วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ดันส่งออกอาหารไตรมาส 1 พุ่ง 26%

ตู้คอนเทนเนอร์
PHOTO : Hessel Visser จาก Pixabay

เมื่อตะกร้าขนมปังแห่งสหภาพยุโรปกำลังเกิดวิกฤตจากสงคราม กลายเป็นโอกาส “ครัวไทยครัวโลก” เห็นได้ชัดจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยในไตรมาส 1 ปี 2565 ที่เติบโต 26% สามารถทำรายได้ 324,415 ล้านบาท

ในไตรมาสแรก “สินค้าเกษตร” และ “สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร” เติบโตอย่างมาก (ตามกราฟิก) ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2 โอกาสของการส่งออกไทยมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง

THAIFEX 2022

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมจัดงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 ระหว่างวันที่ 24-28 พ.ค. 2565 ในลักษณะกึ่งออนไลน์และงานออนไซต์ครั้งแรกที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ล่าสุดมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วม 1,360 ราย ทั้งผู้ประกอบการที่นำสินค้ามาจัดแสดง (exhibitors) 729 ราย, เอเย่นต์หรือผู้นำเข้าที่อยู่ในประเทศไทย (local exhibitor) 156 ราย และผู้ร่วมงาน (visitor) 642 ราย จาก 16 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้นำเข้าที่ทางทูตพาณิชย์เชิญ โดยจัดคณะเข้ามาประมาณ 702 ราย รวมกว่า 3,200 คูหา โดยปีนี้ได้เพิ่มกิจกรรมนิทรรศการสินค้าผลไม้ภาคตะวันออก เปิดให้ preorder กับเกษตรกรได้โดยตรง รวมทั้งจัดแสดงสินค้าแห่งอนาคต (future food) ของไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดโลก

กราฟฟิกส่งออกอาหาร

วิกฤตคือโอกาส

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป มองว่าสถานการณ์วิกฤตยูเครน-รัสเซียกระทบต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นอย่างมาก ด้วยความที่รัสเซียและยูเครนส่งออกข้าวสาลีมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งโลก

“รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดในโลก ยูเครนที่นับว่าเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของยุโรปจนมีฉายาว่าตะกร้าขนมปังเพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเหลืองและธัญพืชอื่น ๆ มีเมล็ดดอกทานตะวัน ที่เป็นอันดับ 1 ในการผลิตโลก สินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกหลักของยูเครนเกือบ 50% และในปี 2563 ยูเครนส่งออกข้าวสาลีเป็นอันดับ 5 ของโลก คิดเป็น 8% ของผลผลิตทั้งโลก”

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทำให้ยูเครนสูญเสียผลผลิตจากพื้นที่เพาะปลูกราว 20-30% ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรในยุโรปกังวลต่อต้นทุนอาหารปศุสัตว์ที่แพงขึ้น จากราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นเนื่องจากต้องนำเข้าข้าวโพดเกือบ 60% จากยูเครน รวมถึงนำเข้าข้าวสาลี และต้องนำเข้าปุ๋ย ในปริมาณมากจากรัสเซีย

แม้ว่า EU จะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและเร่งผลิต นำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมาทดแทน เพื่อลดผลกระทบ แต่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยหลัก 50 ล้านตันต่อปี หรือ 13% ซึ่งการที่รัฐบาลรัสเซียสั่งระงับการส่งออกปุ๋ยชั่วคราวในเดือน มี.ค. 65 เพื่อใช้เฉพาะในประเทศและตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้าของชาติพันธมิตรตะวันตก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั่วโลกทำให้มีต้นทุนพุ่งขึ้น

เป้าหมายส่งออกพุ่ง 5-8%

“เป้าหมายการส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอาหารของไทยในปีนี้มีโอกาสจะขยายตัว 5-8% โดยขณะนี้มีบางสินค้าที่ตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น สินค้าไก่ หลังจากที่เกิดปัญหาสงคราม ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้หลายประเทศมีมาตรการฆ่าไก่ เป็ด และสัตว์ปีกเพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาด และหันมาสั่งซื้อจากไทย ซึ่งในภาคการผลิตของไทยต้องเตรียมพร้อมทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด”

สินค้าอนาคตตอบโจทย์สุขภาพ

อีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิต “สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ” มากขึ้น โดยเฉพาะโปรตีนจากพืช (plant-based) และอาหารจากแมลง เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนใหม่แทนเนื้อสัตว์ และติดตามมาตรการด้านความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้น เช่น ในอียู ออกยุทธศาสตร์ “Farm to Fork Strategy” สร้างระบบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เตรียมใช้มาตรการ CBAM

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยต้องติดตาม “ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูง” ทั้งจากราคาพลังงานที่ส่งผลต่อการผลิต ค่าระวางเรือ ต้นทุนราคาบรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะกระป๋อง ซึ่งผู้ส่งออกต้องติดตามข้อมูล ปรับแผนธุรกิจ บริหารจัดการด้านการเงิน วางแผนการผลิตลดต้นทุน คู่ขนานไปกับรัฐที่ต้องช่วยเจรจาความตกลง FTA โดยเฉพาะกับตลาดหลักอย่างอียู เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยในอนาคต