เมษายน ราคาทุเรียนเกรด AB ลดเหลือ กก.ละ 70 บาท เกรด C เหลือ 40 บาท จนเกิดความปั่นปวนในตลาด ทำให้ล้งที่รับซื้อทุเรียนคุณภาพบางแห่งประกาศลดราคารับซื้อตาม ๆ กัน

แนะเกษตรกรอย่ารีบตัดทุเรียน

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ออกเตือนเกษตรกร “ไม่ให้ตื่นตระหนกกับราคาและรีบตัดทุเรียน” ส่วนเกษตรกรชาวสวนเห็นว่า ควรรณรงค์ไม่ตัด (แขวน) ทุเรียนในระยะ 7-10 วันนี้ เพื่อให้ราคาทุเรียนปรับตัวขึ้นก่อน ทำให้ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ต้องเข้ามาประชุมแก้ไขปัญหา เพื่อให้เหตุการณ์คลี่คลายด้วยการให้ผู้ประกอบการใช้ขนส่งทางเรือ-เครื่องบิน ส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับสูงขึ้นเป็น กก.ละ 120-150 บาท แม้ว่าราคาจะไม่สูงเท่าช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ก็ตาม

ด้าน นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียน (TDA) ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด-19 ต้องตรวจผลทุเรียนที่ทำการส่งออกอย่างเคร่งครัด ทั้ง GAP และ GMP+ โดยราคาทุเรียนในช่วงหลังสงกรานต์ไปจนถึงปลายเดือนเมษายนที่ กก.ละ 115-130 บาทนั้น “จัดเป็นราคาที่ชาวสวนทุเรียนรับได้” ส่วนทุเรียนที่วางขายตามแผงข้างทางริมถนนที่ราคา 40-80 บาทนั้น “เป็นทุเรียนตกไซซ์”

ทุเรียน

เดือน พ.ค. ทุเรียนทะลักตลาด 3.6 แสนตัน

นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลว่า ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนภาคตะวันออกออกสู่ตลาดจำนวนมากถึง 369,207 ตัน หรือคิดเป็น 50% ของผลผลิตทุเรียนทั้งหมดนั้น หากการส่งออกทุเรียนไปจีนยังคงเผชิญกับมาตรการ Zero COVID อย่างเข้มงวดและเกิดปัญหาโลจิสติกส์ อาจส่งผลให้ราคาทุเรียนดิ่งลงต่ำกว่า กก.ละ 100 บาทได้

นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวถึงการส่งออกทุเรียนทางบกที่ใช้กันอยู่ 4 ด่านในขณะนี้ ปรากฏทุกด่านมีปัญหาจากการตรวจเข้มตามมาตรการ Zero COVID ของจีน ทำให้มีการระบายรถขนส่งในแต่ละด่านได้น้อยมาก และไม่ใช่ด่านปิด ยกตัวอย่าง ด่านโหยวอี้กวน ผ่านได้แค่วันละ 20 ตู้ รวมการขนส่งของเวียดนามด้วย “ยกเว้น” ด่านตงซิน-โมฮาน ทางด้าน สปป.ลาวที่สามารถระบายรถได้วันละ 200 ตู้ ในช่วงที่ผลผลิตออกจำนวนมากวันละ 1,000 ตู้

ดังนั้นการส่งออกทางบก-ทางเรือมีปัญหาแน่นอน ส่วนทางเครื่องบินตัดออกไปได้เลยเพราะต้นทุนสูง ค่าขนส่งสูง รวมภาษีตก กก.ละ 60 กว่าบาท

หันส่งทางเรือ รถไฟจีน-ลาว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้โฟกัสไปที่การขนส่งทางเรือ มีการเช่าเหมาเรือกันแล้ว เที่ยวแรกออกเดินทางไปเมื่อวันที่ 19 เมษายนนี้ ใช้เวลา 13-15 วัน หรือนานกว่าทางบกมาก นอกจากนี้ยังเจอการแข่งขันจากเวียดนามที่เปิดท่าเรือขนส่งใหม่ด้วย อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางเรือต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการตรวจ Zero COVID ถ้าตรวจพบโควิด-19 เรือก็จะเข้าจอดขนส่งสินค้าไม่ได้ ต้องรอเวลา 7 วัน ตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง

ส่วนการส่งออกทุเรียนทางรถไฟจีน-ลาวด้วยระบบผสมราง-รถ หลังจากที่เริ่มทดลองส่งออกในต้นเดือนเมษายนไปแล้ว วันที่ 25 เมษายนนี้จะมีการขนส่งทุเรียนทางรถไฟจีน-ลาวอีก 1 ขบวน 25 ตู้ จะปรับระบบการขนถ่ายตู้ให้สั้นลง ซึ่งผู้ประกอบการได้ผลิตตู้คอนเทนเนอร์รุ่นใหม่แบบมีเครื่องปั่นไฟติดตั้งใช้ได้กับการขนส่งทางเรือ-รถ-รถไฟที่บรรจุทุเรียนได้ประมาณ 900 กล่อง

“ตอนนี้จีนเปิดเมืองเพิ่มขึ้น ด่านมีการขยายเวลาทำงาน ราคาทุเรียนตลาดปลายทางตกกล่องละ 700-900 หยวน (กล่องละ 18 กก.) ในขณะที่ราคารับซื้อทุเรียนจากล้งเกรด AB ตกประมาณ กก.ละ 120-140 บาท เกรด C 80-90 บาท จัดเป็นราคาทุเรียนที่ยังสูงอยู่ เพราะปริมาณน้อยส่งออกทุเรียนไปได้เพียง 40,000 ตัน

หวั่นทุเรียนออกรุ่น 2 ราคาร่วงต่ำโลละ 100

ส่วนทุเรียนรุ่น 2 ที่จะออกหลังวันที่ 10 พฤษภาคม จะมีจำนวนหลายแสนตัน ถ้าจีนปลดล็อกมาตรการ Zero COVID ลง ราคาทุเรียนไม่น่าจะต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท แต่ถ้าเหตุการณ์ยังเหมือนเดิม ตลาดกว่างโจวยังปิดอยู่ เซี่ยงไฮ้ยังล็อกดาวน์ การจับจ่ายใช้สอยมีน้อย ราคาทุเรียนอาจจะต่ำกว่า กก.ละ 100 บาทได้ ส่วนการขนส่งทางรถไฟลาว-จีน ถ้าขนส่งได้วันละ 75 ตู้ จะช่วยกระจายผลผลิตได้มากทีเดียว” นายสัญชัยกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากนายหน้าเหมาสวนในจังหวัดตราดกล่าวว่า ราคาทุเรียนในช่วงหลังสงกรานต์ราคาดีขึ้น โดยทุเรียนหมอนทองเกรด AB (ขนาด 2-6 กก.) ราคาเหมาสวนอยู่ที่ กก.ละ 110-120 บาท เกรด C 90-95 บาท เกรด D 70-80 บาท ราคานี้จะตัดไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งกำลังเร่งตัดเพราะราคาดี เข้าใจว่าจีนมีความต้องการ เนื่องจากใกล้วันชาติของจีน 1 พ.ค. ราคาหน้าล้งอยู่ที่ 125-130 บาท

หลังจากนั้นเดือนพฤษภาคม ราคาน่าจะปรับลดลงมาก เพราะทุเรียนจะออกมามาก การทำสัญญาซื้อขายล้ง-ชาวสวน จะทำช่วงสั้น ๆ 10 วัน เพราะราคาเปลี่ยนแปลงบ่อย และปีนี้มี “เถ้าแก่คนจีน” ที่เข้ามาเหมาสวนน้อยลงเพราะปัญหาเรื่องการขนส่ง

ส่วน นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับบริษัท สมิงฟูดส์ และ บริษัท เอส.เค.โฟรเซ่น แอนด์ ฟรีซดราย เตรียมรองรับผลทุเรียนสดนำมาแช่แข็งและหาตลาดรองรับ หากมีปัญหาด้านการขนส่งไปตลาดจีน คาดว่าจะรองรับได้วันละ 140 ตัน ซึ่งทางโรงงานยังไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตได้มากนัก และราคาที่จะรับซื้อผลผลิตอยู่ที่ กก.ละ 30-40 บาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนหลายรายเห็นตรงกันว่า ระบบขนส่งผลไม้ในช่วงพีกเดือนพฤษภาคมจะเป็นปัญหาหนักแน่นอน ถ้าสถานการณ์ด่านชายแดนจีน “ยังปิด ๆ เปิด ๆ มีรถติดหน้าด่าน”

ส่วนผู้ประกอบการที่หลีกเลี่ยงการใช้ทางบกไปใช้การขนส่งทางเรือก็ต้องมีการจองคิว-จองโควตาและโรงงานคัดบรรจุ ซึ่งก็มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนโควิด-19 อย่างสูง และยังเสี่ยงต่อการขาดทุน ผลผลิตเสียหาย ในส่วนนี้อาจจะมีผลต่อราคารับซื้อทุเรียนต่ำกว่า กก.ละ 100 บาทแน่ “คาดการณ์ว่าราคาน่าจะลงไปเหลือ กก.ละ 60-70 บาทก็เป็นได้”