หั่นกำไรโรงกลั่น สุพัฒนพงษ์ เปิดสูตรใหม่ อาจจะได้น้อยแต่แก้ปัญหายาว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน

เปิดมติ กพช. สุพัฒนพงษ์ รมว.พลังงาน เร่งเคาะตัวเลขหั่นกำไรโรงกลั่นน้ำมัน เปิดสูตรใหม่ “อาจจะได้น้อยแต่ยาว” เน้นแนวทางเจรจา-ไม่ทุบโต๊ะ โรงกลั่นต้องคิดถึง Stakeholder เผยอาจเชิญ “กรณ์” ร่วมถก

เร่งเคาะตัวเลขค่าการกลั่นวันนี้

วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจากับ 6 โรงกลั่นเพื่อนำเงินค่าการกลั่นนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ว่า

ภายในสัปดาห์นี้เรื่องค่าการกลั่น มีการหารือกันว่า ตัวเลขใดมีเกณฑ์การคำนวณอย่างไร ซึ่งตัวเลขของกระทรวงพลังงานค่าการกลั่นเฉลี่ย 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร ขณะที่ตัวเลขของนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง ยืนตัวเลข 8.50 บาทต่อลิตร

“ตรงนี้จึงเกิดความเข้าใจของประชาชนที่แตกต่างกัน ผมว่า ดีที่สุด ได้บอกให้ผู้ประกอบการโรงกลั่น สมาคมโรงกลั่นเห็นข้อมูลของท่านอดีต รมว.คลังแล้วก็ไปวิเคราะห์ดูว่าตัวเลขเป็นมาอย่างไร มีวิธีวิเคราะห์ที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไร ก็นำมาชี้แจงและแสดงความเห็นกับท่านอดีต รมว.คลังก็ได้

เราก็มีฐานการคำนวณของเรา เอามาเปรียบเทียบกันได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันให้กับประชาชนเสียก่อน ไม่เช่นนั้นความคาดหวังก็จะสูงหรือแตกต่างกัน ทุกฝ่ายอยากเห็นและพร้อมที่จะพูดคุยกัน ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพราะมันมีที่มาที่ไปทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว วันนี้ได้กำชับไปแล้วว่า ควรจะมีคำตอบภายในวันนี้ให้ชัดเจน หรือไม่ก็เชิญมาพบเลยก็ได้ อธิบายกันไป จะได้จบ จะได้มี 1 ตัวเลข” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ไม่ทุบโต๊ะ-เน้นเจรจาเบาไปหาหนัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าตัวเลขที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เราไม่มีรายละเอียดต้นทุนของแต่ละโรงกลั่น ซึ่งโรงกลั่นสนับสนุน แต่เนื่องจากเป็นบริษัทมหาชน จะไปให้อะไรเกินกำลังคงไม่เหมาะสม ต้องเป็นเรื่องภายในของแต่ละโรงกลั่น จึงต้องหาเกณฑ์กลางที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย วิธีการก็ต้องเบาไปหาหนัก จะไปบังคับทันทีไม่ได้ แม้กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกาเอง

“ขณะนี้ยังสามารถคุยกันได้อยู่ เรื่องที่ว่าจะไปทุบโต๊ะคงไม่ได้ ถ้าเกิดเขาไม่ร่วมมือ ถ้าเราทุบโต๊ะไป อย่างนั้นเราประกาศไปเลยดีกว่า เป็นข้อกฎหมาย เข้าสภาเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไปเลย ซึ่งเราไม่ควรทำ และก็ช้าอีก และเราไม่รู้อีกว่า สถานการณ์ที่ค่าการกลั่นสูงอาจจะหดตัวลงก็ได้ อาจจะเป็นภาวะชั่วคราวก็ได้”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ได้สอบถามปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยากาศในการพูดคุยกันกับผู้ประกอบการโรงกลั่น เป็นบรรยากาศที่ร่วมไม้ร่วมมือกัน เข้าใจถึงภาระของรัฐบาลที่ดูแลราคาพลังงานอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันน้ำมันบางประเภทเป็นภาระของภาคประชาชน ซึ่งทั้ง 6 โรงกลั่นพร้อมพิจารณา แต่ต้องมีความชัดเจนก่อนว่า ตัวเลขค่าการกลั่นเฉลี่ยเท่าไหร่กันแน่ และทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี ทุกคนมีความตั้งใจช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่จะเท่าไหร่ต้องให้เวลา

“ผมก็ใจร้อน ประชาชนทุกคนใจร้อนหมด ก็พยายามให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ ประชุมวันเว้นวัน จบก็คือจบ ระหว่างนี้ก็คิดเรื่องช่องทางอื่น (กฎหมาย) กันต่อไป แต่ต้องดูข้อสรุปตัวเลขค่าการกลั่นเฉลี่ยก่อน มันเกินความสมควรไหม 8.50 บาทต่อลิตรเป็นตัวเลขที่ออกมาเกินสมควร เช่นนั้นก็ต้องเป็นกฎหมายที่ต้องออกมา แต่ตัวเลขเรามัน 3.27 บาทต่อลิตร

ส่วนสมาคมโรงกลั่นก็มีอีกตัวเลข ของเราเป็นตัวเลขประมาณการ แต่พวกสมาคมโรงกลั่นเป็นตัวเลขหน้างานจริง ๆ เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ หากโรงกลั่นเห็นข้อมูลนายกรณ์แล้ว อาจเชิญนายกรณ์มาแลกเปลี่ยนข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ไม่เช่นนั้นจะสร้างความคาดหวังให้ประชาชน และความเข้าใจไม่ตรงกัน

หรือเขาจะหาคนกลางมาชี้ยังไงให้เกิดความเข้าใจ ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดความเข้าใจคนละทิศคนละทาง ความคาดหวังก็จะต่างกัน เราจึงต้องเริ่มจากความเข้าใจ หรือตัวเลขที่ถูกต้องเสียก่อน แล้วเราค่อยมาดูกันว่า สิ่งที่ทุกคนจะร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือช่วยลดภาระรัฐบาล สมเหตุสมผล สมน้ำสมเนื้อมากน้อยแค่ไหน”

เปิดสูตร หั่นกำไรโรงกลั่นใหม่

เมื่อถามว่า ตัวเลขค่าการกลั่นเฉลี่ยที่โรงกลั่นคำนวณออกมาคือเท่าไหร่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สมาคมโรงกลั่นก็มีวิธีการอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้เอาส่วนต่างราคามาลบอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง ค่าสูญเสียในการผลิตต่าง ๆ มารวม เป็นวิธีเปรียบเทียบระหว่างโรงกลั่น ซึ่งก็มีความแตกต่างกันอีก ส่วนวิธีการคำนวณของกระทรวงพลังงานกับนายกรณ์จะคล้ายกัน แต่สมมุติฐานไม่เหมือนกัน

“ผมเชื่อว่า เขาสามารถวิเคราะห์ตามวิธีแนวทางของกระทรวงพลังงานและอดีต รมว.คลัง ไม่ยาก ของเราเป็นวิธีการคำนวณที่ง่ายกว่า ของสมาคมโรงกลั่นจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่า เชื่อว่าเขาจะสามารถอธิบายได้ในวันนี้”

เมื่อถามว่าประเมินการนำเงินจากโรงกลั่นเดือนละ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ยังคงเป้าหมายเดิมหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ยังไม่ประเมินอะไรทั้งสิ้น ตอนแรกที่ประเมินรวมกับโรงแยกแก๊สด้วยคร่าว ๆ แต่เมื่อไปพูดคุยกันแล้วสมาคมโรงกลั่นจะมีข้อมูลเชิงลึกของแต่ละโรงกลั่น

“อาจจะต่ำกว่า หรือสูงกว่า หรือจะยาวกว่า อาจจะได้น้อยแต่ยาว แล้วแต่วิธีการจะเจรจากัน”

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เคยอยู่ในแวดวงธุรกิจพลังงานมาก่อนคิดว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งในการเจรากับโรงกลั่นในครั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “ส่วนตัวคิดว่า ผู้ประกอบการโรงกลั่นควรจะ…เค้ารู้ดี เค้าควรเป็นผู้ประกอบการที่ดีในยามนี้ คำว่าดี ผมหมายถึงคิดถึง Stakeholder”

ไม่เอาประเทศไปเสี่ยง

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า อยากจะให้ดูในภาพรวม เราต้องรักษาสมดุล เรื่องค่าการกลั่นเป็นการลดภาระของรัฐบาลกับประชาชน ได้น้อยได้มาก รัฐบาลพยายามประคับประคอง เพราะต้องใช้งบประมาณ ส่วนคนตัวเล็ก หาบเร่ แผงลอยผู้ถือบัตร ก็ต้องใช้งบประมาณ แต่เสถียรภาพเรายังมีอยู่ ยังมีใช้ ไม่ได้ขาดแคลน ประชาชนอาจจะใช้แพงขึ้น แต่ไม่ได้แพงมากกับประเทศเพื่อนบ้าน

“ต้องประคับประคองจะไปทุ่มเทใช้งบประมาณทั้งหมดเพื่อที่จะให้ถูกที่สุด และเราไปแลกเปลี่ยนกับเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินทางการคลังของประเทศมันก็จะเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไป ต้องเดินไปคู่กัน เอาความถูกความสบายแบบเดินในช่วงวิกฤตแลกกับงบประมาณจำนวนมากแล้ว

เราเอาอนาคตของประเทศไปเสี่ยง เอาคนรุ่นหลังและเอาการพัฒนาของประเทศไปเสี่ยงอาจจะไม่คุ้มค่ากัน วันนี้ยอมรับว่า เราต้องทำทั้งสองด้านให้สมดุลกัน เป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลทำอยู่ ผมเชื่อว่า จิตใจของผู้ประกอบการไทย แม้กระทั่งต่างชาติเองก็ตาม ถ้ามีความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งก็คือลูกค้าก็ต้องทำ หาโอกาสหาช่องทางช่วยเหลือให้ได้”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จะไม่ให้เกิด (การขาดแคลนพลังงานเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน-สปป.ลาว) สิ่งสำคัญที่สุด คือ เสถียรภาพของความมั่นคงทางพลังงานที่ต้องมีให้เพียงพอสำหรับประชาชนและการขยายตัวต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป เป็นอันดับ 1 ที่ต้องทำให้ได้

ทั้งนี้ จะมีการประชุม G 7 ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2565 จะมีการหารือในเรื่องวิกฤตพลังงาน ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก G7 และไม่ได้เป็นประเทศคู่กรณีความขัดแย้งยูเครนกับรัสเซีย ได้ร้องและส่งข้อความให้ผู้ที่เกี่ยวข้องถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เช่น ราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย ราคาโลหะ ซึ่งเป็นความเดือดร้อนทั้งโลก ซึ่งมีผลลัพธ์จะมีผลต่อการประเมินของไทย ว่า สถานการณ์จะยืดเยื้อแค่ไหนอย่างไร

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ต้องหาจุดสมดุลของทั้งสองฝ่าย ซึ่งอยู่ระหว่าง สบนช. และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหารือกับโรงกลั่น จะพยายามหาข้อยุติภายในเดือนนี้และดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจากการหารือกันทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักเป็นตัวตั้งเพื่อตกลงกันให้ได้ ถ้าไม่ได้ถึงจะไปในเรื่องวิธีทางกฎหมายตามที่มีผู้แนะนำ ดูอำนาจตามกฎหมายของ พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง เราได้เตรียมการไว้แล้ว แต่ขอคุยกันก่อน ยังเดินตามแนวทางการเจรจา

ไฟเขียวเลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 3 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8-11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่มีราคาสูงมาผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ทั้งนี้ เกิดจากผลพวงของท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคา LNG ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงสามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

ซึ่งไม่กระทบต่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายในปี 2573 และมีความสอดคล้องกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ในช่วงปี 2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 6.08 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมอัตรา FiT Premium) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2569

โดยมอบหมายให้ กกพ.ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT รวมถึงกำกับดูแลการคัดเลือกให้เป็นไปตามขั้นตอน หากจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ (ยกเว้นอัตรารับซื้อ) มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป


ขณะเดียวกัน กพช. ยังรับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ช่วงปี 2563-ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับภาระค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน ที่เรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน