จับตาราคาดีเซลทะลุ 35 บาท รีดค่าการกลั่นสะดุดกฎหมาย

ดีเซล

ถก 6 โรงกลั่นน้ำมันเรียกเก็บ “กำไร” ส่วนเกินค่ากลั่นยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนกับความชัดเจนของกฎหมาย สามารถดำเนินการได้หรือไม่ แม้จะเป็นการขอความร่วมมือก็ตาม ด้านสถานะกองทุนน้ำมันวิกฤตหนัก หาเงินอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล 35 บาท/ลิตรไม่ไหว จับตาปรับกรอบขึ้นราคาดีเซล หรือ ลดการอุดหนุนราคาน้ำมันลง วอนรัฐบาลเร่งหาเงินช่วยสนับสนุนกองทุนด่วนที่สุด

ใกล้ครบกำหนดเส้นตายที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องมีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ามาเพื่อนำอุดหนุนราคาพลังงาน แต่จนถึงปัจจุบันปรากฏกองทุนน้ำมันฯยังไม่สามารถดำเนินการกู้เงินจากสถาบันการเงินวงเงินขั้นต้น 20,000 ล้านบาท หรือการนำ “ส่วนต่าง” กำไรที่สูงเกินกว่าปกติจาก “ค่าการกลั่น (GRM)” ของโรงกลั่นน้ำมันที่ตั้งเป้าไว้เดือนละประมาณ 8,000 ล้านบาท

เพื่อนำมาเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนได้ ประกอบกับกองทุนเองยังมีภาระที่จะต้อง “ตรึงราคา” น้ำมันดีเซลภายใต้กรอบไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท อย่างน้อยจนถึงเดือนกันยายน 2565 ตามนโยบายของรัฐบาล

โดยภาระนี้จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 ล้านบาท แต่ความสามารถของกองทุนปัจจุบันมีฐานะสุทธิติดลบไปแล้ว -102,586 ล้านบาท (ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2565) แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ -65,202 ล้านบาท กับบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ -37,384 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนมี “รายรับ” จากเงินฝากธนาคาร 2,310 ล้านบาท เงินฝากกรมบัญชีกลาง 1,000 ล้านบาท รายรับจากน้ำมันเบนซิน ULG (เก็บเข้ากองทุนลิตรละ 7.18 บาท) และรายรับจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่จะเรียกเก็บเข้ามาใหม่อีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งเทียบไม่ได้กับ “รายจ่าย” ในการตรึงราคาดีเซลเบื้องต้นเดือนละ 20,000 ล้านบาท

ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่จะขาดสภาพคล่องจนถึงขั้นไม่สามารถอุดหนุนราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาลได้ จนมีการจับตาดูว่าสุดท้ายแล้ว กองทุนน้ำมันฯจะแก้ไขปัญหาสภาพคล่องอย่างไร หากยังไม่ยอมปรับกรอบการตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้เข้าใกล้กับราคาที่แท้จริงเพื่อลดการอุดหนุนลง

แง้มทบทวนเงินอุดหนุน

แหล่งข่าวจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหาเงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า แนวทางต่าง ๆ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ในส่วนของการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้พูดคุยกันถึงข้อห่วงใยต่าง ๆ จนข้อตกลงทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว

คาดว่าแนวทางนี้จะมีความชัดเจนประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2565 โดยกองทุนยังยืนยันที่จะขอกู้เงินวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามความจำเป็นและเหมาะสม เนื่องจากกองทุนยังมีเงินที่จะชำระจากผู้ค้ามาตรา 7 (เดือนละ 2,400 ล้านบาท) หมุนเวียนใช้โดยที่กองทุนยังไม่ได้ผิดนัดหรือค้างชำระหนี้แต่อย่างใด

แม้ฐานะกองทุนสุทธิจะติดลบไปแล้ว -102,586 ล้านบาท แต่ถือว่ากองทุนได้ลดการอุดหนุนราคาดีเซลเหลือครึ่งหนึ่ง (ตามนโยบายรัฐบาล) ไม่เกินลิตรละ 35 บาท จากราคาจริงลิตรละ 45-46 บาท (ราคาดีเซลหน้าโรงกลั่นปัจจุบันอยู่ที่ลิตรละ 40.5399 บาท)

เท่ากับกองทุนน้ำมันฯอุดหนุนราคาดีเซลประมาณลิตรละ 11 บาท จากก่อนหน้านี้อุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 12-13 บาท หรือคิดเป็นเงินวันละ 700 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 20,000 ล้านบาท

ส่วนการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) หลังปรับขึ้นราคา กก.ละ 1 บาททุกเดือน ทำให้การอุดหนุนก๊าซลดลงเหลือวันละ 47 ล้านบาท หรือเดือนละ 1,400 ล้านบาท

“ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะยืดเยื้อ ซึ่งจะกระทบต่อราคาพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคงถึงเวลาแล้วที่เราอาจต้องมาทบทวนแนวทางในการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศให้มีความเหมาะสมมากขึ้นในระยะต่อไป เช่น อาจปรับลดการอุดหนุนมาเป็น 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของราคาเชื้อเพลิงได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่รัฐบาลอุดหนุนราคาอยู่ครึ่งหนึ่ง” แหล่งข่าวกล่าว

แม้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะทยอยผ่อนคลายการอุดหนุนลง แต่ยอมรับว่าจากนี้ไปสถานะกองทุนจะติดลบต่อเนื่องตราบใดที่รัฐบาลยังมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานอยู่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องหา “เงิน” ส่วนหนึ่งมาช่วยสนับสนุนกองทุนด้วย ส่วนการนำ “กำไร” ส่วนเกินปกติจากค่าการกลั่นน้ำมันมาเสริมสภาพคล่องกองทุนนั้น ทางกระทรวงพลังงานยังอยู่ในระหว่างการเจรจาอยู่

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า หากภายในสิ้นเดือนนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่ได้รับเงินกู้เบื้องต้นจำนวน 20,000 ล้านบาท หรือยังไม่ได้รับกำไรส่วนเกินปกติของค่าการกลั่นน้ำมันจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศ เข้ามาเสริมสภาพคล่องของกองทุน

มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการปรับกรอบการตรึงราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปอีก จากปัจจุบัน (35 บาท/ลิตร) หรือปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลง จากปัจจุบันที่อุดหนุนราคาอยู่ครึ่งหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูป ณ ตลาดสิงคโปร์ ยังยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมา 2 สัปดาห์ โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ 171.92 เหรียญ/บาร์เรล

กลุ่มโรงกลั่นขอกฎหมายต้องชัดเจน

มีรายงานข่าวจากคณะทำงานเพื่อเจรจาค่าการกลั่นระหว่างกระทรวงพลังงาน กับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาว่า การเจรจาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีความคืบหน้าใด ๆ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นซึ่งประกอบไปด้วยโรงกลั่นน้ำมัน 6 โรง (TOP-PTTCG-IRPC-BCP-SPRC-ESSO) ยังคง “ปฏิเสธ”

การคิดกำไรส่วนเกินปกติจากค่าการกลั่นน้ำมันของกระทรวงพลังงานอยู่ โดยเห็นว่า ตัวเลข “กำไร” ที่จะต้องนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯประมาณเดือนละ 8,000 ล้านบาท หรือ 3 เดือน 24,000 ล้านบาทนั้น “รับไม่ได้ และสูงเกินไป”

นอกจากนี้ การหารือยังคงวนเวียนอยู่กับ “ข้อสงสัย” ที่กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันหยิบยกขึ้นมาว่า แท้ที่จริงแล้ว สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเรียกเก็บเงินจากกำไรค่าการกลั่นที่สูงผิดปกติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้หรือไม่ โดยการเรียกเก็บเงินจากกำไรค่าการกลั่นจะต้อง

1) พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้อำนาจไว้หรือไม่ 2) ระเบียบของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแล้วหรือไม่ และ 3) การนำส่ง-รับเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องมีการดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย

“เรามักได้ยินเสมอ ๆ ว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีอำนาจที่จะเรียกเก็บเงินกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนได้ ด้วยการอ้างถึง อาทิ มาตรา 14 (4) การกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุน….อาจกำหนดตามประเภท การใช้ แหล่งที่มาของน้ำมันเชื้อเพลิงกับมาตรา 27 (1)

กรณีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตภายในราชอาณาจักรให้ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นโรงกลั่น ส่งเงินเข้ากองทุนให้แก่กรมสรรพสามิต ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตและจำหน่าย ในประเด็นนี้ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมายที่จะนำส่ง กำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่น เข้ากองทุนน้ำมัน เรื่องนี้ไม่ว่าจะเรียกว่า การขอความร่วมมือ หรือการบริจาค หรือ อะไรก็ตาม

จะต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อที่บริษัทน้ำมัน ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่มีโรงกลั่นน้ำมันเป็นธุรกิจหนึ่ง จะได้ชี้แจงกับผู้ถือหุ้นได้ว่า ทำไมถึงต้องนำส่งกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันให้กับรัฐบาล เนื่องจากมีการกังวลกันว่า การนำส่งกำไรส่วนเกินจากค่าการกลั่นจะถูกผู้ถือหุ้นฟ้องผู้บริหารหรือไม่”

หารือเดือนกว่ายังไร้ข้อสรุป

ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปตัวเลขการกลั่นเฉลี่ยและขอความร่วมมือนำเงินส่วนต่างกำไรค่าการกลั่นเฉลี่ยเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีการหารือกันอีกครั้ง (29 มิ.ย)

“เราต้องรอ (โรงกลั่นน้ำมัน) เพราะเราขอความร่วมมือว่า โรงกลั่นมีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือหรือสนับสนุนภาคประชาชนเท่าไหร่ แม้จะเป็นการขอความร่วมมือก็จะต้องออกมาเป็นประกาศอยู่แล้ว และผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว