“ศุภชัย-กอบศักดิ์” ชงปลดล็อกกฎหมายปั้น “เทคฮับ” พลิกโฉมประเทศ

ศุภชัย เจียรวนนท์ กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ศุภชัย เจียรวนนท์ (ซ้าย) กอบศักดิ์ ภูตระกูล (ขวา)

 

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาในหัวข้อ “Enhance the Dots” ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มานำเสนอมุมมองและข้อคิดเห็นภายใต้แนวทางที่มุ่งไปยังการสร้างความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางกระแสวิกฤตซ้อนวิกฤต

ไทยติดกับดัก “กม.-ระเบียบล้าสมัย”

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน กล่าวในหัวข้อ “การอำนวยความสะดวกของการทำธุรกิจของประเทศไทย” ว่า วันนี้ประเทศไทยอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากโควิด-19 ผู้คนเริ่มเชื่อมั่นในการใช้ชีวิต แต่ด้านเศรษฐกิจ หากจะเดินหน้าต้องข้ามผ่าน “โซ่ตรวนเศรษฐกิจไทย” นั่นคือ “กฎหมายที่ล้าสมัย” เป็นต้นทุนการทำธุรกิจ ทำให้เสียเวลา ยากลำบาก

“ยกตัวอย่าง การเปิดโรงงานชิ้นส่วนอากาศยาน 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ติดกฎหมายกำหนดสัดส่วนให้ต่างชาติต้องมี partner คนไทยเกิน 50% หรือการเปิดโรงแรมต้องใช้ใบอนุญาตมากถึง 40 ใบ หรือกฎหมายผังเมืองที่ล่าช้า ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ หากภาครัฐปลดล็อกสิ่งเหล่านี้ได้จะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้นด้วย”

การ “กิโยติน” เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย การลดภาระการดำเนินการในการเปิดธุรกิจที่ซับซ้อน โดยมองความจำเป็น กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรค ลดภาระลงให้มากที่สุด

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ยกโมเดลต่างประเทศ

ในต่างประเทศ เช่น เกาหลี ได้ปรับกฎหมายลดขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที หรืออย่างในประเทศสิงคโปร์มีเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มเดียว ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก รวมไปถึงภาคธุรกิจด้วย

ในส่วนของประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนลดขั้นตอนในหลายด้าน โดยมีศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรจุดเดียว ลดขั้นตอนการทำงาน และมีการนำระบบออนไลน์มาใช้ในการออกใบอนุญาตต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ใบขับขี่ การทำพาสปอร์ต ส่วนเกณฑ์การเปิดธุรกิจควรต้องมี “คู่มือ” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติด้วย

คลี่คลาย 400 กระบวนงาน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานเดินหน้าโครงการกิโยตินมาตลอด และมีความคืบหน้าไปมาก โดยเริ่มคลี่คลายไปมากกว่า 400 กว่ากระบวนการ และมีดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอีก 130 โครงการ มีการทบทวนอีก 58 กระบวนการ เช่น การตรวจสอบปรับปรุงการขอสิทธิบัตร แก้ไขคุณสมบัตินายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารที่อาจใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม ยกเลิกการกำกับดูแลการนำเข้าพัดลม หม้อหุงข้าวและหลอดไฟ เป็นต้น

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาว่า 1.เรื่องของกฎหมาย เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ขัดกับกฎหมายอื่นในสัญญาหรือไม่ เช่น ขัดต่อกฎระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ 2.มีความจำเป็นมากน้อยอย่างไร จุดประสงค์กฎหมายที่แก้ไขเป็นอย่างไร และ 3.เสริมสร้างธุรกิจหรือไม่

แนะ 3 แนวทางทำ “กิโยติน”

อย่างไรก็ตาม หากองค์กรใดมีแนวคิดที่จะทำกิโยติน ควรยึดหลัก 3 ข้อ ในการลด ละ เลิก คือ 1.bottom up สร้างกลไกลด ละ เลิก โดยหน่วยงานต่าง ๆ 2.top down แก้ไขโดยทีมส่วนกลาง (คณะอนุกรรมการกิโยติน) และ 3.major change ปรับโครงสร้างระบบ

ขั้นตอนต่อไป คือ การเสนอให้รัฐบาลมีการวางแผนกรอบงานและระบบกฎหมายใหม่ โดยตั้งหน่วยงานกิโยตินถาวร กำหนดเกณฑ์ในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของราชการให้มีผลงานด้าน digital government ด้วย

นายกอบศักดิ์สรุปว่า การดำเนินการ “กิโยติน” ต้องการเวลา อำนาจ การเปลี่ยนแปลง แต่ในท้ายที่สุด คือ ควรมีการกำหนดแนวคิดใหม่ในการกำกับดูแล ยกเลิกกฎหมาย และกฎระเบียบเมื่อถึงเวลาที่กำหนด โดยใช้วิธีจดเเจ้ง เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ยุค 4.0 อำนวยความสะดวก ลดต้นทุน และระยะเวลาผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชน เพื่อร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจไทย

“เทคโนโลยี” นิวโกลด์ยุค 5.0

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บรรยายในหัวข้อ Digital Transformation โดยระบุว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็น 1 ในความท้าทายของทั้งโลก ยังไม่รวมความท้าทายอื่น ๆ ตั้งแต่โควิดกลายเป็นนิวนอร์มอลทำให้ต้องปรับตัว, ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงจากนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจของทั้งโลก, ภาวะการเมือง 2 ขั้ว, ภาวะโลกร้อน, การลดลงของผลผลิตด้านการเกษตรของโลก ไม่นับสงครามรัสเซียยูเครนที่ส่งผลถึงผลผลิตธัญพืชของโลกจากการที่ทั้งคู่เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดรายใหญ่สุดในโลก เป็นต้น

สำหรับ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” เป็นหนึ่งในความท้าทายที่คิดกันว่าจะเข้ามาคลี่คลายปัญหาทั้งหมดได้ ยกเว้นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) โดยคาดว่า “เทคโนโลยี” จะเป็นตัวชี้วัดการเติบโตและความพร้อมในประเทศเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เป็น “นิวโกลด์” ของเศรษฐกิจ 5.0

ในยุค 4.0 คือข้อมูล แต่ 5.0 คือ เทคโนโลยี AI (ปัญญาประดิษฐ์) ที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ทั้งหมดในโลก ผลักดันให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในประเทศต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีมือถือของหัวเว่ยของจีน ที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วกำลังจะแซงหน้าไอโฟน หรือเทคโนโลยีรถยนต์ EV ที่หลายประเทศนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

สร้างระบบนิเวศน์ดันไทย “เทคฮับ” ภูมิภาค

“ประเทศต่าง ๆ แข่งขันกันเพื่อปกป้องทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด คือเทคโนโลยี หันกลับมามองประเทศไทย ถ้าจะไป 5.0 ต้องสร้างระบบนิเวศ ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงนโยบาย ประเทศจะเจริญก้าวหน้าต่อไป มีผลิตภาพที่ดี มีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงพอเกิดความมั่งคั่งทั่วถึงได้ต้องทำให้ไทยเข้าสู่การเป็น technology hub ของภูมิภาค”

อาจเริ่มจากการทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ EV เพราะ “EV” ไม่ใช่แค่เรื่อง “รถยนต์” แต่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีแบตเตอรี่เกี่ยวข้องกับหลายส่วน ทั้งคลาวด์เทคโนโลยีที่ไปเชื่อมกับ IOT เชื่อมกระบวนการธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจไปจนถึงในบ้าน

นายศุภชัยย้ำว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับภูมิภาคได้ หนีไม่พ้นเรื่องคน ซึ่งการทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมสร้าง “คน” ได้เร็วที่สุด ทำได้ด้วยการสนับสนุนให้เกิด “สตาร์ตอัพ”

พร้อมกับขยายความว่า สตาร์ตอัพ 1 แห่ง ต้องจ้างบุคลากรราว 50 คน ที่เป็นทั้งนวัตกร และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ถ้าตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสตาร์ตอัพจาก 600-700 ราย ให้ถึง 10,000 สตาร์ตอัพ ภายใน 2 ปีก็จะสร้างงาน และพัฒนาคนได้จำนวนมาก

ถอดรหัส “สตาร์ตอัพ” ทางลัดพลิกประเทศ

“ถ้าตั้งเป้าว่าจะมี 20,000 สตาร์ตอัพ จะเป็นไทยหรือต่างชาติก็ได้ ขอแค่ให้มาตั้งที่เมืองไทย นั่นคือ เรากำลังพูดถึงคน 1 ล้านคน ที่จะมาช่วยดิสรัปต์อุตสาหกรรมต่าง ๆ ยกระดับประเทศไทย ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ อัพสกิล รีสกิลคนไทย ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีจะต้องผลักดันเรื่องสตาร์ตอัพอย่างมาก”

ไม่ใช่แต่เป็นฮับ “เทคโนโลยี” แต่ยังยกระดับและเปลี่ยนไปสู่การเป็นฮับด้านการขนส่ง ด้านอาหาร ด้านการค้า และอื่นๆ

“การเปิดประเทศทำให้การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวแล้วจะทำยังไงให้การท่องเที่ยวมาสร้างแบรนด์ประเทศไทย connect the dot เป็นการตลาดของประเทศ ทำให้คนอยากมาลงทุนมาทำงาน ดึงดูดคนดีคนมีความสามารถจากทั่วโลก”


นายศุภชัยทิ้งท้ายว่า ในความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด บริษัทที่ไม่ปรับตัวจะขาดทุน และปิดตัวลง บริษัทที่เสมอตัว คือบริษัทที่ทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มสำเร็จ แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 บริษัทที่เติบโตและมีกำไรเพิ่มพูนต่อเนื่อง คือบริษัทด้านเทคโนโลยี “ประเทศ” ก็ไม่ต่างกัน จึงชัดเจนว่าเราควรทุ่มเทเวลาและความพยายามไปกับสิ่งใด