ธุรกิจกัญชาฝ่าด่านเปิดเสรี รัฐออกกฎคุม “เม็ด-ช่อดอก”

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

9 มิ.ย. เปิดกัญชาเสรี หวังดันเศรษฐกิจไทยคึกคัก “ผู้ผลิตอาหาร” มั่นใจตลาดกัญชา-กัญชงโตทะลุ 21,000 ล้านบาท รัฐออกสารพัดกฎระเบียบควบคุม ตั้งแต่การปลูก-การเสพ-การผลิตอาหาร-ยาสมุนไพร อ้างยังไม่สามารถเปิดเสรีได้ 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังมีอยู่ แนะเอกชนต้องศึกษา-ขอใบอนุญาตให้ดี ชงรัฐตั้งระบบขออนุญาตแบบ one stop service ช่วงรอยต่อก่อนบังคับใช้ตั้ง กก.บูรณาการ ขึ้นมากำกับดูแล

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นับเป็นวันแรกที่จะมีการปลดล็อก “กัญชา” เต็มรูปแบบตามนโยบายของรัฐบาลตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา/กัญชงไม่เป็นยาเสพติด “ยกเว้น” สารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก

อีกด้านหนึ่งแม้ว่าการผลิต การนำเข้า-ส่งออก จำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครองกัญชาจะไม่มีความผิดอีกต่อไป แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการออกร่างกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ คำแนะนำ เพื่อควบคุมการใช้กัญชา/กัญชงอยู่ จนเกิดความกังวลกันว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลยอมเปิด “เสรี” การปลูก การใช้ การผลิต การเสพ กัญชาได้มากน้อยแค่ไหน

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยออกมาเตือนว่า สิ่งที่จะเกิดหลังวันที่ 9 มิ.ย.เป็นต้นไป คือ “สุญญากาศ” เพราะเป็นเสรีที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่มี กม.มาเกี่ยวข้องหลายฉบับ และหลายเรื่องก็ยังไม่มี กม.ควบคุม เช่น ช่อและดอกที่ยังเป็นยาเสพติด, การนำชิ้นส่วนไปผสมในยาจะผิด พ.ร.บ.ยาหรือไม่, การทำน้ำมันต้องขออนุญาต อย.ก่อน

ในขณะที่การขาย-การเสพโดยเด็กและเยาวชนหรือการเสพกัญชาขณะขับยานพาหนะ ก็ยังไม่มี กม.ควบคุม “ยอมรับว่าคนยังไม่เข้าใจอีกมาก ตรงนี้จะโกลาหลหน่อย ต้องงัด กม.หลายฉบับออกมาควบคุมแทน ถ้า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกมา ก็จะควบคุมแทนได้ทั้งหมด แต่ตอนนี้ต้องพลิกตำรากันวุ่นไปหมด”

ขุมทรัพย์กัญชา 21,000 ล้าน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบาย “กัญชา/กัญชงเสรี” จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยขณะนี้ผู้ผลิตอาหารตื่นตัวเรื่องนี้มาก และน่าจะเกิดแรงกระเพื่อมสำคัญต่อตลาดในประเทศก่อน

ทางสมาคมคาดการณ์ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ไทยจะมีมูลค่าถึงกว่า 7,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 จากปี 2564 น่าจะมีมูลค่าราว 3,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.02-0.04% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ส่วนตลาดของกัญชาที่ใช้เพื่อความเพลิดเพลินมีมูลค่า 14,000 ล้านบาท ตลาดกัญชง (มีสาร CBD ต่ำกว่า 1%) ของไทยจะเติบโตปีละ 126% มีมูลค่า 15,770 ล้านบาทภายในปี 2568 จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 600 ล้านบาท

“ปัจจุบันผู้ประกอบการตอบรับเทรนด์นี้ โดยออกผลิตภัณฑ์มาวางตลาดเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการลงทุนก่อสร้างโรงงานสกัดสาร CBD การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีอิชิตัน คาราบาว เซปเป้ ที่ออกเครื่องดื่มผสมกัญชง

ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมี คาร์มาร์ท บิวตี้ ทูเดย์ครีม ที่ออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชง และยังมีสตาร์ตอัพกัญชาหลายแห่งเริ่มคิดไอเดียเปิดให้บริการ แต่การส่งเสริมต้องควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้เรื่องกัญชา (Cannabis Literacy) ด้วย” นายวิศิษฐ์กล่าว

ดังนั้น รัฐบาลควรปรับให้มีบริการครบวงจร (one stop service) เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงกัญชา/กัญชง ทั้งในเรื่องของการปลูก การผลิต และการจำหน่าย โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมของห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ จากข้อเท็จจริงที่ว่าการขออนุญาตกัญชาอาจจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก มีหน่วยงานหลายองค์กร ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานอยู่บ้าง

และประเด็นเรื่องเงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยจะต้องมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ต้องวางระบบเรื่องราคาให้เกิดกลไกตลาดอย่างแท้จริง

เสรีแต่มีสารพัดกฎหมายควบคุม

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปได้รวบรวมกฎหมาย และ พ.ร.บ.ที่จะออกตามมาหลังจากที่ กัญชา ถูกปลดล็อกพ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร, การโฆษณา

ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกกฎหมายป้องกันการโฆษณากัญชาทางสันทนาการ เช่น การจัด Ganja Night ในสถานบริการ ส่วนกรมการขนส่งทางบกเตรียมออกประกาศข้อกำหนดห้ามผู้ขับรถสาธารณะใช้กัญชา เช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“ในส่วนของผู้ผลิตสินค้าอาหารเครื่องดื่ม-ยา-เครื่องสำอางจากกัญชา/กัญชงก็จะต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 พ.ร.บ.ยา 2510 และ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง 2558 แม้จะมีการกำหนดว่า สารสกัดที่มี THC น้อยกว่า 0.2% จะไม่เป็นยาเสพติด แต่การนำสารสกัดกัญชง/กัญชามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ก็จะมีประกาศตามกฎหมายออกมากำกับดูแลด้านค่าความปลอดภัยว่าจะต้องใส่ไม่เกินเท่าไร จึงจะปลอดภัยต่อผู้บริโภคในวัยต่าง ๆ ซึ่งกรณีที่เป็นสารสกัดจะค่อนข้างง่ายเพราะรู้ปริมาณ แต่หากเป็นส่วนประกอบ เช่น ใบ ช่อดอก จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ว่า สารสกัดใดไม่เกิดอันตรายตามประกาศของแต่ละผลิตภัณฑ์” นายวิศิษฐ์กล่าว

ผู้ผลิตต้องขึ้นทะเบียนตำรับ

โดยผู้ประกอบการต้องขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อรับเลขสารบบอาหาร และต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน เงื่อนไขชนิดอาหาร ปริมาณ THC และ CBD การแสดงคำเตือนจะต้องเป็นไปตามประกาศที่ กองควบคุมวัตถุเสพติดกัญชา อย. กำหนดว่าการนำส่วนของกัญชา/กัญชงมาใช้ในอาหารที่ผลิตเพื่อจำหนาย

ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกัญชา กัญชง และสาร CBD ที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร ต้องเป็น “เฉพาะส่วนของพืช” ที่กำหนดในประกาศของ สธ. ได้แก่ เมล็ดกัญชง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชง, โปรตีนจากเมล็ดกัญชง, ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้เปลือก, ลำต้น, เส้นใย, กิ่งก้าน, รากและใบ ที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย

ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์และส่วนของพืช เช่น เปลือกแห้ง แกนลำต้น และเส้นใยแห้ง ก็จะต้องขออนุญาตกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการขายต้องขอรับอนุญาตตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช ส่วนการผลิตสารสกัดจากกัญชา THC ต้องขออนุญาตจากกองควบคุมวัตถุเสพติดอันตราย

แต่กฎหมายได้เว้นการกระทำที่ไม่ต้องขออนุญาต ประกอบด้วย การจำหน่ายส่วนของพืช ไม่ต้องขออนุญาต ตามกฎหมายยาเสพติด, การขายสารสกัด THC ถ้าไม่เกิน 0.2% ไม่ต้องมีใบอนุญาต แต่หากเกิน 0.2% ต้องมีใบอนุญาต จำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด

ยังหวังตลาดส่งออก

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ในส่วนของการส่งออกกัญชา/กัญชงนั้น “ยังมีความแตกต่างในด้านกฎระเบียบของตลาดนำเข้าแต่ละประเทศ” โดยปัจจุบันมีเพียง 2 ประเทศ คือ อุรุกวัย กับแคนาดา เท่านั้น ที่อนุญาตเปิดเสรีกัญชาเต็มรูปแบบ และมีประเทศที่อนุญาตให้นำเข้ากัญชาทางการแพทย์ 33 ประเทศ เช่น แคนาดา, เดนมาร์ก, ตุรกี, นอร์เวย์, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, ศรีลังกา, แอฟริกาใต้

ส่วนสหรัฐอนุญาตให้ใช้กัญชารักษาโรค 33 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ มีประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลายและสันทนาการ 6 ประเทศ คือ แคนาดา, จอร์เจีย, ศรีลังกา, สเปน, อุรุกวัย, แอฟริกาใต้ และ 9 รัฐในสหรัฐ แต่ยังมีการ “จำกัด” ปริมาณการซื้อขายต่อคนต่อปี และกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการซื้อขายด้วย

“ตลาดสำคัญของกัญชา/กัญชงน่าจะเป็นตลาดสหภาพยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย โดยสหภาพยุโรปเป็นตลาดที่มีการบริโภคมาก่อนแล้ว มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีหน่วยงานความปลอดภัยอาหารสหภาพยุโรปดูแลเรื่องการอนุญาตนำเข้า ส่วนเอเชีย จะมีทั้งจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่ปรากฏในรายงานของ The ASIAN Canabis Report ระบุว่า มีการบริโภคสำคัญ

ส่วนออสเตรเลียมีการเปิดกว้างผลิตภัณฑ์จาก Hemp ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ยา วัสดุก่อสร้าง และอาหารสัตว์ แต่ออสเตรเลียยังมีปริมาณ Hemp ไม่เพียงพอ จึงได้กำหนดให้สามารถนำเข้า Hemp บางชิ้นส่วน เช่น เมล็ดกัญชง ผงหรือแป้ง เป็นต้น โดยไม่ต้องขออนุญาตและต้องขออนุญาตนำเข้าบางชิ้นส่วน

เช่น เมล็ดกัญชงที่ยังไม่แกะเปลือก มีการคาดการณ์ข้อมูล The Global Cannabis Report ว่า ตลาดกัญชาทั่วโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.039 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567 โดยเป็นกัญชาทางการแพทย์ 60% และกัญชาเพื่อสันทนาการ 40%”

กัญชาเป็นพืชกักกัน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดพืชจากแหล่งที่กำหนดเป็นสิ่งต้องห้าม ข้อยกเว้น และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 7 มิ.ย. 2565 เพื่อสนับสนุนการ “ปลดล็อกและอำนวยความสะดวก” ในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง และกระท่อม ขับเคลื่อนเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

โดยกรมวิชาการเกษตรจะออกประกาศเพื่อรองรับการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพืชทั้ง 3 ชนิด ซึ่งจะต้องไม่เป็นพืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMO)และจะตั้งศูนย์ one stop service ที่กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสายด่วน (hotline) 1174 เพื่ออำนวยความสะดวก เป็นช่องทางสื่อสารองค์ความรู้

ด้านนายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวภายหลังที่ปลดล็อกพืชทั้ง 3 ชนิดไม่ใช่ยาเสพติด มีผลให้ทั้ง 3 ชนิดนี้มาอยู่ในการ “ควบคุม” ของกรมวิชาการเกษตร เหมือนพืชทั่วไป แต่ยังต้องมีเงื่อนไขบางประการในการควบคุมการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ศัตรูพืช และโรคพืช

ดังนั้น กรมจึงได้ออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องเงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง พ.ศ. 2565 กับ 2) ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องเงื่อนไขการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กระท่อม พ.ศ. 2565 กำหนดให้ประชาชนสามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพืชทั้ง 3 ชนิดได้จากทุกประเทศ โดยประเทศต้นทางต้องแนบใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phyto Certificate : PC) และใบรับรองว่า ไม่ใช่พืชที่มีการตัดต่อพันธุกรรม (GMO) กำกับมาด้วย

และเนื่องจากเมล็ดพันธุ์กัญชง/กัญชาและกระท่อม เป็นพืชที่มีราคาสูง ดังนั้นกรมจะไม่มีการเก็บเมล็ดตัวอย่างมาสุ่มตรวจอัตราการงอก 400 เมล็ด จากแนวปฏิบัติเดิมของพืชชนิดอื่น ซึ่งจะเป็นต้นทุนของทุกภาคส่วน แต่จะติดตามและตรวจสอบที่แปลงปลูกหรือแหล่งเพาะพันธุ์จำหน่ายว่า เมล็ดมีการงอกตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช

หากพบว่าไม่เป็นไปตามกล่าวอ้าง หรือพบโรคพืช-แมลงศัตรูพืช กรมจะสั่งให้มีการทำลายได้ทันที ทั้งนี้ แปลงที่จะมีการเพาะจำหน่ายจะต้อง “ขึ้นทะเบียน” กับกรมวิชาการเกษตร หรือ อย.

อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นผู้นำเข้าหรือผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในประเทศ ขอให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้จำหน่ายหรือผู้รวบรวมที่กรมวิชาการเกษตร ผ่านเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหากเอกสารขออนุญาตครบตามที่กรมแจ้งไว้ในระบบ อาทิ ใบอนุญาตนำเข้าจากกรมวิชาการเกษตร และใบรับรองสุขอนามัยพืช แสดงถึงการปลอดโรคพืช แมลงศัตรูพืช ปลอด GMO จากประเทศต้นทาง เป็นต้น กรมจะสามารถอนุญาตได้ภายใน 1 วันทำการ

ส่วนผู้จะจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไทย สามารถ “ขออนุญาต” เป็นผู้รวบรวมและจำหน่ายได้ที่กรมวิชาการเกษตร ผ่านเว็บไซต์กรมได้เช่นกัน โดยจะต้องเป็นการจำหน่ายพันธุ์ที่มีการรับรองถูกต้องของกรม และร้านจำหน่ายที่มีใบอนุญาตถูกต้องจากกรม โดยแต่ละร้านจะต้องมีใบอนุญาตติดแสดงไว้ที่ร้านค้าให้เห็น หรือกรณีซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ ก็ขอให้เลือกซื้อจากร้านที่มีการสำแดงใบอนุญาตที่ถูกต้อง เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวท่านเอง

อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา/กัญชงออกมาแล้ว 10 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์ไทยทั้งหมดและจะแจก “ต้นกล้า” กัญชากัญชง 1 ล้านต้น เริ่มแจก 1,000 ต้น ในวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ โดยต้นกล้าดังกล่าวได้รับการอนุญาตจาก อย.แล้ว

ยาสูบไม่ทำบุหรี่กัญชา

อย่างไรก็ตามการนำ “กัญชามาสูบ” นั้น ยังถือเป็นจุดสุญญากาศอยู่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาสูบระบุคำจำกัดความของ “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ชัดเจนว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ “ใบยาสูบ” หรือ พืช “นิโคเทียนา ทาแบกกุม (Nicotiana tabacum)” และให้หมายความรวมถึง ผลิตภัณฑ์อื่นใดที่มี “สารนิโคติน” เป็นส่วนประกอบ ซึ่งบริโภคโดยวิธีสูบ ดูด ดม อม เคี้ยว กิน เป่า หรือพ่นเข้าไปในปากหรือจมูก ทา หรือโดยวิธีอื่นใด ส่งผลให้กัญชายังไม่ถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ยาสูบ

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการสาธารณสุขมีมติเห็นชอบ ร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุม เหตุรำคาญ จากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. … แล้ว

หลังจากนี้ผู้สูบกัญชาอาจถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นหรือควันจากการสูบด้วย ซึ่งหากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้พิจารณาออกคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ หากผู้ก่อเหตุไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนประเด็นที่ว่า จะมีการผลิต “บุหรี่ผสมกัญชา” ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อรับกับการเปิดเสรีสูบกัญชาหรือไม่นั้น นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า แม้จะมีการ “ปลดล็อกกัญชา” แต่ทาง ยสท.ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องการวิจัยกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์มากกว่า

เนื่องจาก ยสท.มีโรงพยาบาลในสังกัดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบให้มีการปลูกกัญชง/กัญชา เป็นพืชทดแทน เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการรับซื้อใบยาลดลง เนื่องจาก ยสท.มียอดขายบุหรี่ลดลงค่อนข้างมากจากผลกระทบด้านโครงสร้างภาษีและมาตรการทางด้านสาธารณสุข “การนำกัญชามาทำยาสูบคงทำได้ยาก เพราะมีมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ควบคุมอยู่ด้วย” ประธานกรรมการ ยสท.กล่าว

มหกรรม 360 องศาปลดล็อก

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการผลักดันกัญชา/กัญชงให้เป็น “พืชเศรษฐกิจ” เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยลงนามบันทึกข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา/กัญชงในประเทศให้ได้สายพันธุ์ที่ดี เป็นต้นพันธุ์คุณภาพพร้อมกระจายต้นกล้ากัญชา 1 ล้านต้น ให้ประชาชนปลูกในครัวเรือนและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกตามมาตรฐาน GAP

ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์จัดงาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อกกัญชาแล้วประชาชนได้อะไร” ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย.นี้ ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จ.บุรีรัมย์ มีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ เริ่มเวลา 10.00 น. นําชมวีดิทัศน์ “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้อะไร”

จากนั้น นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน ขณะที่นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิตรจะกล่าวรายงานวัตถุประสงค์และแนวทางการจัดงาน ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน และมอบนโยบาย พร้อมแสดงปาฐกถา

ตามด้วยเวลา 11.00 น. จะเป็นพิธีการจดแจ้งการปลูกกัญชา “ปลูกกัญ” ต่อด้วยคณะรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข, ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมทําพิธีส่งมอบต้นกล้ากัญชา 1,000 ต้น ให้กับประชาชน

นําโดยนายอนุทิน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากนั้นประธานในพิธีและคณะเยี่ยมชมงานลานมหกรรม ได้แก่ คลินิกกัญชาทางการแพทย์, การจดแจ้ง ส่วนจัดแสดงแอปพลิเคชั่นปลูกกัญ บูทของภาครัฐและวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการและอาหาร

นพ.เกียรติภูมิ ปลัด สธ. กล่าวว่า การปลดล็อกกัญชาวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้อาจจะทำให้เกิดการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม สธ.จึงเดินหน้าสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการปลดล็อกที่เน้นประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ

ตั้งกรรมการบูรณาการกัญชา/กัญชง

ล่าสุด ในวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. หารือถึงการปฏิบัติตัวของประชาชนและการบังคับใช้กฎหมายกรณีที่กัญชา/กัญชงถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 โดยเฉพาะการปลูก-เสพ-สูบ-บริโภคกัญชา/กัญชงสามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย

แต่ก็ไม่ใช่จะทำได้อย่างเสรี 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังคงมีอยู่ การใช้ช่อดอกซึ่งมีสารเสพติดต้องระมัดระวังให้เป็นไปตามกฎหมาย ห้ามการจำหน่ายแก่เด็กซึ่งจำเป็นต้องควบคุม เรื่องการผลิตจำหน่ายต้องมีการเสียภาษี

แต่จะมีกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อกำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติ จากปัจจุบันได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พศ. …ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกพอสมควร ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้ง “คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง”

ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ตำรวจ, นักวิชาการ และภาคประชาชน ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลช่วงรอยต่อนี้