ผู้ว่าฯจันทบุรี นัด “บิ๊กคลีนนิ่ง” ป้องทุเรียน 4 แสนตัน ไม่ให้ปนเปื้อนโควิด

ผู้ว่าฯจันทบุรีนัด “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ – ATK เดย์” พร้อมกันทั่วจังหวัด 22 เม.ย.นี้ หวั่นโควิดปนเปื้อนส่งออกไปตลาดจีนอีก จะกระทบทุเรียนที่ยังไม่ตัดอีก 4 แสนตัน

วันที่ 20 เมษายน 2565 นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวผ่านรายการผู้ว่าฯพบประชาชนว่า ขณะนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี คาดการณ์ปริมาณทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีที่ออกสู่ตลาดปี 2565 ประมาณ 496,000 กว่าตัน หรือเกือบ 5 แสนตัน ตอนนี้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 57,000 ตันประมาณ 11.51% ยังเหลือในสวนต่าง ๆ อีก 439,000 กว่าตัน

มังคุดคาดว่าจะออกประมาณ 150,000 กว่าตัน ตอนนี้เก็บเกี่ยวไปแล้ว 8,299 ตัน เท่ากับเก็บเกี่ยวไปแล้ว 5% เงาะคาดว่าจะออกสู่ตลาด 1 แสนตัน ตัดไปแล้ว 1,869 ตัน เท่ากับเก็บเกี่ยวไปแล้ว 1% กว่า ส่วนลองกองยังไม่มีการเก็บเกี่ยว

เพราะฉะนั้นผลไม้ฤดูกาลนี้ที่จะออก 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง คาดว่าจะให้ผลผลิตรวม 766,000 ตัน ตอนนี้ตัดผลไม้ 4 ชนิดไปแล้วรวม 67,000 ตัน หรือคิดเป็น 8.78% ยังเหลืออีก 690,000 กว่าตัน

ด้านการส่งออกสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) รายงานการตัดทุเรียนเฉพาะในจังหวัดจันทบุรีตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 17 เมษายน 2565 ไปแล้ว 57,000 ตัน ส่งออกไปทั้งสิ้น 37,551 ตัน ที่เหลือ 20,000 กว่าตันขายตลาดภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการส่งออกมีปัญหาตลาดหลักจีนปิดด่าน

ที่ผ่านมาการส่งออกมีทางเลือก 3 ทาง คือทางบกส่งออกไป 23,000 ตัน ซึ่งประสบปัญหาด่านปิด ๆ เปิด ๆ ทำให้ล่าช้า ทางเรือ ส่งออกไป 3,972 ตัน และทางอากาศส่งออกไป 9,928 ตัน แต่ละวันจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณทุเรียนที่ทยอยออกมา ผลผลิตจะออกมากปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน ขณะนี้ส่งออกวันละ 100 กว่าตู้ ถ้าช่วงผลผลิตออกมากปีที่แล้วประมาณ 700-800 ตู้ต่อวัน

ขณะที่ตลาดจีนยังมีมาตรการเข้มข้นในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ดังนั้น วันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 ได้นัดผู้ประกอบการ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) และสมาคมทุเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดจันทบุรีทำ “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ แอนด์ ATKเดย์” พร้อมกันทั่วจังหวัด

เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจ ATK คนงานทำไม่ตรงกัน ขณะที่คนงานแต่ละล้งมีการปฏิสัมพันธ์กัน โดยคนงาน 1 คนทำงานหลายล้ง ทำให้เชื้อเคลื่อนที่ติดต่อกัน

นอกจากนี้ช่วงเทศกาลสงกรานต์หลายล้งปิดให้คนงานกลับบ้านจึงเกรงอาจมีปัญหาการปนเปื้อนเชื้อโควิดของคนงาน จึงให้ถือเอาหลังสงกรานต์ทำความสะอาดใหญ่ด้วยการพ่นเชื้อในล้งและตรวจ ATK พร้อมกัน

“ตรงนี้เราต้องรักษาคุณภาพตั้งแต่ต้นฤดู เพื่อให้ราคายืนอยู่ได้ ถ้าทุเรียนไม่มีคุณภาพออกไปคนขาดความเชื่อมั่น ไม่อยากซื้อ คนไม่ไว้ใจ อย่าเห็นแก่ตัว ถ้าผมเจอคนขายทุเรียนอ่อนให้ดำเนินคดี ถ้าเราทุกคนช่วยกันรักษาคุณภาพ คนจะกลับมาซื้อใหม่”

“สำหรับตลาดจีนหลังจากปิดด่านโมฮานไป 3 วัน ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 เนื่องจากทางการจีนได้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับรถขนส่งทุเรียน ตอนนี้เปิดปกติแล้ว ตลาดปลายทางจีนเริ่มดีขึ้น ราคาน่าจะอยู่ที่ 115-130 บาทต่อ กก. อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาคุณภาพ เพื่อให้คงราคาอย่างนี้ต่อไป”

นายสุธีกล่าวว่า กรณีทางการจีนได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบบริเวณผนังด้านในตู้คอนเทนเนอร์ และกล่องบริเวณด้านนอก รวมทั้งบริเวณขั้วของทุเรียน เกิดจากกระบวนการผลิตและกระบวนการบรรจุลงตู้คอนเทนเนอร์ เพราะไม่ได้ตรวจพบบริเวณพื้นผิวด้านนอก แต่พบจากด้านใน

แสดงว่าเชื้อติดไปตั้งแต่กระบวนการตัด มีคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่คนตัดทุเรียน คนรับทุเรียนด้านล่าง เอามือจับไปที่ขั้วทุเรียนบรรจุใส่เข่ง ยกขึ้นรถไปส่งล้ง ทางล้งมีการขนย้ายทุเรียนลงจากรถ ไปบรรจุลงกล่อง คนงานยกกล่องไปบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ อาจจะมีการเอามือจับผนังด้านในตู้คอนเทนเนอร์

ดังนั้น ทางจังหวัด ผู้ประกอบการ สวพ.6 รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มาประชุมหารือกันว่าจะมีมาตรการอย่างไร ครั้งนี้ทางการจีนประกาศปิดด่านเพียง 3 วัน หากตรวจพบครั้งหน้าอาจจะปิดด่านเพิ่มเป็น 5-7 วัน เป็นสิ่งที่น่ากังวล

ในทางปฏิบัติมีผู้ประกอบการทุเรียนบางส่วนที่ดำเนินมาตรการเข้มงวด เพื่อรักษาคุณภาพไม่ให้มีการปนเปื้อน แต่มีล้งบางแห่งเท่านั้นที่เห็นแก่ตัวไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้รับผลกระทบเสียหายไปด้วย ตรงนี้ทางผู้ประกอบการอยากให้ทางจังหวัดเข้าไปช่วยดูแลควบคุม

ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจ ATK ให้กับคนงานในล้ง เพราะคำสั่งจังหวัดที่กำหนดให้ตรวจ ATK ให้พนักงานทุก 7 วัน แต่ปรากฏว่า บางล้งไม่มีการตรวจ ทำให้มีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับทุเรียน พอทางการจีนตรวจพบก็ปิดด่านทันที ไม่ตรวจสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้มาตรการ

ในวันพรุ่งนี้ (21 เมษายน 2565) ตนได้เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการให้อำเภอต่าง ๆ ลงไปตรวจล้งต่าง ๆ ตรวจ ATK แรงงานที่อยู่ในล้งทั้งหมด แม้ล้งนั้นจะตรวจ ATK แล้วทุก 7 วัน แต่ต้องขอดูเอกสารหลักฐานการตรวจว่า ได้ตรวจจริงหรือไม่ พร้อมทำการสุ่มตรวจ ATK อีกครั้ง หากไม่พบก็แสดงว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดประกาศ

แต่หากตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องมีมาตรการต่อ ทั้งการทำความสะอาด การขอความร่วมมือ หรือถ้าไม่เชื่อฟังจะต้อง “สั่งปิดล้ง” รายนั้น ๆ

“ถ้าไม่ตัดนิ้วร้ายจะทำให้เสียหายไปหมด เพราะปริมาณทุเรียนที่จะออกอีกมากมายมหาศาล ถ้าเราทิ้งนิ้วร้ายแล้วลามไป ทำให้ทุเรียนทั้งหมดเสียหาย ตลาดเสียหาย เราก็ยอมไม่ได้ อันนี้ต้องให้คนจันทบุรีเข้าใจ บางคนพอเจ้าหน้าที่เข้มงวดก็ด่าก็ว่า แต่ขอฝากไว้เพื่อส่วนรวม”

ขณะเดียวกันทางสมาคมทุเรียนไทยได้เสนอให้ทดลองใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 คือ “คลอรีนไดออกไซด์” หรือ “โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์” ซึ่งได้ร่วมวิจัยกับ 2 มหาวิทยาลัย เพื่อฆ่าซากเชื้อไวรัสทำให้ตรวจไม่พบ กำลังสรุปผลวิจัยอยู่ แต่กว่าผลวิจัยจะสรุปได้เป็นทางการจะไม่ทันฤดูกาลนี้

ทางสมาคมทุเรียนไทยจึงตัดสินใจเสนอให้ผู้ประกอบการทุเรียนและล้งใช้สาร “คลอรีนไดออกไซด์” หรือ ”โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์” ซึ่งเป็นสารที่ผสมอยู่ในน้ำยาซักผ้าขาวยี่ห้อไฮเตอร์ขวดสีฟ้า ฉีดกำจัดเชื้อบริเวณพื้นผิวต่าง ๆ ในอัตราส่วนที่เข้มข้น 670 ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นพื้น และเมื่อขนทุเรียนจากสวนมาลงที่ล้งก็ฉีดรอบผลทุเรียน

โดยเฉพาะบริเวณขั้ว และก่อนปิดกล่อง ให้ลูกน้องใส่ถุงมือ พอปิดกล่องก็ฉีดรอบกล่องอีกครั้ง ขนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ก็ฉีดอีกทีในการบรรจุทีละชั้น ทางสมาคมทุเรียนไทยยืนยันว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้จริง ให้ทุกล้งทำมาตรการป้องกัน และฆ่าเชื้อก่อนส่งออก


สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในรอบสัปดาห์ของจังหวัดจันทบุรีตัวเลขเริ่มดีขึ้น ภายใน 7 วัน มีผู้ติดเชื้อรวม 1,255 ราย ค่าเฉลี่ย 7 วันตกวันละ 179 คน จากสัปดาห์ก่อนหน้าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 236 ราย